เหตุผลที่เด็กทารก ไม่ควรใส่ face shield หรือหน้ากาก
advertisement
ในช่วงที่เกิดปัญหาโรคระบาด เรามักจะได้เห็นหลายโรงพยาบาล มักจะใส่ face shield หรือหน้ากาก ให้กับเด็กทารกที่เพิ่งคลอด ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการป้องกัน แต่ล่าสุดทางเพจ หมอแพมชวนอ่าน ได้ออกมาเผยถึงเรื่องนี้ระบุว่า
#เหตุผลที่เด็กทารกไม่ควรใส่_face_shield_หรือหน้ากาก
advertisement
มีประกาศจากชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 เมษายน 63 เรื่อง #ไม่สนับสนุน ให้ใส่ face shield หรือ หน้ากาก ให้แก่ทารกแรกเกิด หมอเห็นด้วย และแนะนำเพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะทารกแรกเกิด แต่เด็กทารก หมายถึง เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ก็ไม่ควรใส่ด้วยเช่นกัน (ถ้าจะให้ดี เด็ก 1-2 ปี ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องใส่นะคะ)
บอกก่อนว่า ข้อห้ามนี้ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ แต่สามารถอธิบายได้ด้วย #หลักสรีรวิทยาของการหายใจ ค่ะ อากาศที่เราหายใจเข้า มีออกซิเจน 21% คาร์บอนไดออกไซด์ 0.04% แต่ลมหายใจออกของเรา มีออกซิเจน 16% คาร์บอนไดออกไซด์ 4% #ลมหายใจออกมีคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าอากาศทั่วไป 100 เท่า
หมอสมมติว่า ลมหายใจที่ทารกต้องการ ต่อการหายใจ 1 ครั้ง คือ 10 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมถ้าทารก หนัก 3 กิโลกรัม แปลว่าต้องการอากาศ 30 ซีซี ต่อการหายใจ 1 ครั้ง ทารกหายใจประมาณ 40 ครั้ง/นาที แปลว่าใน 1 นาที ต้องการอากาศ 30 x 40 = 1200 ซีซี หรือประมาณ 1.2 ลิตร ถ้าเด็กจะหายใจได้สะดวก จะต้องมีอากาศไหลเวียน ประมาณ 3 เท่าของ 1.2 L = 3.6 L ต่อ 1 นาที (ตัวเลขกลมๆคือ 4 L)
ถ้าเด็กหายใจในที่โล่งปกติ ไม่มีปัญหา เนื่องจาก อากาศภายนอก มีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าลมหายใจออกมากๆ เมื่อเด็กหายใจออก คาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะแพร่ไปกับอากาศข้างนอกอย่างรวดเร็ว (ตามหลักการแพร่ง่ายๆที่เราเคยเรียน)
แต่ ถ้าเราใส่ face shield หรือ face mask ทำให้อากาศไหลเวียนที่อยู่ภายใต้ face shield และ face mask #มีปริมาตรจำกัด (แม้จะเป็น face shield อย่าลืมว่า เด็กคอสั้นมาก พอใส่เข้าไปก็คล้ายใส่หมวกันน็อคเลยค่ะ ทำให้ปริมาตรอากาศที่ไหลเวียนในนั้นมีจำกัดมาก)
advertisement
ถ้ามีอากาศไหลผ่านบริเวณจมูกของเด็ก น้อยกว่า 4 L/นาที นั่นหมายความว่า อากาศที่เด็กหายใจออก จะวนเวียนอยู่บริเวณจมูก ซึ่งเป็นอากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง ทำให้เด็กหายใจเอาอากาศที่คาร์บอนไอออกไซด์สูง แต่ออกซิเจนต่ำ
ใน 1 นาที เด็กหายใจหลายครั้ง แปลว่า คาร์บอนไดออกไซด์ จะคั่งค้างสะสมบริเวณ face shield หรือ mask เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ %ความเข้มข้นของออกซิเจนลดลง ท้ายที่สุด เด็กจะมีภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งเด็กเล็กบอกเราไม่ได้ กว่าเราจะสังเกตอาการได้ด้วยสายตา ค่าออกซิเจนในเลือดต้องต่ำมาก ซึ่งอันตรายต่อเด็กแล้วค่ะ
หมอเข้าใจว่า ที่พวกเราทำอุปกรณ์ป้องกันเพื่อเด็ก #เป็นเพราะความหวังดี ไม่อยากให้เด็กทารกได้รับเชื้อ แต่อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นำมาใช้อย่างเป็นทางการ #โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้ในเด็กเล็ก ต้องผ่านกระบวนการคิด การทดลองอย่างถี่ถ้วน เป็นเพราะเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่บอบบางมากเลยค่ะ
face shield ที่ประดิษฐ์เอง บางอันอาจพอใช้ได้ แต่บางอันใช้ไม่ได้เลย ไม่มีมาตรฐานอะไรมาตรวจสอบ ได้ในตอนนี้ เพราะฉะนั้น แม้จะมีโอกาสเพียงน้อยที่เด็กจะได้รับอันตราย #ก็เป็นสิ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นการออกมาตรการห้าม ก็เพื่อความปลอดภัยของเด็กนะคะ
เอาเป็นว่า ในอนาคต อาจจะมีอุปกรณ์ป้องกันสำหรับเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่ในระหว่างนี้ #ผู้เลี้ยงดู คือ หัวใจหลัก ที่จะตัดสินว่าเด็กจะได้รับเชื้อหรือไม่ ถ้าเราเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กเล็ก เราต้องระวังตัวเอง และปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัดเลยนะคะ หมอแพม แพทย์หญิงปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี กุมารแพทย์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ
สำหรับเรื่องนี้ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราว ที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ทุกท่านหากมีลูกน้อยช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงที่จะออกนอกบ้านจะดีกว่า และล้างมือให้สะอาด และเลือกที่จะใส่หน้ากากให้กับผู้เลี้ยงดูจะปลอดภัยกว่า
ขอขอบคุณที่มาจาก : หมอแพมชวนอ่าน