ท้องอืด..ปัญหากวนใจแก้ได้ง่ายๆ!!
advertisement
อาการท้องอืดท้องเฟ้อ มักเกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารและในลำไส้ ซึ่งรวมทั้งในลำไส้เล็กและในลำไส้ใหญ่ สามารถเกิดได้ในทุกคนตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งเพศหญิงและชาย โดยพบได้บ่อยขึ้นในวัยทำงาน และวัยสูงอายุ เมื่อมีอาการท้องอืดก็มักจะแน่นอึดอัด เรอ และผายลม มากกว่าปกติ รวมทั้งมีอาการปวดท้องด้วย สำหรับใครที่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้ออยู่บ่อยๆ ตาม Kaijeaw.com มาเลยค่ะ มีวิธีการแก้ปัญหาลดอาการท้องอืดท้องเฟ้ออย่างได้ผลมาฝากกันค่ะ
advertisement
แก๊สทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
แก๊สในท้องเกิดได้จาก 2 กลไกหลัก คือ
1) การกลืนอากาศ โดยปกติแล้วคนเรามักกลืนอากาศร่วมไปกับการดื่ม การกิน เคี้ยวอาหาร และการพูด ซึ่งการกินและดื่มเร็ว การใช้หลอดดูดเครื่องดื่ม การเคี้ยวหมากฝรั่ง การสูบบุหรี่ จะเพิ่มการกลืนอากาศในปริมาณที่สูงขึ้น ซึ่งอากาศจากการกลืน จะก่อให้เกิดอาการท้องอืด รู้สึกแน่นในกระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาการเรอ อย่างไรก็ตามแก๊สจากการกลืนบางส่วนอาจถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด และเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ได้
2) การสร้างของกระเพาะอาหาร และลำไส้ ในกระเพาะอาหารขณะย่อยอาหาร จะก่อให้เกิดแก๊สได้ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่ก่อปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร เช่น น้ำอัดลมต่างๆ ร่างกายจะกำจัดออกโดยการเรอ และบางส่วนผ่านเข้าสู่กระแสโลหิต และลำไส้ ส่วนแก๊สในลำไส้ใหญ่ซึ่งร่างกายขับออกโดยการผายลม ซึ่งหากมีกากอาหารมากก็ยิ่งมีปริมาณแก๊สเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณแก๊ส และกลิ่นของแก๊สในลำไส้ใหญ่ นอกจากขึ้นกับปริมาณอาหารแล้ว ยังขึ้นกับประเภทอาหาร และแต่ละบุคคลซึ่งจะมีแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ แตกต่างกันทั้งในปริมาณและในชนิดด้วย
[ads]
advertisement
อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เป็นโรคหรืออาการที่พบได้บ่อย มีความผิดปกติของท้องหรือลำไส้ มักมีอาการบริเวณตรงกลางของท้องด้านบน อยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ ตัวอย่างอาการของโรคท้องอืด ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง มีการบีบรัดของลำไส้ ท้องหลามตึงๆ อืดๆ มีลม หรือก๊าซในกระเพาะอาหาร เรอเหม็นเปรี้ยว และอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ และบางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็วร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการร่วมกันก็ได้
วิธีการบำบัดอาการท้องอืด
1. งดอาหารที่มีรสจัด จะยิ่งทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักและอักเสบง่าย
2. หลีกเลี่ยงอาหาร มีไขมันสูงย่อยยาก เช่น นม เนย และประเภทโปรตีนสูง เช่น นมวัว ชีส นมเปรี้ยว โยเกิร์ต อาหารทอด ผัดมันๆ และกะทิ เพราะอาหารกลุ่มนี้จะใช้เวลาผ่านกระเพาะอาหารไปช้ามาก บางครั้งนานถึง 6-8 ชั่วโมง จึงอาจจะทำให้ท้องอืดได้ง่าย
3. ใช้เวลาในการกินอาหารหรือเคี้ยวให้ละเอียด ด้วยการกินช้าๆ พร้อมทั้งเคี้ยวและคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากันดี ก่อนกลืนอาหาร
4. ไม่ควรกินอาหารจนอิ่มมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง และแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ แต่กินบ่อยๆ แทน
5. หลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ ไม่ควรนอนราบในทันที เพราะ การนอนราบ ส่งผลให้ระดับของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะอยู่ในระนาบเดียวกัน และอาจทำให้กรดไหลจากกระเพาะอาหารย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหารได้ เกิดการระคายเคือง และหลอดอาหารอักเสบได้
6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม โซดา เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (กาแฟ ชา)
7. ระวังการกินหรือกลืนลมลงท้อง เช่น การพูดมากๆ การกลืนน้ำลายบ่อยๆ การเคี้ยวหมากฝรั่ง การดูดลูกอมหรือ อมยิ้ม การดูดนม ของเหลว หรือน้ำผ่านหลอด การดื่มน้ำจากขวดปากแคบ ด้วยการดื่มน้ำจากแก้วแทนการใช้หลอดดูด
8. หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์
9. กินอาหารหรือผลไม้ที่เป็นน้ำรสอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น น้ำข้าว หรือน้ำผลไม้ต่างๆ โดยดื่มรองท้องประมาณ 5-10 นาทีเพื่อเคลือบกระเพาะ เมื่ออาการดีขึ้นจึงค่อยกินอาหารตามปกติ
10. พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนพักให้อาการดีขึ้น พร้อมกับดื่มน้ำอุ่นหรือใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบหน้าท้องให้คลายปวด
11. คลายเครียด หากมีอาการเครียดหรือมีเรื่องกังวล ควรหาทางออกด้วยการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น และพยายามออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
12. กินยาลดกรด ในกรณีที่มีอาการปวดบริเวณลิ้นปี่ร่วมด้วย ให้กินยาลดกรด 1-2 ช้อนโต๊ะซ้ำได้ทุกหนึ่งชั่วโมง ประมาณ 2-3 ครั้ง หลังอาหารทุกมื้อ และก่อนนอนนาน 2 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์
[ads]
advertisement
บำบัดอาการท้องอืดด้วยสมุนไพร
สมุนไพรไทยหลายชนิด มีสรรพคุณที่ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลมในระบบการย่อยอาหารได้ เช่น
1) กระชาย : ใช้เหง้าหรือราก (นมกระชาย) สดหรือแห้งนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ 1 หยิบมือ ต้มเอาน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น หรือเวลามีอาการ
2) กะทือ : ใช้เหง้าสด ขนาดเท่า 2 หัวแม่มือ นำมาปิ้งไฟ ฝนกับน้ำปูนใสครึ่งแก้วดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
3) กระเทียม : ใช้กลีบจากหัวนำมาปอกเปลือก รับประทานดิบๆ ครั้งละ 5 กลีบ เวลามีอาการ
4) กระวาน : ใช้ลูกนำมาบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนครึ่งถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
5) กะเพรา : ใช้ใบสดหรือแห้ง 1 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
6) กานพลู : ใช้ดอก 3-5 ดอก ต้มหรือทุบแช่เดือด ให้เด็กดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟเล็กๆ
7) ข่า : ใช้เหง้าแก่สดหรือแห้ง ขนาดเท่าหัวแม่มือทุบให้แตกต้มน้ำดื่มครั้งละ 1-2 ถ้วย ดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
8) ขิง : นำเหง้าแก่ของขิงขนาดเท่าหัวแม่มือประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตกต้มกับน้ำสะอาดใช้ดื่ม ครั้งละ 1-2 ถ้วย ดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
9) ดีปลี : ใช้ผล 10 ผล หรือเถา 1 กำมือ ต้มดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น
10) ตะไคร้ นำส่วนเหง้าและลำต้นแก่ของตะไคร้หั่นเป็นฝอย ต้มกับน้ำสะอาด ใช้ดื่มเป็นยาได้ทันที
11) มะนาว : นำเปลือกผลสดของมะนาวประมาณครึ่งผลมาคลึงหรือทุบเล็กน้อย พอให้น้ำมันออก ชงกับน้ำร้อนใช้ดื่มเป็นประจำ โดยเฉพาะเวลามีอาการ
แก้ปัญหาอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร สร้างอุปนิสัยการกินอาหารที่ดี เลือกชนิดของอาหารที่ไม่ก่อปัญหาเรื่องท้องอืด และหลีกเลี่ยงการกินลม นอกจากนี้แล้ว หากมีอาการท้องอืดสามารถเลือกใช้สมุนไพรไทยใกล้ตัว ช่วยลดอาการท้องอืดได้อีกด้วย
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com