เผยโรคมือเท้าปาก เกิดจากไวรัสในกลุ่มเอนเตอโร ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง

advertisement
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเตอโร ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง
ในประเทศไทยเชื้อไวรัสที่มักพบว่าเป็นสาเหตุ ของโรค คือ ไวรัสคอกซากี เอ16 และไวรัสเอนเตอโร 71 ซึ่งอาจจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วยหรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะมีไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใส ตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว มักจะหายได้เองภายใน 7- 10 วัน หากในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงทางระบบประสาทและระบบหายใจ เช่น ปอดบวมน้ำ สมองอักเสบ หัวใจวาย อาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้ามีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที จากข้อมูลการเฝ้าระวัง ทางห้องปฏิบัติการ ในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 จากตัวอย่างส่งตรวจ จำนวน 3,634 ราย (5,339 ตัวอย่าง) พบว่า ไวรัสเอนเตอโร 71 เป็นสาเหตุหลักของโรคมือ เท้า ปาก แต่ในปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา พบว่า เป็นไวรัสคอกซากี เอ 16 สำหรับปีนี้ [ads]
advertisement

ตั้งแต่ 1 มกราคม จนถึง 22 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ได้รับตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 110 ราย (150 ตัวอย่าง) พบว่า เป็นไวรัส เอนเตอโร 71และไวรัสคอกซากี เอ 16 จำนวนใกล้เคียงกัน และนอกจากไวรัสสำคัญ 2 ชนิดดังกล่าวแล้ว ยังพบไวรัสคอกซากี เอ 10 และไวรัสคอกซากี เอ 6 บ้างเล็กน้อย
advertisement

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมรองรับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส เอนเตอโรไว้พร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านวัสดุวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้และกำลังคน โดยเทคนิควิธีการตรวจซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการ 3 วิธี คือ การตรวจวินิจฉัยทางน้ำเหลือง เป็นการตรวจหาการเพิ่มขึ้นของระดับภูมิคุ้มกันชนิด IgG ของไวรัสเอนเตอโร 71 ไวรัสคอกซากี เอ 10 และ เอ 16 ในซีรัมคู่ โดยวิธี micro-neutralization test ซึ่งต้องมีระดับของภูมิคุ้มกันในซีรัมเจาะครั้งที่สองสูงกว่าในซีรัมเจาะครั้งที่ 1 อย่างน้อย 4 เท่า จึงจะแปลว่าให้ผลบวก ระยะเวลาการตรวจในห้องปฏิบัติการ 11 วันทําการ และการตรวจวินิจฉัยจากชนิดตัวอย่าง ส่งตรวจของผู้ป่วย อุจจาระ สวอบคอ น้ำไขสันหลัง สวอบแผล และสวอบโพรงจมูก มี 2 วิธีคือ การตรวจวินิจฉัยโดยการแยกเชื้อ ในเซลล์เพาะเลี้ยง เป็นวิธีการมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก โดยแยกเชื้อจากสิ่งส่งตรวจ แล้วนําเชื้อที่แยกได้มาพิสูจน์โดยวิธี Reverse transcription-polymerase chain reaction (RT-PCR) ระยะเวลาการตรวจในห้องปฏิบัติการ 22 วันทําการ และการตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรม ( Molecular) ด้วยวิธี Reverse transcription-pol ymerase chain reaction (RT-PCR) โดยใช้ specific primer ของไวรัสเอนเตอโร 71 ไวรัสคอกซากี เอ16 หรือไวรัสในกลุ่มเอนเตอโร ระยะเวลาการตรวจในห้องปฏิบัติการ 2 วันทําการ [ads]
นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ของไวรัสกลุ่มเอนเตอโร โดยเทคนิค DNA sequencing ในกรณีที่มีการร้องขอหรือเพื่อหาสายพันธุ์และแหล่งที่มาของเชื้อ และเพื่อเป็นข้อมูลด้านระบาดวิทยาระดับโมเลกุลของไวรัสก่อโรคมือ เท้า ปาก ในประเทศไทย
ขอขอบคุณที่มาจาก : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์