โรคหืด ต่างกันอย่างไรกับ วัณโรค
advertisement
เมื่อกล่าวถึง “โรคหืด” และ “วัณโรคปอด” ต่างเป็นโรคทางระบบการหายใจที่พบได้บ่อยในปัจจุบันนอกเหนือจากโรคปอดอักเสบติดเชื้อ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
advertisement
โรคหืด และ วัณโรคปอด มีความแตกต่างกันทั้งในแง่สาเหตุของการเกิดโรค อาการ และอาการแสดง รวมถึงการรักษา ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นไปศึกษาพร้อม ๆ กันเลยครับ
โรคหืด (Asthma)
เป็นโรคไม่ติดต่อ เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม และหลอดลมมีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ทำให้เกิดการอุดกั้นของหลอดลมเนื่องจากมีเซลล์อักเสบเข้ามาสะสม กล้ามเนื้อและเยื่อบุหลอดลมหนาตัวขึ้น รวมถึงมีสารคัดหลั่งในหลอดลมเพิ่มขึ้น
กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้หลอดลมมีการตีบแคบและผู้ป่วยเกิดอาการของโรคหืดขึ้น โดยโรคหืดสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่มักพบในวัยเด็กหรือวัยรุ่นมากกว่าในวัยผู้ใหญ่
advertisement
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
1. ปัจจัยภายใน ได้แก่ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ภาวะอ้วน หรือเพศ
2. ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ การติดเชื้อโดยเฉพาะไวรัส การสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศทั้งภายในและภายนอกบ้าน รวมถึงสารเคมีหรือชีวภาพในที่ทำงาน เป็นต้น
สัญญาณอันตราย…
– หายใจลำบาก
– ไอ
– แน่นหน้าอก
– หายใจมีเสียงดังหวีด
ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นพัก ๆ โดยเฉพาะหลังได้รับสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อในระบบการหายใจ หรือในบางช่วงของปีเช่นหน้าฝน อากาศเย็น อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคหืดนอกจากอาศัยอาการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการซักประวัติเพิ่มเติม ตรวจร่างกาย และตรวจสมรรถภาพปอดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน รวมถึงเพื่อแยกโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจมีอาการหรืออาการแสดงคล้ายโรคหืดได้
advertisement
ป้องกันและรักษาได้โดย….
เป้าหมายของการรักษาคือ การควบคุมอาการ ป้องกันการกำเริบ ผู้ป่วยสามารถออกแรงทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และให้สมรรถภาพปอดใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยยาที่ใช้รักษามีทั้งยาชนิดสูดพ่น และยารับประทานซึ่งสามารถแบ่งยาออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ
1. กลุ่มยาควบคุม ใช้เพื่อควบคุมการอักเสบของหลอดลม ยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือยาสเตอรอยด์ชนิดสูดพ่น เนื่องจากมีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ดีและออกฤทธิ์ที่หลอดลมโดยตรง นอกจากนั้นยังมียากลุ่มอื่นอีกหลายชนิดซึ่งการใช้ยากลุ่มนี้จะต้องใช้ยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ ภายใต้การดูแลของแพทย์
2. กลุ่มยาบรรเทาอาการ ใช้เพื่อบรรเทาอาการของโรคหืดเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการ เช่น เหนื่อยหรือหายใจดังหวีด ส่วนใหญ่เป็นยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น แนะนำให้ใช้เป็นยาสูดพ่นเนื่องจากออกฤทธิ์โดยตรงที่หลอดลม และออกฤทธิ์เร็ว ผลข้างเคียงทางระบบ เช่น มือสั่น ใจสั่น น้อยกว่ายารับประทาน
นอกจาก การรักษาด้วยการใช้ยาแล้ว การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รวมถึงการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นให้อาการโรคหืดเป็นมากขึ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการกำเริบของโรค นอกจากนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องมาพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการและปรับยาให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน
advertisement
โรควัณโรค (Tuberculosis)
เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาหรือมีการระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวี วัณโรคนั้นสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้บ่อยขึ้นในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ หรือผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทานบางชนิด เป็นต้น
วัณโรคเกิดจากการติดเชื้อกลุ่มมัยโคแบคทีเรียที่ชื่อ Mycobacterium tuberculosis ผ่านทางการหายใจ ไอจาม หรือสูดเอาละอองที่มีเชื้อดังกล่าวเข้าไป …เมื่อเชื้อวัณโรคเข้าสู่ถุงลมในปอดแล้ว ส่วนใหญ่ร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไปได้ แต่จะมีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมดจึงเกิดการติดเชื้อขึ้น ซึ่งอาจเป็นการติดเชื้อที่มีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้
advertisement
สัญญาณอันตราย
– ไอมีเสมหะ ไอมีเลือดปน
– มีไข้ต่ำ ๆ (ประมาณ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป)
– ผอมลงน้ำหนักลด เบื่ออาหาร
– อาการดังกล่าวข้างต้นมักเป็นเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์
ส่วน “วัณโรคนอกปอด” อาการแสดงจะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เป็น การวินิจฉัยวัณโรคจำเป็นต้องมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพรังสีทรวงอก การเก็บเสมหะเพื่อตรวจย้อมหาเชื้อวัณโรค รวมถึงการส่งเสมหะเพื่อเพาะเชื้อ
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้อง…
1. รับประทานยา ซึ่งประกอบด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน และใช้เวลาในการรักษาอย่างน้อย 6 เดือน โดยจะต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ ห้ามขาดยา ร่วมกับมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการและผลข้างเคียงจากยา ซึ่งอาจะพบได้ เช่น ตับอักเสบ หรือผื่นแพ้ยา เป็นต้น
2. เก็บเสมหะส่งตรวจซ้ำเป็นระยะ รวมถึงจะต้องได้รับการถ่ายภาพรังสีทรวงอกซ้ำอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดรักษา
3. ผู้ป่วยจะต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือเอาผ้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอ จาม กำจัดเสมหะทิ้งอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
4.หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก โดยผู้ป่วยจะมีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นมากที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา ดังนั้นจึงควรให้ผู้ป่วยหยุดงานในช่วง 2 สัปดาห์แรก
advertisement
ป้องกันโรคนี้ได้โดย…
ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค หรืออยู่ในสถานที่แออัด ในกรณีที่มีคนใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรค ควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน และมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและถ่ายภาพรังสีทรวงอก โดยเฉพาะกรณีที่มีผู้สูงอายุหรือเด็กเล็กอยู่ในบ้าน
สรุปได้ว่า โรคหืด และ วัณโรค พบได้บ่อยและมีความสำคัญต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อไรจะเป็น แต่ก็สามารถให้การรักษาและป้องกันได้ โดยการปฏิบัติตัวและใช้ยาตามแพทย์สั่ง รักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : อ.นพ.นัฐพล ฤทธิ์ทยมัย สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospitalคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล