7 ตำนานลี้ลับ มหัศจรรย์ อาถรรพ์ ศักดิ์สิทธิ์แห่งภูลังกา
advertisement
อุทยานแห่งชาติภูลังกา ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม และอำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ มีเนื้อที่ประมาณ 31,250 ไร่ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร โดยมีตำนานและความมหัศจรรย์เกิดขึ้นมากมาย วันนี้เราขอยก 7 ตำนานลี้ลับ มหัศจรรย์แห่ง “ภูลังกา”
advertisement
1. “ถ้ำนาคา” ตำนานพญานาคที่ถูกสาปเป็นหิน
2. “เมืองหลวงของชาวบังบด” ตำนานดินแดนแห่งเมืองบังบด (เมืองลับแล)
3. “เมืองพญานาค” ตำนานดินแดนแห่งเมืองพญานาคราช (เมืองบาดาล)
4. “พระเจ้า ๕ พระองค์” ตำนานดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
5. “ธรรมสถานแห่งพระอริยะ” ตำนานดินแดนสนามรบกิเลส (พระธุดงค์กรรมฐาน)
6. “ภูลังกา” ตำนานดินแดนอาถรรพ์ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์
7. “ดินแดนสมุนไพร” ตำนานรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์
ประวัติหรือตำนานที่เขียนมานี้อาจจะคาดเคลื่อนไปบ้าง หรือว่าไม่ตรงกับที่ท่านศึกษามา ต้องขอสมาอภัยไว้ด้วยนะคะ มีอันหนึ่งอันใดที่จะเสริม ติชม ตำหนิได้เลยคะ รับฟังทุกคำพูดทุกเหตุผล
1. “ถ้ำนาคา” ตำนานพญานาคที่ถูกสาปเป็นหิน
advertisement
จากตำนานชาวบ้านเรื่องปู่อือลือที่ข้องเกี่ยวกับภูลังกาและบึงโขงหลงนั้น เชื่อว่าเกิดจากการล่มเมืองของพญานาค ซึ่งเกิดจากความรักที่ไม่สมหวังระหว่างพญานาคกับมนุษย์ ทำให้เมืองที่เจริญรุ่งเรืองล่มสลาย บริเวณแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมืองชื่อ รัตพานคร มีพระอือลือราชา เป็นผู้ครองนครมีมเหสีชื่อนางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อพระนางเขียวคำ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสามพันตา มีพระโอรสชื่อเจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้และมีรูปงามด้วยขณะประสูติมีท้องฟ้าสว่างไสว
ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาคราชแห่งเมืองบาดาลที่แปลงกายเป็นมนุษย์ การอภิเษกสมรสจัดกันอย่างมโหฬารทั้งเมืองบาดาลและเมืองมนุษย์(รัตพานคร) ทำอยู่ 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างพญานาคราช กับพระเจ้าอือลือราชาในโอกาสนี้ด้วย
ทั้งสองอยู่กินกันมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ไม่สามารถจะมีผู้สืบสายสกุลได้ (เพราะธาตุมนุษย์กับนาค) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสอง ต่อมาเจ้าหญิงนาครินทรานี ล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางที่เป็นมนุษย์กลายเป็นนาคตามเดิม โดยข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไปทั่วกรุงรัตพานคร
และถึงแม้นางจะร่ายมนตร์กลับเป็นมนุษย์ ประชาชนและพระเจ้าอือลือก็ไม่พอใจ จึงได้ขับไล่นางนาครินทรานีกลับสู่เมืองบาดาลดังเดิม โดยได้แจ้งให้พญานาคราชมารับตัวกลับ ก่อนกลับพญานาคราช ได้ขอเครื่องกกุธภัณฑ์ของตระกูลคืน แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น ทำให้พญานาคราชกริ้วมาก และประกาศว่าจะทำลายเมืองรัตพานคร และจะเหลือเอาไว้เพียง 3 วัดเท่านั้น หลังจากพญานาคกลับไป ในตอนกลางคืน พญานาคราชได้ยกไพร่พลมาถล่มเมืองรัตพานคร และประชาชนก็ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์นาคได้
พอนางนาครินทรานีทราบข่าว ก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง จนถึงแม่น้ำสงครามก็ไม่พบ จึงกลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครได้ถล่มเป็น "บึงหลงของ" ต่อมานานเข้าคำพูดก็กลายเป็นโขงหลง และวัดที่เหลือ 3 วัด ก็คือ วัดดอนแก้ว (วัดแก้วฟ้า) วัดดอนโพธิ์ (วัดโพธิสัตว์) และ วัดดอนสวรรค์ (วัดแดนสวรรค์) ทางที่นางนาครินทรานีตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง คือ ห้วยน้ำเมา (เมารัก)
ส่วนพระอือลือราชาไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปกับเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถูกพระยานาคราชจับตัวไว้ พร้อมกับสาปให้พระอือลือราชากลายร่างเป็นนาคเฝ้าอยู่ในภูลังกาหรือบึงโขงหลงชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพระยานาคราชได้
2. “เมืองหลวงของชาวบังบด” ตำนานดินแดนแห่งเมืองบังบด (เมืองลับแล)
advertisement
จากเรื่องเล่าของหลวงปู่วัง (เพพเจ้าแห่งภูลังกา) ท่านได้เล่าให้ฟังว่ามีชาวบังบดมานิมนต์ คืนหนึ่งเมื่อท่านนั่งสมาธิ พอจิตสงบแล้ว ได้เห็นสิ่งหนึ่งคล้ายกับอู่ (เปล) ของเด็กลอยมาหน้าถ้ำแล้วก็มุ่งมาที่ถ้ำ อู่นั้นก็ลอยต่ำลงมาที่ท้ายถ้ำ มีคนมาในนั้น ๕ คน มีทั้งคนหนุ่มคนเฒ่าทั้งชายและหญิง เมื่อเขามาแล้วกราบท่าน แล้วแจ้งความประสงค์ให้ท่านทราบว่า จะมานิมนต์ท่านให้ไปอยู่เมืองบังบดกับเขา เมืองนั้นอยู่บริเวณป่าตาดน้ำตกแถวนั้น เมื่อท่านได้กวาดสายตาไปดูเข้าได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ใบหน้าและทรงผมเหมือนกับผู้หญิงที่ได้พบตอนกลางวันวันก่อน ท่านจึงทักว่าโยมเคยมาหาอาตมาแล้วมิใช่หรือ ผู้หญิงคนนั้นจึงประณมมือตอบท่านว่าใช่แล้ว ที่ไม่เขามาหาท่านวันนั้นเพราะเห็นท่านอยู่รูปเดียว เห็นว่าเป็นเวลาไม่เหมาะสม จึงไม่กล้ามากราบท่าน แล้วหลวงปู่วังก็บอกเขาว่าไปอยู่กับพวกท่านไม่ได้ เขาตอบว่า ถ้าไม่ไปอยู่กับเขาแล้ว ที่เณรทั้ง ๓ ไปเก็บเส้นเทาที่ตาดน้ำตกนั้นเขาเห็นอยู่ ต่อไปนี้จะไม่มีเส้นเทาอีกแล้ว (เทา เป็นตะไคร่น้ำหรือสาหร่ายเกิดตามหินที่มีน้ำไหลตลอด เป็นเส้นสีเขียวคล้ายเส้นผม ยาวคืบหนึ่งหรือยาวกว่า ชาวอีสานเรียกว่าเทา เอามาทำเป็นอาหารได้ เรียกว่า ลาบเทา ) เมื่อท่านได้รับคำนิมนต์ของเขาแล้วเขาก็กราบลากลับ ขึ้นอู่เหาะไป เหมือนเมื่อตอนเขามา ต่อมาก็แปลกมาก คือ เทาที่เกิดอยู่ที่นั้นไม่มีอีกเลย
ต่อมาก็มีเหตุการณ์ของเจ้าหนุ่มบวร หลานชายของหลวงปู่วัง อยากจะบวชเป็นพระแต่อายุยังไม่ครบ หลวงปู่วังให้นุ่งขาวห่มขาวถือศีล 8 เป็นพ่อขาวฝึกปฏิบัติธรรมไปก่อน วันหนึ่งบวรไปแสวงหาต้นตาวในป่าภูลังกา จะเอาต้นตาวมาต้มแกงถวายพระเณรในตอนเช้า บวรได้หายตัวไปไม่กลับมาเลย พระเณรและพ่อขาวได้ออกตามหา จนกระทั่งมืดค่ำก็ไม่พบร่องรอยใดๆ
หลวงปู่วังได้นั่งสมาธิดูก็ได้พบว่า บวรไปอยู่กับสาวงามชาวลับแล อยู่กินเป็นผัวเมียกันเสียแล้ว เป็นไปตามเหตุปัจจัย บุพพวาสนาเก่าหรือบุพเพสันนิวาสบันดาลให้มาเจอกันเพราะเป็นเนื้อคู่กัน หลวงปู่วังเล่าว่าบ้านเมืองของชาวลับแลนั้นคล้ายเงาสะท้อนของบ้านเรือนมนุษย์ตามยุคสมัยในถิ่นนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะมีความเกี่ยวข้องผูกพันกันอย่างลึกลับตามกฏแห่งวิบากกรรม บ้านเรือนของชาวลับแลที่เห็นในสมาธินั้นเป็นบ้านใต้ถุนสูง หลังคามุงหญ้า และแฝกฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่หรือใบตองตึงและขัดแตะ พื้นบ้านปูไม้กระดานหยาบๆ หรือปูด้วยไม้ไผ่สับ ส่วนบ้านชาวลับแลผู้มีฐานะดีหรือคุณธรรมสูงเป็นตึกโบกปูน หลังคามุงกระเบื้อง บางหลังมุงด้วยไม้ ส่วนฝาบ้านเป็นไม้ประดิษฐ์เป็นตาตารางสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยมงามเรียบ ๆ ที่เห็นนี้เป็นสมัยเมื่อ 50 – 60 ปีก่อนโน้น (สมัยโลกาภิวัฒน์อย่างปัจจุบัน บ้านเมืองชาวลับแลก็คงจะเจริญพัฒนาเช่นเดียวกันกับโลกมนุษย์เราละกระมัง)
ชาวลับแลในสมัยนั้น พวกผู้ชายส่วนมากจะนุ่งผ้าขาวม้าขัดเตี่ยวผืนเดียว เดินเท้าเปล่าไม่มีรองเท้า ไม่ใส่เสื้อ ส่วนผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นมีผ้าคาดหน้าอกใช้แทนเสื้อเป็นส่วนมาก แต่สำหรับชาวลับแลที่มีฐานะดีหรือคุณธรรมสูง จะนุ่งห่มรัดกุมเรียบร้อยเหมือนอุบาสกอุบาสิกาในวันพระวันศีลอุโบสถ
บ้านเมืองชาวลับแลบังบด (ปักษ์ใต้เรียกคนธรรพ์) ไม่มีคนยากจน ไม่มีคนขอทาน ไม่มีหญิงโสเภณี ทุกคนมีอยู่มีกินสมฐานะ มีการทำไร่ไถนา มีสัตว์เลี้ยง วัว ควาย เป็ด ไก่ สุนัข หมู และวิหคนกกา เป็นสัตว์โอปปาติกะอบายภูมิตามกฎกรรมวิบากอันสลับซับซ้อนพิสดาร
ชาวลับแลมีคุณธรรมประจำหมู่เหล่า ถือศีล 5 อย่างเคร่งครัด ภูตผีปีศาจทั้งหลายรักษาศีลไม่ได้ ทำให้ชาวลับแลเป็นผีพิเศษที่มีอำนาจเป็นที่ยำเกรงของภูตผีปีศาจทั้งหลาย ชาวลับแลที่เป็นนักพรตหรือฤๅษีจะนุ่งขาวห่มขาวเกล้าผมมวย เรียกตัวเองว่า คุรุฤๅษี หรือ ดาบส
หัวหน้าชาวลับแลได้บอกกับหลวงปู่วังว่า เจ้าหนุ่มบวรมาอยู่เมืองลับแลถูกต้องตามจารีตประเพณีของเมืองลับแล จะกลับออกไปไม่ได้จะต้องดำเนินชีวิตเหมือนชาวลับแลทุกอย่าง หากทำผิดกฏจารีตประเพณีก็จะถูกขับไล่กลับเมืองมนุษย์ ฉะนั้นในระหว่างนี้จะให้บวรกลับถ้ำชัยมงคลไม่ได้
หลวงปู่วังเข้าใจกฏจารีตประเพณีนี้ก็อับจนปัญญา ไม่รู้จะช่วยบวรได้อย่างไร จะอธิบายให้ญาติพี่น้องฟังเขาคงจะไม่เชื่อ เพราะเรื่องเมืองลับแลพิสูจน์ไม่ได้เลย ที่เล่าๆ กันมาก็เป็นเชิงนิยายปรัมปราเอาสาระไม่ได้ ญาติพี่น้องคงจะเชื่อว่าบวรตกเหวตาย หรือถูกเสือถูกงูเหลือมกินไปแล้วมากกว่า
หัวหน้าชาวลับแลได้บอกว่า พระอาจารย์อย่าได้คิดวิตกเป็นทุกข์ไปเลย ถ้าใครสงสัยเรื่องบวรไปอยู่เมืองลับแล ก็ให้คนนั้นมาที่ภูลังกานุ่งขาวถือศีล 8 มานั่งสมาธิภาวนาอธิษฐานจิตขอเห็นเมืองลับแล อยากจะพบบวรก็จะได้พบสมความปรารถนาหายสงสัย โดยกระผมจะให้คนนำทางมารับเข้าเมืองลับแล ถ้าไม่กล้าเข้าไปในเมืองลับแล ก็ให้เลือกเอาวิธีออกไปยืนกลางแจ้งในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ได้ ร้องตะโกนดังๆ ว่า บวรอยู่ที่ไหน? ก็จะมีเสียงของบวรตะโกนตอบออกมาจากเมืองลับแล จะซักถามอะไรก็ได้ แต่จะพบตัวบวรไม่ได้
หลวงปู่วังได้เล่าเรื่องนี้ให้พระเณรฟัง ดังนั้นในวันต่อมาพระอาจารย์โง่น โสรโย กับพระเณรและพ่อขาวได้พากันไปพิสูจน์ ออกไปยืนอยู่กลางแจ้งบนภูลังกาในเวลากลางวันร้องตะโกนเรียกหาบวร ก็ปรากฏอัศจรรย์ว่า มีเสียงของบวรตะโกนตอบมาจากดงไม้ในหุบเขา เมื่อซักถามต่างๆ บวรก็ตอบได้ถูกต้องชัดเจนว่าเป็นบวรจริงๆ ไม่ใช่คนอื่นแอบอ้างเป็นตัวบวรแต่อย่างใด
บวรได้บอกว่าเขาอยู่สบายดี มีความสุขกับเมียสาวชาวลับแล ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลับแลเหมือนบ้านเมืองมนุษย์ทุกอย่าง ชาวลับแลไม่ใช่ภูตผี หากเป็นมนุษย์เผ่าหนึ่งที่หายตัวได้กำบังตาได้ ทำให้มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ ยกเว้นแต่ในกรณีที่ชาวลับแลอยากให้เราเห็นถึงจะเห็นได้
บวรยังได้บอก อีกว่าเขาพอใจจะอยู่ที่เมืองลับแล ไม่อยากกลับออกมาอยู่เมืองมนุษย์เลยขออย่าได้เป็นห่วงเป็นใย ใครได้มาอยู่เมืองลับแลแล้วก็จะติดใจ เพราะมีความสุขกายสบายใจเป็นแดนทิพยสุขมหัศจรรย์อธิบายไม่ถูก ต้องมาเห็นเองถึงจะรู้ได้ด้วยตนเอง
3. “เมืองพญานาค” ตำนานดินแดนแห่งเมืองพญานาคราช (เมืองบาดาล)
advertisement
จากเรื่องเล่าของหลวงปู่วัง ว่าเมื่อคืนมีพญานาคมาหาในนิมิตสมาธิ บอกว่ามาขอส่วนบุญ พอตกกลางวันวันนั้น มีงูตัวหนึ่งสีแดงทั้งตัว ขนาดไม่ใหญ่นัก ยาวประมาณสองศอก เลื้อยเข้ามาในถ้ำชัยมงคล แล้วหายเข้าไปในถ้ำ เมื่อถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนจะทำการถวายภัตตาหาร หลวงปู่วังได้กล่าวว่าบุญกุศลที่พวกเณรและผ้าขาว ถวายภัตตาหารแด่พระเณรให้อุทิศไปให้พญานาค แล้วท่านก็พาทำบุญอุทิศ ครั้นวันถัดมา ท่านได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนพญานาคมาหาอีกครั้งบอกว่าเขาได้รับบุญกุศลแล้ว มาขอลาไปสู่สุคติภพที่ดีกว่า
หลวงปู่วังได้เล่าว่า พญานาค เป็นพวกกายทิพย์อยู่เมืองบาดาลหรือนาคพิภพ เป็นสัตว์ประเสริฐศักดิ์สิทธิ์ เขตภูลังกาก็ดี บึงโขงโหลงก็ดี แม่น้ำศรีสงครามและแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำโขงก็ดี อยู่ในเขตปกครองของพญานาค เป็นมรรควิถีทางขึ้นลงนาคพิภพทั้งนั้น พญานาคคอแดงเป็นมิตรกับพระสงฆ์องค์เณร เป็นผู้รักษาพระพุทธศาสนาและรักษาพุทธศาสนิกชนผู้อยู่ในศีลในธรรม ใครไม่อยู่ในศีลในธรรม ประพฤติตนเป็นคนเลวคนพาลพาโลขี้โมโหโกรธา พวกพญานาครังเกียจจะไม่พิทักษ์รักษา ตกน้ำก็ไหลตาย ตกไฟก็ไหม้ตายวอดวายไป”
พญานาคและชาวเมืองลับแล มาช่วยสร้างเจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ หรือ พระธาตุภูลังกา เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศเนปาล ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 12 เมตร สูง 19 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่บนลานหินที่มีลักษณะคล้ายภูกองข้าว ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของภูลังกา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 563 เมตร ลักษณะทั่วไปเป็นลานหินกว้างสลับด้วยพรรณไม้นานาชนิด มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี บริเวณรอบๆ เจดีย์เป็นจุดชมวิวดูพระอาทิตย์ขึ้นทางแม่น้ำโขงฝั่งประเทศลาวและชมพระอาทิตย์ตกที่บริเวณบึงโขงหลงที่สวยงามมาก และสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ด้านล่างโดยรอบได้ไกลไปจนถึงแม่น้ำโขงและประเทศลาว ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูลังกา ประมาณ 4 กม. สามารถเดินขึ้นไปกราบไหว้สักการะได้หลายทาง เช่น ทางฝั่งที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูลังกา (4 กม.) ทางหน่วยพระเจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ (2 กม.) ทางวัดถ้ำชัยมงคล-ถ้ำนาคา (4 กม.) และทางน้ำตกตาดวิมานทิพย์ (4 กม.)
ตามประวัติเจดีย์กองข้าวศรีบุญเนาว์ สร้างขึ้นโดยนิมิตรของพระอาจารย์สมชาย ปุญญมโน (วัดป่าสว่างบุญ จ.สระบุรี) เมื่อครั้งขึ้นมาปฏิบัติภาวนาที่ภูลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยนิมิตรว่ามีเทวดาพระภูมิเจ้าที่ เป็นผู้ชายร่างสูงใหญ่แต่งกายคล้ายพระสงฆ์วัยชรา แต่ศรีษะเป็นช้าง มาขอนิมนต์ให้ท่านสร้างเจดีย์แห่งนี้ ในขณะที่ภาวนาวันนั้นมีชาวบังบดหรือชาวลับแล ได้มานิมนต์ท่านไปดูแบบเจดีย์ และรับปากว่าเดี๋ยวพวกข้าจะช่วยท่านสร้าง (เมืองบังบดที่อยู่ในภูลังกาซึ่งเป็นเหมือนเมืองหนึ่งที่มีผู้คนอยู่อาศัยจำนวนมาก) วันรุ่งขึ้นมีชาวบ้านกลุ่มลึกลับ (น่าจะเป็นชาวบังบด) มาช่วยแบกอิฐ หิน ทราย เกือบ 100 คน และเป็นเรื่องที่อัศจรรย์มากขณะที่สร้างเจดีย์บนภูลังกานั้น ของหนักก็เป็นของเบา ของยากก็เป็นของง่าย ของไม่มีก็จัดสรรมีมาเอง คนไม่เคยมาช่วยก็จะมีมาอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งอย่างน้อยมีผู้คนมาช่วยอย่างน้อยก็ร้อยกว่าคนอยู่อย่างนั้น ส่วนอาหารการกินบนยอดภูลังกานั้นมีอย่างกับตลาดสด ทั้งน้ำแข็งไอศกรีม อีกทั้งก๋วยเตี๋ยวเพียบ ไม่รู้คนหลั่งไหลมาจากไหนทั่วทิศ แต่หลวงพ่อทราบว่าคนเหล่านี้เป็นบริวารของพญานาคท้าวภุชงค์ โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเสร็จภายในระยะเวลา 59 วัน พอเสร็จปรากฏว่าคืนนั้นเวลาตี 3 ฝนได้ตกลงมา 10 วัน 10 คืน ได้ทำการชะล้างสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนได้ถ่ายหนักเบาลงมา จากนั้นจึงได้ทำการฉลองที่เชิงเขาข้างล่างด้วยการถวายสังฆทานพระทั้งหมด 16 วัด ใช้งบในการสร้างหมดไป 1,104,097 บาท และเป็นการสร้างเจดีย์ที่ไม่ได้เสียเงินจ้างแรงงานเลย
พญาภุชงค์นาคราชเจ้าวิสุทธิเทวา เป็นพญานาคราชประจำองค์พระศิวะเทพ หรือ พระอิศวรเจ้า อยู่ในตระกลู วิรูปักษ์ มีพระวรกายเป็นสีเทาฮินดู พระนาภีและพระเศียรเป็นสีแดง มีพระเศียร ตั้งแต่ ๑ ,๓ ,๕ ,๗ ,๙ แล้วแต่ปาง แต่ส่วนใหญ่ที่ปรากฎให้เห็น คือ ๑ เศียร และ ๗ เศียร มีพระอัครมเหสี คือ พญานาคิณีเทวีศรีปางตาล ( แม่ย่าทองคำ ) ซึ่งเป็นพญานาคิณีประจำองค์แม่พระอุมาเทวี มเหสีของพระศิวะเทพ
*พญาภุชงค์นาคราชปกครองเมืองบาดาล พระองค์ที่ ๓
1.พญาอนันตนาคราช
2.พญามุจลินท์นาคราช
3.พญาภุชงค์นาคราช
4.พญาศรีสุทโธนาคราช
5.พญาศรีสัตตนาคราช
6.พญาเพชรภัทรนาคราช
7.พญานาคดำแสนศิริจันทรานาคราช
8.พญายัสมันนาคราช
9.พญาครรตระศรีเทวานาคราช
พญาภุชงค์นาคราชมีอุปนิสัยตรงไปตรงมา ดูภายนอกมองว่าท่านดุ แต่แท้จริงแล้วท่านใจดีมาก รูปร่างสง่างาม อายุเปรียบกับคนอายุราว ๕๐ กว่า ๆ ท่านชอบศึกษาธรรมเป็นนิสัย หลังจากสละจากกษัตริย์แล้ว ท่านได้บำเพ็ญตบะเป็นฤๅษี และ ได้บำเพ็ญมาถึงทุกวันนี้
ส่วนท่านอาศัยอยู่น่านน้ำอ่าวไทยตลอดถึงอันดามัน คือ น่านน้ำเค็ม และ ได้อยู่ตามถ้ำต่างๆ ทั่วประเทศจึงได้พบเห็นว่าท่านอยู่แถบทุกภาค ของประเทศ ในขณะเดียวกันท่านได้เป็นฤๅษีในชั้นพรหม มีวิมานอยู่ที่พรหมโลก ปู่ภุชงค์นาคราช มีหลายพระญาณบารมี เสมือนมีหลายปางแต่ละภาคปาง ก็ต่างกัน ภาคปางที่เป็นกษัตริย์ท่านมีนิสัยเจ้าชู้ มักมากในกามารมณ์ ส่วนที่บำเพ็ญตบะเป็นฤๅษีท่านมีความเมตตาชอบสอนธรรมะ และโปรดที่จะช่วยเหลือมวลมนุษย์ การที่พญานาคส่วนใหญ่นั้นเสพกามคุณ เป็นเพราะว่าการที่เสพกามนั้นจะได้ยังชีวิตอยู่ไปได้ ส่วนนาคที่ไม่ได้เสพกามคุณนั้น จะทำให้เวียนว่ายตายเกิดในชาติภพภูมิต่อไป ทั้งที่มาเกิดเป็นมนุษย์โลก และ ตามภพภูมิต่าง ๆ เหตุนี้จึงทำให้กษัตริย์ อธิบดี ผู้ที่ปกครองเมืองนาคราชต่าง ๆ จึงมีพระมเหสี และ พระสนมมากมาย และบางท่านบางพระองค์ยังคงมีพระชนม์มายุตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์แรกจนถึงปัญจุบัน บางคนมาถามถึงเรื่องพญานาคว่าทำไมถึงผูกพันและศรัทธาตัวท่านมาก… อาจจะเป็นความผูกพันกันมา ได้เคยรับใช้รึว่าเป็นบุตรธิดา มเหสี นางสนมของท่านก็เป็นไปได้นะคะ
4. “พระเจ้า ๕ พระองค์” ตำนานดินแดนประสูติของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
advertisement
จากตำนานเรื่องเล่า ภูลังกาเป็นดินแดนพระเจ้าห้าพระองค์ นโมพุทธายะ และเป็นเมืองหลวงของชาวบังบดลับแล อันมีเมืองพญานาครวมอยู่ด้วย และยังเป็นสนามรบกับกองทัพกิเลส ที่กองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ส่งศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระธุดงค์กรรมฐานทุกรุ่นทุกสมัย มารบราฆ่าฟันกับกิเลสตัณหาที่ภูลังกา ไม่เคยเลิกรา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ตามตำนานพระเจ้าห้าพระองค์นั้นกล่าวว่า กาเผือกได้ตกไข่ 5 ฟองที่ภูลังกา วันหนึ่งเกิดลมพายุใหญ่หอบเอาไข่ปลิวไปตามลม ไข่นั้นได้ตกกระจัดกระจายไปในสถานที่หลายแห่ง ต่อมาไข่นั้นได้ฟักออกมาเป็นพระพุทธเจ้ากกุสันโธ พระพุทธเจ้าโกนาคโม พระพุทธเจ้ากัสสโป พระพุทธเจ้าโคตโม และองค์ต่อไปได้แก่ พระศรีอาริยเมตรัยโย ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตอีกประมาณ 750 ล้านปี เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ในภัทรกัปนี้ ( ตัวเลข 750 ล้านปี เป็นเพียงสันนิษฐานของปราชญ์ผู้รู้ อย่าได้ยึดเอาเป็นหลักฐานทางประวัติพุทธศาสนา )
และยังมีความพิสดาร แถมท้ายอีกว่า กาทั้งหลายไม่กล้าบินผ่านไป จะต้องถูกอำนาจอาถรรพ์ลึกลับที่ภูลังกา เป็นพายุใหญ่พัดพากาตัวนั้นให้เซถลาปลิวว่อนไปทางป่าเซกา ( เขตอำเภอเซกาในปัจจุบัน )
ความลึกลับของภูลังกาหรือ(รังกา) อันเป็นดินแดนลี้ลับอย่างอาถรรพณ์ มีภูเขาห้าลูกเชื่อมโยงกันด้วยป่าไม้หนาแน่นสูงเฉียดฟ้าและหุบเหว มีเรื่องปรัมปราพื้นบ้านเล่าสืบทอดกันมาว่า ภูลังกาในสมัยดึกดำบรรพ์ ยุคสร้างโลกเป็นที่สถิตอยู่ของ รังกาเผือก มีไข่ ๕ ฟอง วันหนึ่งขณะที่ กาเผือกสองผัวเมียออกไปหาอาหารได้เกิดลมพายุพัดเอารังกาพลิกไหว ไข่ทั้ง ๕ ฟอง ปลิวไปตามลมแรงกระจัดกระจายไปตกลงยังที่ต่างๆ
ไข่ฟองที่ ๑ ไปตกยังถิ่นของแม่ไก่ แม่ไก่นำไปเลี้ยงไว้ต่อมาก็คือพระกกุสันโธพุทธเจ้า
ไข่ฟองที่ ๒ ไปตกในเมืองพญานาค ท้าวพญานาคนำไปเลี้ยงไว้ ต่อมาได้เป็นพระโกนาคมพุทธเจ้า
ไข่ฟองที่ ๓ ไปตกในแดนของเต่า พญาเต่านำไปเลี้ยงไว้กลายเป็นพระกัสโปพุทธเจ้า
ไข่ฟองที่ ๔ ไปตกในแดนแม่โค แม่โคได้เลี้ยงไว้ ต่อมากลายเป็นพระสมณโคตมะพุทธเจ้า และ
ไข่ฟองที่ ๕ ไปตกที่แดนของพญาราชสีห์ พญาราชสีห์เอาไปเลี้ยงไว้กลายเป็นพระศรีอริยเมตไตรย รวมเป็นพระเจ้า ๕ พระองค์
เรื่องภูลังกาที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้า ๕ พระองค์นี้ เป็นเรื่องพื้นถิ่นความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบันดาลใจให้ชาวบ้านเทิดทูนพระพุทธเจ้า ต้องการให้เห็นว่าพื้นถิ่นของตนนั้นมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์อยู่ตลอดไปก็เลยเป็นว่าภูลังกาเป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์
5. “ธรรมสถานแห่งพระอริยะ” ตำนานดินแดนสนามรบกิเลส (พระธุดงค์กรรมฐาน)
advertisement
ภูลังกา เป็นสนามรบกับกองทัพกิเลส ที่กองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ส่งศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระธุดงค์กรรมฐานทุกรุ่นทุกสมัย มารบราฆ่าฟันกับกิเลสตัณหาที่ภูลังกา ไม่เคยเลิกรา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ภูลังกา เป็นธรรมสถานแห่งพระอริยะ พระป่าในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ได้เคยไปอยู่จำพรรษา หรือไปเพื่อการวิเวก บนภูลังกาหลายองค์ พระกรรมฐานที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของมหาชน ที่เคยไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ภูลังกามาแล้วคือ หลวงปู่เสาร์, หลวงปู่มั่น, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่เทสก์, หลวงปู่อ่อน, หลวงปู่สิม, หลวงปู่วัง, พระอาจารย์สมชาย, หลวงพ่อชา, พระอาจารย์โง่น, พระอาจารย์สีโห, พระอาจารย์วัน, พระครูอดุลธรรมภาณ เป็นต้น
ภูลังกาเป็นดินแดนพิสูจน์คนกล้า พระแกร่ง ยอดเขาด้านหลังคือภูลังกา จากพื้นถึงยอดประมาณ 2 กิโลเมตร ภูลังกา เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระป่าอันสัปปายะวิเวก ที่ครูบาอาจารย์สมัยก่อนชอบแวะเวียนไปอยู่เสมอ ถึงแม้จะลำบากในเรื่องอาหาร ต้องอดแห้งอดแล้งท้องกิ่วเหมือนฤๅษีชีไพรและอาหารที่ไปบิณฑบาตมาได้จะเป็นเพียงข้าวเหนียว 1 ก้อนเล็กๆ กับเกลือและพริกได้มาแค่ไหนก็ฉันกันแค่นั้น ไม่คิดมากไม่ถือว่าเรื่องอาหารเป็นอุปสรรคในการเจริญภาวนา เพราะจิตมีความมุ่งหมายอยู่ที่การขูดเกลากิเลสตัณหาความทะยานอยากให้หมดไป เพื่อพ้นทุกข์ จิตสะอาดบริสุทธิ์ สว่าง สงบ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังนั้นพระป่าจึงไม่มีการบ่นว่า หิวเหลือเกิน อ่อนเพลียไม่มีแรงจะเป็นลม ต่างก็หุบปากเงียบ เฝ้าแต่เดินจงกรม กับนั่งสมาธิภาวนา กำหนดสติรู้คอยระมัดระวังกิเลสตัณหาในตัวเองอยู่ตลอดเวลา รู้เท่าทันกิเลส ใช้ขันติ ความอดทน อดกลั้น ในทุกสถานการณ์ ไม่ทำตามกิเลสทุกรูปแบบ บังคับตัวเองได้ เป็นนายตัวเองได้ ถ้าเจ็บไข้ อาพาธ ไม่ต้องไปหาหยูกยาใดๆ รักษาตัวเองด้วยการนั่งสมาธิภาวนา สลับกับเดินจงกรม ไม่ฉันอาหาร เพื่อให้กระเพาะลำไส้ได้หยุดพักผ่อน เรียกว่า รักษาด้วยธรรมโอสถ หายก็ดี ไม่หายก็ตาย ถ้าตายก็หายห่วง จะได้ดับให้สนิทไปเลย ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอะไร
6. “ภูลังกา” ตำนานดินแดนอาถรรพ์ ดินแดนศักดิ์สิทธ์
advertisement
ภูลังกาเป็นแดนอาถรรพ์ เกี่ยวเนื่องผูกพันอยู่กับภพภูมิผีสางเทวดาสิ่งลี้ลับ มีทั้งฝ่ายดีคือ สัมมาทิฐิ และฝ่ายชั่วคือมิจฉาทิฐิ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วได้จับตาดูพระสงฆ์องค์เณรอยู่ตลอดเวลา ว่าจะประพฤติผิดศีลวินัยข้อใดบ้าง เรียกว่าเขาคอยจ้องจับผิด ถ้าพบว่าพระสงฆ์องค์เณรรูปใด ทำผิดเป็นอาบัติ เขาจะเล่นงานทันที เป็นต้นว่า ทำให้เจ็บไข้อาพาธ ทำให้ถึงพิการหรือตายก็ได้
ฉะนั้นขอให้พระเณร ทุกรูปรักษาศีลทุกข้อให้เคร่งครัด ตามสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมความนึกคิดให้อยู่แต่ทางบุญกุศล อย่านึกคิดชั่วๆ ลามกจกเปรต คึกคะนองเป็นอันขาด หนึ่งในเทือกเขาภูลังกาอันกว้างใหญ่ แม้แต่พวกโอปปาติกะหรือวิญญาณมาจากสวรรค์แดนพรหมโลก มาบำเพ็ญบารมีแสวงบุญที่ภูลังกา เพราะเป็นสถานที่สงัดวิเวกและศักดิ์สิทธิ์มานานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
พวกโอปปาติกะ หรือวิญญาณชั้นสูง เป็นต้นว่า เทวดา พรหม ที่มีบุญฤทธิ์ หรือเคยสำเร็จอัปปนาสมาธิมาก่อนในสมัยเกิดเป็นมนุษย์ สามารถแสดงกายหยาบได้ ทำที่โล่งแจ้งว่างเปล่าให้เป็นป่าไม้ภูเขาได้ ล่องหนหายตัวได้ แปลงกายเป็นอะไรก็ได้ เมื่อทำไปแล้วก็จะสูญเสียพลังทิพย์ ต้องมีการ เข้ากรรม คือรักษาศีลเจริญเทวธรรมและพรหมธรรม เพื่อเรียกเอาพลังอำนาจทิพย์นั้นกลับมาให้เหมือนเดิม
ที่พิเศษพิสดาร ได้แก่พวกปีศาจต่างๆ ได้แก่ ผีหรือเปรต เช่น มหิทธิเปรตและเปรตอีกหลายจำพวก ที่มีฤทธิ์ เป็นผีปีศาจดุร้าย แสดงกายหลอกหลอนได้ต่างๆ นานา สามารถทำร้ายมนุษย์และสัตว์ได้นั้น มีฤทธิ์เดชได้ด้วยผลกรรมเรียกว่า กรรมวิปากชาฤทธิ์
พวกโอปปาติกะหรือวิญญาณต่างๆ ที่มีบุญน้อยและเทวดาบางจำพวกที่มีบุญฤทธิ์น้อย (แต่มีเทวธรรมดีงาม) จะแสดงกายหยาบไม่ได้เลย แต่สามารถทำกลิ่นได้ เป็นต้นว่า กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น กลิ่นธูปเทียน กลิ่นดอกไม้ กลิ่นอาหารคาวหวาน และทำให้เกิดเสียงต่างๆ ได้ เช่น เสียงขว้างปาหลังคาบ้าน เสียงพูด เสียงร้องไห้คร่ำครวญ หรือหัวเราะ เสียงลมพายุเป็นต้น แต่แสดงกายหยาบเป็นตัวตนไม่ได้ พวกผีหรือวิญญาณโอปปาติกะจำพวกนี้มีจำนวนมากที่สุดในโลกวิญญาณ
หลวงปู่วังเล่าว่า พรหมทั้งสี่ได้บอกท่านว่า ภูลังกามี 5 ลูก เป็นเทือกเขาบริเวณกว้างขวาง หนาแน่นด้วยต้นไม่ใหญ่น้อย เป็นสวนสมุนไพรนานาชนิด มีโอสถสารวิเศษหายาก มากไปด้วยคูหาเถื่อนถ้ำลึกลับ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับพิสดาร
ทางโลกวิญญาณได้แบ่งภูลังกาเป็นเขตเป็นภูมิต่างๆ เป็นต้นว่า เขตหรือภูมิของพรหม สำหรับพวกพรหมลงมาบำเพ็ญธรรมในโลก เขตหรือภูมิของพวกพญานาค เขตหรือภูมิของพวกปิศาจอสุรกาย เขตหรือภูมิของพวกลับแล (บังบดหรือคนธรรพ์) ซึ่งเป็นผีจำพวกหนึ่งที่มีกายหยาบใกล้เคียงกับมนุษย์เรียกว่า อมนุษย์ ผีลับแลมีคุณธรรมสูงถือศีล 5 เคร่งครัด จะเป็นเทวดาก็ไม่ใช่จะเป็นผีก็ไม่เชิง จะเป็นมนุษย์ก็ก้ำๆ กึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ เพราะมีบุญฤทธิ์พิเศษล่องหนหายตัวได้ และสร้างภพภูมิของพวกตนเป็นบ้านเป็นเมืองอยู่อาศัยได้ แต่เมื่อถึงคราวพวกลับแลสิ้นกรรม (หมดอายุขัย) บ้านเมืองของพวกเขาก็จะหายวับเป็นอากาศธาตุไปทันที ภูตผีปีศาจทั้งหลายมีความยำเกรงพวกลับแลมาก ไม่กล้าตอแยข่มเหงเบียดเบียน
บริเวณถ้ำชัยมงคลที่หลวงปู่วังมาอยู่นี้ อยู่ในเขตของพวกพรหมที่ลงมาปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ จึงอยากให้หลวงปู่วังเคร่งครัดในพระธรรมวินัย อย่าล่วงเกินธรรมวินัยเป็นอันขาด เพราะจะได้รับอันตรายจากพวกพญานาค พวกลับแลหรือบังบด และพวกยักษ์ที่รักษาป่าไม้ภูเขาเถื่อนถ้ำ ห้ามฉันเนื้อสัตว์ทุกชนิด ให้ฉันได้ก็แต่อาหารพรหมหรืออาหารมังสวิรัติ (อาหารเจ) เพราะย่านถ้ำชัยมงคลบนภูลังกาเป็นภูมิหรือเขตบริสุทธิ์ของพวกพรหม
นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พวกพรหมอีกหลายองค์ ได้ผลัดเปลี่ยนกันมาสนทนาธรรมกับหลวงปู่วังอยู่เสมอ ท่านบอกพระสหธรรมมิกร่วมสมัย เช่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่อ่อน ว่าเรื่องของพรหมบนภูลังกาเป็นเรื่องลี้ลับพิสดารมาก ไม่อยากจะเล่าให้ใครฟังเลย กลัวเขาไม่เชื่อ
นอกจากจะสามารถติดต่อกับพวกพรหมจากสวรรค์ พรหมโลก หลวงปู่วังยังติดต่อกับชาวลับแลหรือบังบด หรือคนธรรพ์ได้ ติดต่อกับพวกพญานาคได้ รวมถึงยักษ์หรืออสูรหรือรากษสได้เป็นปกติ เพราะที่ภูลังกาเป็นภูมิหรือที่อยู่ของวิญญาณหลายภูมิดังกล่าวมาแล้ว
เป็นพวกกายทิพย์อยู่เมืองบาดาลหรือนาคพิภพ เป็นสัตว์ประเสริฐศักดิ์สิทธิ์ เขตภูลังกาก็ดี บึงโขงโหลงก็ดี แม่น้ำศรีสงครามและแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำโขงก็ดี อยู่ในเขตปกครองของพญานาค เป็นมรรควิถีทางขึ้นลงนาคพิภพทั้งนั้น
7. “ดินแดนสมุนไพร” ตำนานรามเกียรติ์ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์
จากตำนานเรื่อง “รามเกียรติ์” แห่งกรุงลงกา (ลังกา) ตอน “พระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์” โดยมีกุมภกรรณพญายักษ์ซึ่งเป็นอนุชาของทศกัณฐ์ ดำรงตำแหน่งพระอุปราช กุมภกรรณเป็นพญายักษ์ซึ่งครองธรรม รักษาไว้ซึ่งสัจจะและความสุจริตยุติธรรม หลังจากที่พญามัยราพณ์ พระนัดดาต้องสิ้นชีพลงแล้ว ทศกัณฐ์ได้รำพึงถึงการศึกที่จะทำสงครามกับฝ่ายพระราม ทศกัณฐ์นึกถึงกุมภกรรณพระอนุชาจึงเชิญขึ้นมาเฝ้าปรึกษาศึก กุมภกรรณผู้มีความสุจริตยุติธรรม ตรึกตรองถึงชนวนศึกเห็นว่าต้นเหตุมาจากทศกัณฐ์ไปลักพานางสีดามเหสีของพระรามมาไว้ในอุทยานกรุงลงกา จึงทูลให้ทศกัณฐ์ส่งคืนนางไปเสีย ด้วยราคะจริตของทศกัณฐ์ที่หลงใหลในรูปโฉมนางสีดา จึงบริภาษประกาศโทษและขับไล่ กุมภกรรณเห็นว่าเมื่อทัดทานมิเป็นผลจึงจำใจรับอาสาออกทำสงคราม โดยจะนำหอกโมกขศักดิ์อันมีฤทธิ์ร้ายกาจซึ่งฝากไว้กับพระพรมาธิบดีบนสรวงสวรรค์
กุมภกรรณขึ้นไปทูลขอหอกโมกขศักดิ์ แต่ด้วยเหตุอาเพศที่ต้องเสียสัจสุจริตหอกนั้นกลับเป็นสนิมทั้งสี่คม พระพรหมตักเตือนแต่ก็บอกถึงวิธีแก้ไขให้ กุมภกรรณนำหอกโมกขศักดิ์กลับไปประกอบพิธีลับหอก ที่เขาทับทิมริมแม่น้ำใหญ่ กุมภกรรณจัดสั่งให้ตั้งโรงพิธีใหญ่พร้อมทั้งเครื่องบูชาอย่างครบถ้วนตามตำรา และได้สั่งไพร่พลกวดขันดูแลมิให้สิ่งปฏิกูลใดๆ ผ่านเข้ามาเป็นอันขาด ทางฝ่ายพระราม พิเภกกราบทูลว่า กุมภกรรณไปประกอบพิธีลับหอกถ้าสำเร็จจะมีฤทธิ์ร้ายกาจนักและทูลว่า โดยอุปนิสัยของกุมภกรรณเป็นพญายักษ์ที่รักความสะอาด สิ่งที่จะทำลายพิธีได้ คือ ให้พญาวานรหนุมานและพญาวานรองคตแปลงกายเป็นสุนัขเน่าและอีกาที่จิกกินซากลอยผ่านเข้าไปใกล้บริเวณพิธี
เมื่อกุมภกรรณได้กลิ่นก็จะประกอบพิธีต่อมิได้ พญาวานรทั้งสองรับอาสาไปทำลายพิธีตามคำแนะนำของพญาภิเภก เมื่อกุมภกรรณเสียพิธีจึงยกทัพออกรบ พระรามให้พระลักษณ์คุมกองทัพออกรบ ด้วยเหตุกุมภกรรณเป็นอุปราชมีศักดิ์เสมอพระลักษณ์ ในการรบครั้งนี้ พระลักษณ์เป็นฝ่ายเสียทีถูกหอกโมกขศักดิ์ปักพระอุระจนสลบลง กองทัพของกุมภกรรณจึงกลับเข้ากรุงลงกาอย่างฮึกเฮิม เมื่อพระลักษณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์สลบลงหนุมานจะฉุดถอนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ
สุครีพจึงใช้ให้ให้นิลนนท์ไปทูลข่าวและอัญเชิญให้พระรามเสด็จมาสนามรบ พระรามเสียพระทัยและถามพิเภกถึงวิธีแก้ไข พิเภกทูลว่าสรรพยาที่จะแก้ฤทธิ์หอกนี้ได้ คือ ต้นสังกรณีตรีชวาและน้ำปัญจมหานที แต่ที่สำคัญที่สุดคือถ้าแสงพระอาทิตย์สาดส่องเมื่อใดจะหมดโอกาสแก้ไขได้ หนุมานรับอาสาเหาะขึ้นไปบนฟากฟ้าเข้ายุดรถพระอาทิตย์ จนตนเองต้องพินาศเพราะอำนาจของแสงอาทิตย์ พระอาทิตย์เห็นเหตุการณ์ประหลาดครั้งนี้จึงชุบหนุมานขึ้นมาแล้วถามถึงสาเหตุ ในที่สุดพระอาทิตย์ก็ช่วยเหลือโดยชักรถหลบเข้าไปในกลีบเมฆ
หลังจากนั้นหนุมานจึงเหาะไปที่เขาสรรพยา หรือ ภูลังกาในปัจจุบัน (ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของนักวิจัยทางพฤกษศาสตร์ พบว่า ภูลังกาเป็นแหล่งกำเนิดสมุนไพรที่หายากและพบมากที่สุดในแถบนี้) อุทยานแห่งชาติภูลังกา เป็นสวรรค์ของนักวิจัย นักพฤษศาสตร์ และนักธรณีวิทยา เป็นจุดบรรจบของเขตพฤกษภูมิศาสตร์ถึง 3 เขต เข้ามาซ้อนทับกัน ได้แก่ 1) เขตพฤกษภูมิศาสตร์ย่อย (Thailandian floristic province) 2) เขตภูมิศาสตร์ย่อยแบบอินโดจีนตอนบน (north Indochinese floristic province) ที่อยู่ด้านเหนือ สภาพอากาศเย็นและชุ่มชื้น และ 3) เขตพฤกษภูมิศาสตร์ย่อยแบบอันนัม (Annamese floristic province)
ภูลังกามีทั้งพืชถิ่นเดียวและพืชหายากของไทยหลายชนิดพบขึ้นเฉพาะในอุทยานแห่งชาติภูลังกา ด้วยชัยภูมิที่สำคัญของภูลังกา พรรณพฤกษชาติในบริเวณนี้จึงมีความหลากหลายของพืชพรรณสูง และปรากฏชนิดพันธุ์ที่สำคัญและหายากของประเทศไทย หรือมีเพียงแห่งเดียวในโลกจำนวนมาก เมื่อเทียบกับขนาดผืนป่าอันน้อยนิด อุทยานแห่งชาติภูลังกามีพืชถิ่นเดียว (endemic) ที่สำคัญคือ โสมภูลังกา, เสี้ยวภูลังกา และ สิรินธรวัลลี นอกจากนั้นยังพบพืชชนิดใหม่ของโลก (New species) เช่น เครือเศวตภูลังกา เสี้ยวภูลังกา และประดับหินอาจารย์เต็ม จึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญยิ่งต่อการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์และการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย
เมื่อพบสังกรณีตรีชวาแล้ว หนุมานก็ได้เนรมิตให้หางยาวใหญ่โอบรัดเอาภูลังกาเพื่อไปรักษาพระลักษณ์ เมื่อหนุมานดึงเอาภูลังกาออกไปจึงเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งในปัจจุบัน คือ บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ หลังจากได้ยารักษาพระลักษณ์แล้ว หนุมานจึงได้นำเอาภูลังกากลับมาคืน แต่เนื่องจากหนุมานเป็นลิงพฤติกรรมจึงซุกซน ก็เลยใช้หางเหวี่ยงภูลังกาลงมา แต่ไม่ตรงกับจุดเดิม จึงเกิดเป็นภูลังกาในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้กับบึงโขงหลง และหากเปรียบเทียบพื้นที่ของบึงโขงหลงและภูลังกาจะมีขนาดเท่ากันพอดี
เมื่อหนุมานได้ต้นสังกรณีตรีชวาแล้ว ต่อจากนั้นก็ไปขอน้ำปัญจมหานที จากพระพรต (อนุชาของพระราม) มาถวายพระราม เมื่อได้ยาและน้ำมาแล้ว พระรามให้พิเภกทำพิธีบดยาเสกเป่าแล้วทาลงที่แผล สักครู่หอกก็เคลื่อนหลุดจากอกพระลักษมณ์โดยไม่มีบาดแผลปรากฏให้เห็น พระรามพระลักษณ์พร้อมกองทัพก็กลับคืนสู่พลับพลา