เมื่อพี่น้อง อิจฉากัน พ่อแม่รับมืออย่างไร?
advertisement
เป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวจะมีการเปลี่ยนแปลง ขยายใหญ่ขึ้น มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น หลายๆ ครอบครัวที่มีลูกหลายคน มักจะต้องเจอกับปัญหาพี่น้องอิจฉากันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่ที่เคยให้ความรัก การดูแล และความเอาใจใส่ให้กับลูกเพียงคนเดียวอยู่เสมอ แต่แล้วเวลาหนึ่งที่น้องลืมตาออกมาดูโลก พ่อและแม่กลับหันไปสนใจ เอาใจใส่แต่น้อง เป็นเหตุทำให้พี่รู้สึกถึงการถูกแย่งความรักไป มีความอิจฉาน้องและแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในทางลบ ทั้งยังเป็นเหตุให้เสียสุขภาพจิตของตัวลูกเองรวมถึงทุกคนในครอบครัวด้วย เช่นนี้แล้วพ่อแม่จะรับมืออย่างไร สำหรับพ่อแม่ที่กำลังมีปัญหานี้อยู่ หรือมีความกังวลว่าจะมีปัญหาในอนาคต ห้ามพลาดค่ะ ตาม Kaijeaw.com ไปดูวิธีการรับมือ แก้ปัญหา
โดยปกติแล้ว พี่น้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันทางสายเลือด แต่ก็แสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ทั้งความสัมพันธ์ที่ดี เช่น การให้ความช่วยเหลือ แบ่งปัน เป็นเพื่อนเล่นกัน เป็นที่พักพิงทางใจ เป็นที่ปรึกษา เนื่องจากพี่น้องมักจะถูกเลี้ยงดูมาด้วยกัน มีความสนิทสนมกันมาก ทำให้สามารถเข้าใจปัญหาของกันและกันได้ดี มีการสื่อสารระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องของตนได้ และบางครั้งก็เป็นเพื่อนพูดคุยในบางประเด็นที่อาจจะคุยกับใครไม่ได้
แต่ว่านอกจากความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว พี่น้องอาจมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การต่อสู้กัน หรือเกิดความอิจฉาริษยากันได้ (Sibling Rivalry)
advertisement
ทั้งนี้แล้วความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องจะเป็นเช่นไร มักจะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่
– วิธีการเลี้ยงดู การอบรมของพ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมทั้งคนในครอบครัว
– ลำดับการเกิด ระยะเวลาความห่างของลูก
– บุคลิกภาพของเด็กแต่ละคน
– สิ่งแวดล้อมภายนอกครอบครัว [ads]
การที่พี่น้องอิจฉากันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ความอิจฉาริษยา การแข่งขัน การต่อสู้แย่งชิงระหว่างพี่น้อง ซึ่งมักมีความรุนแรงในพี่น้องที่มีอายุใกล้เคียงกันและเพศเดียวกัน ปัญหาพี่น้องอิจฉากันนี้สามารถเป็นไปได้ตั้งแต่ก่อนน้องเกิด หรือหลังจากน้องเกิดไม่นาน เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักคงอยู่ตลอดช่วงวัยเด็ก ในบางคู่อาจคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ มีการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่มีปัญหาอิจฉากันระหว่างพี่น้อง แต่ส่วนใหญ่ความสัมพันธ์จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ปัญหาพี่น้องอิจฉากันสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ในกรณีที่ไม่รุนแรงมักมีลักษณะไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่แบ่งปัน ไม่มองด้านดีของพี่น้อง ไม่มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ในรายที่มีความอิจฉากันรุนแรงจะมีลักษณะแข่งขันกันอย่างมากเพื่อแย่งความสนใจจากพ่อแม่ อาจรุนแรงถึงขั้นมีพฤติกรรมรุนแรง ต่อสู้ ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ในเด็กบางคนอาจแสดงออกมาเป็นปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม เช่น มีพฤติกรรมถดถอย ทำพฤติกรรมเลียนแบบเด็กเล็กๆ มีพฤติกรรมต่อต้าน ร้องอาละวาด วิตกกังวล มีปัญหาการนอน สุขภาพจิตย่ำแย่ เป็นต้น
สาเหตุ เกิดจากการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่ง เวลา ความรัก ความสนใจ และการยอมรับจากพ่อและแม่ หรือสังคมรอบข้าง นอกจากนี้ยังเกิดจากปัจจัยจากเด็กและพ่อแม่ด้วย
advertisement
ปัจจัยจากตัวเด็ก
– บุคลิกภาพ พื้นอารมณ์ เช่น เป็นเด็กเลี้ยงยาก แยกตัว
– มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับผู้อื่น ไม่ทราบวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
– ตำแหน่งในครอบครัว
– ความแตกต่างด้านอายุ, เพศ
– เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น พัฒนาการล่าช้า ป่วย พิการ
ปัจจัยจากพ่อแม่
– ไม่มีเวลา ขาดการดูแลเอาใจใส่ลูก
– มีทัศนคติที่ยอมรับความรุนแรงได้
– ไม่เป็นต้นแบบที่ดีแก่ลูก แสดงความรุนแรงให้ลูกเห็น
– ปัญหาในครอบครัว ทะเลาะกันให้ลูกเห็น
– พ่อแม่มีความเครียด วิตกกังวล ซึ่งส่งผลต่อการดูแลลูก
advertisement
วิธีการจัดการและรับมือกับปัญหาพี่อิจฉาน้อง
1. เตรียมความพร้อมความเข้าใจกับลูกคนโต เพื่อให้เกิดการยอมรับน้องตั้งแต่น้องยังอยู่ในท้องแม่ โดยการพูดคุยถึงน้องซึ่งกำลังเติบโตอยู่ในท้องแม่ น้องกำลังจะมาเป็นสมาชิกอีกคนของครอบครัว เป็นน้องของพี่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่และน้องตั้งแต่เริ่มต้น ให้ลูกคนโตได้รับรู้ว่าเขามีส่วนสำคัญกับน้อง และน้องมีความสำคัญต่อพี่ด้วย นอกจากนี้อาจพูดคุยถึงข้อดีของการมีน้องใหม่ เช่น จะได้มีเพื่อนเล่น ไม่เหงา ได้ช่วยเหลือกันเมื่อโตขึ้น ให้ลูกคนโตได้สัมผัสน้องในท้องแม่ ชี้ให้เห็นความน่ารักของเด็กตัวเล็กๆ สอนให้รักน้องในท้อง และบอกว่าน้องก็รักพี่เช่นกัน
2. ยังคงให้ความสำคัญกับคนพี่เสมอ ตั้งแต่น้องอยู่ในท้องจนกระทั่งคลอดและเติบโต เช่นแม่เล่านิทานให้คนพี่ฟังตั้งแต่น้องอยู่ในท้อง กอดคนพี่คลำน้องในท้อง พลัดให้คนพี่เล่านิทานให้น้องในท้องฟัง จนกระทั่งน้องคลอดและเติบโต เวลาอ่านนิทานก็ทำด้วยกัน และเช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ [ads]
3. สื่อสารให้คนพี่รับรู้ว่าตัวเขาก็เคยเป็นเด็กทารกที่พ่อแม่ต้องดูแล เช่นเดียวกับน้อง และพยายามให้เขาได้มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมที่อยู่กับน้อง เช่นถ่ายวิดีโอ ถ่ายรูป ด้วยกัน ซื้อเสื้อผ้าเหมือนกัน ทานข้าวพร้อมกัน เป็นต้น รวมทั้งให้คนพี่ได้มีโอกาสดูแลน้องด้วย
4. ไม่ใช้คำพูดเชิงเย้าแย่ เช่น หมาหัวเน่า ไม่มีใครสนใจแล้ว ไม่รักแล้ว เพราะคำพูดเหล่านี้จะกระทบจิตใจลูก ทำให้ลูกไม่มีความมั่นใจในความรักของพ่อแม่ และหากญาติหรือเพื่อนซื้อของมาเยี่ยมน้อง ก็ควรช่วยเผื่อของเล่นหรือของฝากให้พี่ด้วย
5. หากเกิดปัญหาพี่อิจฉาน้องไปแล้ว พ่อแม่ไม่ควรดุด่าหรือตีลูก เพราะยิ่งจะทำให้แย่ลง ควรทำความเข้าใจกับปัญหา และแสดงความเห็นใจพี่ที่มีความรู้สึกว่าน้องมาแย่งทุกอย่างไป พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูก ให้เขาได้ระบายความรู้สึกอึดอัดใจออกมา ขณะเดียวกันก็ประคับประคองจิตใจ ให้ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ แล้วจึงค่อยๆ บอกเหตุผล อธิบายให้ลูกเข้าใจ โดยที่ไม่ลืมย้ำและแสดงออกว่ายังเราลูกเท่าเดิมและรักน้องเท่ากัน
6. หลีกเลี่ยงการพูดเปรียบเทียบน้องกับพี่ และไม่ควรดุว่าหรือลงโทษพี่รุนแรง เนื่องจากที่พี่พูดหรือทำไป ก็เพราะความอิจฉาว่าน้องมาแย่งความรักของพ่อแม่ไปจากตัวเอง การดุว่าหรือทำโทษจะยิ่งทำให้พี่เกลียดน้องมากขึ้น คิดว่าน้องเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อแม่ไม่รักตน
7. ให้คนพี่ได้มีโอกาสช่วยดูแลน้อง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่ หากน้องต้องการอะไร ขอให้พี่เป็นผู้ช่วยหามาให้ แต่อย่าบังคับให้ทำ ตัวอย่างเช่น ช่วยแม่อาบน้ำทาแป้งให้น้อง ช่วยหยิบขวดนมให้น้อง หรืออาจให้พี่ช่วยถือขวดนมขณะน้องดูดนม เปลี่ยนผ้าอ้อม เปลี่ยนเสื้อผ้า พี่จะได้เรียนรู้ทักษะการหยิบ จับของ การหาของ การวางของให้เข้าที่ ทำให้เป็นกิจกรรมที่สนัก หากลูกทำได้ดีให้คำชมให้เกิดความภาคภูมิใจ ที่สำคัญอย่าบังคับลูกและว่ากล่าว เพราะจะทำให้ลูกยิ่งอิจฉาน้องมากขึ้น ควรหาทางให้พี่รู้สึกยินดีและสนุกที่ได้ช่วยเหลือดูแลน้อง
8. ให้เวลากับพี่ให้มากขึ้น โดยจัดแบ่งเวลา แบ่งงานของคุณพ่อคุณแม่ ในระหว่างที่คุณแม่กำลังดูแลน้อง พ่อก็แยกตัวออกมาเล่นกับพี่ บางเวลาก็สลับกันบ้าง ใช้เวลาส่วนตัวกับพี่โดยไม่มีน้องมายุ่งเกี่ยว เป็นเวลาที่อยู่ด้วยกันแบบสองต่อสอง ลูกจะรู้สึกอบอุ่นและไม่รู้สึกว่าถูกแย่งเวลาไป และจะยิ่งทำให้ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น
9. เมื่อพี่น้องเริ่มโตขึ้น พยายามให้พี่กับน้องได้เล่นด้วยกัน เช่น เล่นเกมจ๊ะเอ๋ ที่ทั้งคู่จะสนุกด้วยกัน เกมจ๊ะเอ๋จะช่วยเรียกเสียงหัวเราะให้น้องได้ ทั้งยังช่วยกระตุ้นปฏิสัมพันธ์ให้น้องอีกด้วย เมื่อน้องหัวเราะ พี่มักจะรู้สึกสนุกและภูมิใจตามไปด้วยที่ทำให้น้องหัวเราะออกมาได้
10. แสดงความรักต่อลูกอย่างเท่าเทียม กอดพี่และน้องพร้อมๆ กัน โดยให้พี่เอามือโอบกอดน้อง เป็นการกอดกันเป็นวงกลม หรือให้ลูกคนโตนั่งตักคุณแม่และอุ้มน้องคนเล็กไว้ด้วย ลูกจะรู้สึกเป็นพิเศษว่าได้นั่งตักคุณแม่ ลูกจะรู้สึกว่าน้องไม่ใช้เวลาของแม่ไปหมดคนเดียว แต่ยังมีเวลา และที่พิเศษกับตัวเองด้วย ลูกจะรู้สึกถึงความรักนั้นได้
ปัญหาพี่อิจฉาน้องนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา คุณพ่อคุณแม่อย่าได้กังวลจนเกินเหตุนะคะ เพียงว่าพยายามป้องกัน ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของลูก ช่วยประคับประคองจิตใจ ก็จะทำให้ปัญหาลดลงได้มาก แสดงให้ลูกเห็นว่ารักลูกเท่าเดิม พ่อแม่รวมถึงน้องก็รักพี่ด้วย ทุกคนมีความสำคัญต่อกันมาก เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว …เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวผ่านปัญหานี้ไปได้ด้วยดีค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com