ใครเป็น”โรคกระเพาะ”เชิญทางนี้…มาดู อาการและวิธีรักษา บอกเลยไม่ควรพลาด!!
advertisement
“โรคกระเพาะอาหาร” หรือ “โรคแผลในกระเพาะอาหาร” เป็นหนึ่ง ในโรคสุดฮิตของผู้คนในปัจจุบันเลยทีเดียวนะคะเพราะสาเหตุหลักๆ มักเกิดจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายที่หลายคนจะมีเหตุผลในเรื่องข้อจำกัดทางด้านเวลา ที่ทำให้รับประทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา ซึ่งเวลาปวดแสบท้องนั้นจะทรมานมากๆ ใครที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้วนั้นรู้ดี แต่เมื่ออาการหายไปแล้วหลายคนก็มักจะละเลยที่จะรักษา ซึ่งคุณรู้หรือไม่ หากปล่อยไว้และไม่มีการรักษาอย่างถูกวิธี ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นกระเพาะอาหารเป็นแผล และทะลุได้ ดังนั้นใครที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร ตาม Kaijeaw.com มาดูวิธีการรักษาโรคกระเพาะอาหาร กันนะคะ
advertisement
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารมีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อนมาก และเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน อันมีผลทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มโรคกระเพาะชนิดมีแผล อาจเป็นแผลตรงกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น สาเหตุอาจเกิดจากการใช้ยาต้านการอักเสบบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน นาโพรเซน ไพร็อกซิแคม ไดโคลฟีแนก ฯลฯ ซึ่งเป็นยาแก้ปวดต่างๆ หากใช้ติดต่อกันนาน อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้
การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacterpylori) หรือ เอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งติดต่อได้จากการกินอาหาร เชื้อนี้จะอาศัยอยู่ในชั้นเมือกที่ปกคลุมผิวกระเพาะอาหาร แล้วสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่รอบๆ ตัวมัน และยังสร้างสารพิษทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารได้ จึงทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร อาจเรื้อรังถึงขั้นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ [ads]
2. กลุ่มโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล มีสาเหตุหลากหลาย เช่น
– การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
– การสูบบุหรี่
– การดื่มสุรา กาแฟ
– ความเครียด
– การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
– ภาวะกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาหลอดอาหาร
สาเหตุเหล่านี้มีผลทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคือง จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง แล้วนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้
อาการของโรคกระเพาะอาหาร
– ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือ หน้าท้องช่วงบน เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว อาการจึงเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน แต่ในบางคนจะยิ่งปวดมากขึ้นหลังทานอาหาร โดยเฉพาะทานอาหารที่รสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
– อาการปวดแน่นท้อง สามารถบรรเทาได้ด้วยการทานอาหารหรือยาลดกรด
– อาการปวด มักจะเป็นๆหายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีก
– ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว
– แม้จะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพโดยทั่วไปจะไม่ทรุดโทรม
– มักปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ มานานเป็นปี โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลายๆ เดือน จึงกลับมาปวดอีก
– โรคแผลกระเพาะอาหารจะไม่กลายเป็นมะเร็ง แม้จะเป็นๆ หายๆ อยู่นานกี่ปีก็ตาม นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารตั้งแต่แรกเริ่มโดยตรง
– บางคนอาจมีอาการกำเริบเวลากินยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ของมันๆ ของหวานๆ อาหารที่ย่อยยาก หรือกำเริบในช่วงที่กินอาหารผิดเวลาหรือปล่อยให้หิวนานๆ หรือเวลามีความเครียด
– บางรายจะไม่มีอาการปวดท้อง แต่จะมีอาการแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ มักมีอาการท้องอืดร่วมด้วย สังเกตได้ว่าหลังกินอาหารท้องจะอืดขึ้นชัดเจน มีลมมากในท้อง ท้องร้องโกรกกราก ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
– ผู้ป่วยอาจมีอาการอิ่มง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อยลง และน้ำหนักลดลงบ้างเล็กน้อย
– ในบางคนอาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเหลวสีดำเหนียวคล้ายน้ำมันดิน หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
advertisement
วิธีการรักษา
แนวทางในการรักษาของแพทย์ อยู่ที่การวินิจฉัยรักษาตามอาการที่แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วจะให้ผู้ป่วย กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหาร ติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ตรวจพบเชื้อจากการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร หรือตรวจโดยการเป่าลมหายใจ [ads]
การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและรักษาโรคกระเพาะอาหารด้วยตนเอง
1. กินอาหารให้ตรงเวลา คนเป็นโรคกระเพาะและทุกๆ คนควรทำคือ การกินอาหารให้ตรงต่อเวลา เมื่อถึงเวลามื้ออาหารควรหาอาหารกินทันที เพื่อให้กรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาได้ทำหน้าที่ในการย่อยอาหารแทนที่ จะไปกัดทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและสำไส้ และในขณะกินอาหารควรดื่มน้ำบ้าง เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารดีขึ้น
2. ควรดื่มน้ำให้พอเพียง ดื่มตอนเช้าหลังตื่นนอน 1-2 แก้ว ดื่มหลังอาหาร ครึ่งแก้วหรือ 1 แก้ว ในระหว่างมื้อจิบน้ำดื่มตลอดทั้งวัน โดยรวมแล้วควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 8-10 แก้ว
3. กินอาหารแต่พอดี ปริมาณอาหารที่กินแต่ละมื้อไม่ควรมากเกินไป เพื่อให้การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ในการย่อยอาหารแต่ละครั้งไม่ทำงานหนักจนเกินไป การกินอิ่มเกินไปจะทำให้อาการของโรคกระเพาะหายช้า ขณะเดียวกันการปล่อยให้ท้องหิวเกินไปก็ไม่เป็นผลดีกับโรคกระเพาะ
4. ไม่ควรกินจุบจิบหรือถี่จนเกินไป เพราะการกินอาหารจุบจิบจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรด และน้ำย่อยออกมาตลอดเวลาและมากขึ้น ทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้าได้ นอกจากนี้ หลังกินอาหารแต่ละครั้งควรอยู่ในท่านั่งหรือยืนไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้อย่างดีที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง
5. กินอาหารให้ครบหมวดหมู่ และเลือกอาหารที่ย่อยง่าย ขณะกินอาหารก็ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของกระเพาะอาหารไม่ให้หนักจนเกินไป
6. หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และไขมัน เพราะจะย่อยยากกว่าอาหารจำพวกข้าว-แป้ง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงจำพวกอาหารทอด อาหารผัดที่ใช้น้ำมันมาก สำหรับเนื้อสัตว์ควรปรุงให้สุก เพราะเนื้อสัตว์ที่ดิบๆ สุกๆ จะย่อยได้ยากขึ้น เลือดเนื้อสัตว์จำพวก ปลา กุ้ง ไก่ จะย่อยได้ง่ายกว่าเนื้อวัวหรือเนื้อหมู
7. ไม่ดื่มนมบ่อยและมากเกินไป เพราะนมมีโปรตีนสูงอาจไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำย่อยออกมามาก จึงแนะนำให้ดื่มนมตามปกติของคนคนนั้น เช่น ดื่มวันละ 1 แก้ว โดยไม่จำเป็นต้องดื่มเพิ่มมากขึ้น หากมีอาการโรคกระเพาะก็ให้กินยาลดกรดหรือยาเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหาร หรือยาสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการปวดท้องแบบโรคกระเพาะ
8. หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นน้ำย่อย ได้แก่อาหารที่มีรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด เช่น แกงรสเผ็ดจัด ของดอง น้ำอัดลม น้ำชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลังที่มีสารกาเฟอีนมาก อาหารที่แข็งหรือมีกากมาก ตลอดจนอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด อาหารเหล่านี้จะไปกระตุ้นเซลล์ให้ผลิต น้ำย่อยมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยง
9. งดหรือลดปริมาณการดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ลง และไม่ควรดื่มก่อนอาหารหรือขณะที่ท้องว่างอย่างเด็ดขาด เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร
10. งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้าลง และมีโอกาสเกิดเป็นแผลซ้ำใหม่ได้ง่ายกว่าคนไม่สูบบุหรี่
11. ไม่เครียด เพราะในขณะที่เราเครียด จะมีการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนเกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร และลำไส้มีอาการหดตัวมากกว่าปกติ ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวด รวมถึงทำให้ทรมานให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรรู้จักผ่อนคลายความเครียด ลดความวิตกกังวลลง
12. งดการใช้ยาแก้ปวดทุกชนิด และยารักษาโรคกระดูก ไขข้ออักเสบ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา กลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจจำเป็นต้องกินยาป้องกันโรคกระเพาะร่วมไปด้วย
ข้อควรระวัง : ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวดท้องรุนแรง หรือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ถ่ายเป็นเลือดสด หรือสีดำเหลว ควรรีบไปพบแพทย์
ขอให้คุณระลึกอยู่เสมอค่ะว่า โรคแผลในกระเพาะอาหารมักเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและรักษาโรคกระเพาะอาหารอยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ มิฉะนั้น แผลในกระเพาะอาหารอาจกลับมาหาคุณอีกเมื่อไหร่ก็ได้
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com