ผ้าเบรกรถยนต์..ควรเปลี่ยนเมื่อไหร่?
advertisement
ระบบต่างๆ ในรถยนต์เป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ควรใส่ใจดูแล เพื่อให้มีสภาพการใช้งานที่สมบูรณ์ที่สุด นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการขับขี่ที่คล่องตัวแล้ว ยังมีผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนนด้วย ในส่วนของระบบเบรกก็เช่นกัน เป็นสิ่งที่นักขับไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่มีผลต่อระบบเบรกของรถยนต์ก็คือผ้าเบรกนั่นเองค่ะ ผ้าเบรกนั้นเมื่อใช้ไปได้ระยะเวลาหนึ่งก็จะเกิดการเสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน จึงเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่จะต้องหมั่นดูแล และเมื่อพบว่าผ้าเบรกรถยนต์จำเป็นต้องเปลี่ยน ก็ควรทำการเปลี่ยนอย่างทันท่วงทีเพื่อประสิทธิภาพในการเบรกที่สมบูรณ์ หลายคนคงมีคำถามในใจกันแล้วนะคะว่า ผ้าเบรกรถยนต์..ควรเปลี่ยนเมื่อไหร่? ตาม Kaijeaw.com ไปดูกันค่ะ
advertisement
ระบบเบรกรถยนต์ในปัจจุบันเป็นแบบไฮโดรลิก สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ
1. ดรัมเบรก (Drum Brake) ดรัมเบรกจะติดตั้งแน่นกับลูกล้อ เบรกจะทำงานเมื่อมีการถ่างก้ามเบรกให้เสียดสีกับตัวเบรกซึ่งครัมเบรกจะทำให้ล้อหยุด ดรัมเบรกใช้มากในรถบรรทุก ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก รวมทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลบางรุ่น รถบางรุ่นอาจใช้ระบบนี้เฉพาะล้อหลัง[ads]
ข้อดี – มีความสามารถในการหยุดรถได้เร็ว เพราะก้ามเบรกและดรัมเบรกถูกยึดติดกับดุมล้อ เมื่อเหยียบเบรก คนขับใช้แรงกดดันเบรกน้อย รถบางรุ่นไม่จำเป็นต้องใช้หม้อลมเบรกช่วยในการเบรก
ข้อเสีย – ความร้อนที่เกิดจากการเสียดสี ระหว่างผ้าเบรกในดรัมเบรกนั้น ไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้ดี บางครั้งทำให้ผ้าเบรกมีอุณหภูมิสูงมาก มีผลทำให้ประสิทธิภาพการเบรกลดลง
2. ดิสก์เบรก (Disc Brake) เป็นระบบเบรกระบบใหม่ที่นิยมกันมาก เบรกจะทำงานโดยดันผ้าเบรกให้สัมผัสกับจานเบรกเพื่อให้รถหยุด รถยนต์บางรุ่นใช้ดิสก์เบรกทั้ง 4 ล้อ บางรุ่นใช้เฉพาะล้อหน้า
ข้อดี – ลดอาการเฟด (เบรกหาย) เนื่องจากอากาศถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่าดรัมเบรก นอกจากนั้นเมื่อเบรกเปียกน้ำผ้าเบรก จะสลัดน้ำออกจาก ระบบได้ดี ในขณะที่ดรัมเบรกน้ำจะขังอยู่ภายใน และใช้เวลาถ่ายเทค่อนข้างที่จะช้า
ข้อเสีย – ไม่มีระบบ Servo action หรือ multiplying action เหมือนกับดรัมเบรก ผู้ขับจึงต้องออกแรงมากกว่า จึงต้องใช้ระบบเพิ่มกำลัง เพื่อเป็นการผ่อนแรงขณะเหยียบเบรกทำให้ระบบดิสเบรกมีราคาค่อนข้างแพงกว่าดรัมเบรก
ชนิดของผ้าดิสก์เบรก
ปัจจุบันชนิดของผ้าดิสก์เบรกที่มีจำหน่ายกันอยู่ในท้องตลาด สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
1. กลุ่มผ้าดิสก์เบรกราคาถูก ที่มีส่วนผสมของสาร Asbestos หรือที่เรียกกันว่า "ผ้าใบ" จะมีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ คุณสมบัติในการเบรกจะใช้ได้ดี ในความเร็วต่ำๆ หรือระยะต้นๆ แต่เมื่อความเร็วสูงขึ้น ประสิทธิภาพในการเบรกจะลดลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญมีอายุการใช้งานที่สั้น ผ้าดิสก์เบรกหมดเร็ว นอกจากนั้นแร่ใยหินมีผลต่อสุขภาพ ในปัจจุบันจึงมีการใช้น้อยลง
2. กลุ่มที่ไม่มีส่วนผสมของสาร Asbestor หรือกลุ่ม Non-organic แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1) ชนิดที่มีส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นโลหะ (Semi-metallic) จะเป็นผ้าดิสก์เบรกของผู้ผลิตจากยุโรปหรืออเมริกา เช่น Bendix, Mintex
2) ชนิดที่มีส่วนผสมของสารอนินทรีย์อื่น ๆ จะเป็นผ้าดิสก์เบรกของผู้ผลิตจากญี่ปุ่นเช่น Akebono โดยในกลุ่มนี้จะมีราคาที่สูงกว่าผ้าเบรกที่ผสมสาร Asbestos แต่ในเรื่องคุณภาพสัมประสิทธิ์ของความฝืด ความทนทานต่อการสึกหรอนั้นมีสูงกว่า
สามารถสังเกตอาการของผ้าเบรกหมดได้ดังนี้
1. มีอาการเบรกต่ำ คือ เมื่อเหยียบเบรกแล้วรู้สึกว่าต่ำกว่าปกติ หรือถ้าเป็นเบรกหลัง (ในบางรุ่น) จะรู้สึกว่าต้องดึงเบรกมือสูงกว่าปกติ นั่นแสดงว่าผ้าเบรกสึกหรอมากแล้ว
2. มีไฟเตือนโชว์ (ไฟเบรกมือ) ที่ตัวเรือนไมล์ ติดค้างเป็นสีแดง เกิดจากการสึกหรอของผ้าเบรก ที่จับอยู่กับจานเบรก โดยสึกหรอจนบางลงทำให้น้ำมันเบรกในกระปุกต่ำกว่าขีด MIN หน้าคอลแทคของสวิตช์ไฟในกระปุกน้ำมันไม่ต่อกันไฟจึงโชว์ค้าง
3. เปลี่ยนผ้าเบรก เมื่อพบว่าผ้าเบรกมีความหนาน้อยกว่า 4 มม. และก้ามเบรกมีผ้าเบรกน้อยกว่า 1 มม. หรือผ้าเบรกเหลือน้อย กว่า 30%
4. หากเบรกแล้วมีเสียง คล้ายเหล็กครูด เสียดสีกันอาจเกิดจากคลิปผ้าเบรกครูดกับจานเบรก เป็นสัญญาณเตือนว่าควรเปลี่ยนผ้าเบรกได้ ทั้งนี้สิ่งผิดปกตินี้อาจจะไม่ได้เกิดจากผ้าเบรกหมดเสมอไป จึงควรให้ช่างตรวจดูความผิดปกติอื่นๆ ประกอบด้วย
5. เปลี่ยนผ้าเบรกทุกๆ 25,000 กม. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการขับและการใช้เบรกหากบรรทุกของหนัก และขับรถด้วยความเร็วสูง อายุผ้าเบรกอาจจะสั้นกว่า หากเป็นผ้าเบรกที่มีส่วนผสมของโลหะสูง อายุของผ้าเบรกจะยาวกว่าผ้าเบรกเกรดที่มีส่วนผสมของโลหะต่ำ หรือผ้าเบรกเกรดโรงงานผลิตรถยนต์ OEM
6. เปลี่ยนผ้าเบรกทันทีที่เห็นรอยร้าวบนดิสก์เบรกหรือก้ามเบรก รมถึงหากพบว่าผ้าเบรกเมื่อมีคราบน้ำมันหรือจารบีมากผิดปกติ[ads]
ข้อควรรู้
ควรตรวจเช็กผ้าเบรกเป็นประจำสม่ำเสมอ ทุกๆ 3 เดือนหรือระยะทาง 5,000 กม. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตรวจแปรหลายๆ อย่างด้วย สำหรับระบบดิสก์เบรกนั้นผ้าเบรกจะหมดเร็วกว่าระบบดรัมเบรกประมาณ 2 เท่า หรือว่ากันง่ายๆ คือเปลี่ยนผ้าดิสก์เบรก 2 ครั้ง จึงเปลี่ยนผ้าดรัมเบรก 1 ครั้ง
สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังจากเปลี่ยนผ้าเบรกแล้ว ผู้ขับขี่ไม่ควรขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง หรือมีการเบรกอย่างแรงหรือกระชั้นชิด เพราะการเบรกจะยังไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจไม่ค่อยอยู่ เนื่องจากผ้าเบรกต้องมีการปรับหน้าสัมผัสให้เข้ากับจานเบรกสักระยะหนึ่งก่อน ควรใช้เบรกปกติ ไม่เบรกอย่างรุนแรง เพื่อให้เนื้อผ้าเบรกได้ปรับตัวได้อย่างช้าๆ ผ้าเบรกจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดอายุการใช้งาน และลดปัญหาเรื่องเสียงดังอีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะ ว่ารถยนต์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการเดินทางของคนเราอย่างมาก ดังนั้นเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน ผู้ขับขี่ควรใส่ใจในการดูแล บำรุง และรักษารถยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของระบบเบรกและผ้าเบรก ที่มีความสำคัญมากส่งผลต่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง คนที่คุณรัก และทรัพย์สินค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com