ปัญหาเท้าแตก..แก้ได้ไม่ยากอย่างที่คิด!!
advertisement
ปัญหาผิวแห้งแตกคงจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสาวๆ เพราะหลายคนต้องการเปิดเผยบริเวณส้นเท้าที่เรียบสะอาด จึงกลายเป็นภาระที่ต้องรักษาผิวส้นเท้าให้อยู่ในสภาพปกติเพื่ออวดผู้อื่นได้ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว แพทย์หญิงดวงกมล ทัศนพงศากุล อายุรแพทย์โรคผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงสาเหตุของส้นเท้าแตกว่า ส้นเท้าแตกเกิดได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งในคนผิวแห้งผิวหนังบริเวณฝ่าเท้าจะหนา และสูญเสียน้ำจากผิวมากกว่าปกติ ผิวหนังจึงไม่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ผิวหนังจึงแห้ง ถ้าผิวหนังแห้งมากผิวจะแตกเป็นร่องลึกหนา ซึ่งรอยแตก ร่องลึกหนาจะกลายเป็นสะสมของเชื้อโรค ทำให้มองดูไม่สวยงามและอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างอื่นได้อีกด้วย
advertisement
[ads]
พญ.ดวงกมล กล่าวต่อว่า ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดส้นเท้าแตกได้ เช่น โรคภูมิแพ้ ผื่นแพ้ ภาวะโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือการใส่รองเท้าที่คุณภาพไม่ดี ทำให้ผิวหนังที่ส้นเท้าที่รับน้ำหนักมากเกินไป เวลาเดินลงน้ำหนัก ทำให้ผิวหนังบริเวณส้นเท้าได้รับแรงกระแทกมาก จึงทำให้ส้นเท้าหนาขึ้นและเกิดการแตกได้ง่ายขึ้น
นอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีปัญหาเสริมที่ทำให้เกิดภาวะส้นเท้าแตกได้อีก เช่น สภาพแวดล้อม สำหรับคนที่ทำงานในออฟฟิศในห้องปรับอากาศทั้งวัน ความชื้นในห้องปรับอาการจะต่ำกว่าภายนอก ส่งผลให้ผิวแห้งทั้งตัวรวมทั้งเท้าด้วย หรือแม้แต่การทำความสะอาดผิวด้วยน้ำอุ่นและสบู่บ่อยๆ ก็ถือเป็นการล้างน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวออกเกินความจำเป็น ทำให้ผิวเท้าแห้งและเกิดภาวะส้นเท้าแตกได้
advertisement
สำหรับแนวทางการดูแลรักษาไม่ให้เกิดภาวะส้นเท้าแตก อายุรแพทย์โรคผิวหนัง แนะนำว่า "ไม่ควรปล่อยให้ผิวหนังแห้ง" เพราะมีแนวโน้มที่ทำให้ส้นเท้าแตกได้ง่าย หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก ทำให้ผิวแห้งง่าย เช่นในห้องแอร์ ซึ่งหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้ทาครีมที่เท้าและส้นเท้า ซึ่งครีมที่ใช้สำหรับทาส้นเท้าก็ควรมีคุณสมบัติในการเพิ่มความชุ่มชื้นและทำให้ผิวอ่อนนุ่มชึ้น ก่อนนอนควรสวมถุงเท้าเอาไว้ เพื่อให้ความชุ่มชื้นอยู่ตลอดคืน ซึ่งหากทำแบบนี้อยู่เป็นประจำจะทำให้ส้นเท้าหายจากอาการแตกได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้เท้าสัมผัสน้ำบ่อยๆ หรือแช่น้ำนานๆ
advertisement
[yengo]
ส่วนการเลือกรองเท้าที่จะสวมใส่ พญ.ดวงกมล แนะนำว่าควรเลือกรองเท้าหุ้มส้น ที่บุพื้นภายในที่นุ่มนวลและใส่ถุงเท้านุ่มๆ ร่วมด้วยก็จะเป็นการช่วยส้นเท้าได้ดีมาก สำหรับรองเท้าที่ควรหลีกเลี่ยงคือ รองเท้าเปิดส้น เพื่อลดการสัมผัสความเย็นที่ทำให้ผิวบริเวณส้นเท้าเสียความชุ่มชื้นรวมถึงไม่ควรเดินด้วยเท้าเปล่าเป็นเวลานานๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังบริเวณส้นเท้าเกิดการเสียดสี ผิวหนังบริเวณส้นเท้าจะเริ่มหนาและแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดผิวหนังส่วนนี้จะแห้งและแตกในที่สุด
advertisement
พญ.ดวงกมล ทัศนพงศากุล
อายุรแพทย์โรคผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี
ขอขอบคุณสำหรับเนื้อหาดีดีจาก : www.vejthani.com