โรคกระดูกพรุน..โรคอันตรายที่ป้องกันได้!!
advertisement
คนเราเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมเกิดการเสื่อมไปตามกาลเวลา อวัยวะในร่างกายทุกส่วน อย่างเช่นเรื่องของกระดูกเช่นกัน เรารู้จักกันดีในเรื่องของโรคกระดูกพรุน ปัญหาเรื่องตัวเตี้ยลง หลังค่อมจนเงยไม่ขึ้น ขาโก่งงอ หรือกระดูกหักง่ายหรือแตก ต้องระวังไม่ให้หกล้ม แม้ว่าจะเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นโรคกระดูกพรุน เพราะเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลสุขภาพบำรุงกระดูกที่ดีพอตั้งแต่ยังวัยเยาว์ถึงวัยหนุ่มสาว ดังนั้น Kaijeaw.com จึงอยากจะชวนให้ทุกคนมาเรียนรู้และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระดูกพรุนกันค่ะ
โรคกระดูกพรุน คือ สภาวะที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงร่วมกับการเสื่อม และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างภายในของกระดูก ทำให้เกิดความผิดปกติทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เป็นผลให้กระดูกเปราะบาง มีความแข็งแรงลดลงและเกิดการแตกหักได้ง่าย เนื่องจากกระดูกเป็นอวัยวะที่ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่มีการสร้างและสลายตลอดเวลา คือ มีการละลายกระดูกในรูปแคลเซียมออกมาสู่เลือด ขณะเดียวกันก็มีการสร้างกระดูกใหม่โดยใช้แคลเซียมจากอาหารที่กินเข้าไป ทำให้ได้เนื้อกระดูกใหม่เกิดขึ้น โดยปกติเนื้อกระดูกเก่าในรูปของแคลเซียมจะถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะและทางอุจจาระวันละประมาณ 600-700 มิลลิกรัม เพื่อให้เกิดความสมดุล เราจึงจะต้องกินแคลเซียมให้เพียงพอกับที่สูญเสียไป มิฉะนั้นร่างกายจะดึงแคลเซียมจากกระดูกมาตลอดเวลา มีผลทำให้กระดูกถูกทำลายมากกว่าการสร้าง เนื้อกระดูกก็จะบางลงในที่สุด
[ads]
advertisement
การสร้างและการสลายของกระดูก
> ปกติในเด็กจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลาย ทำให้กระดูกเด็กมีการเจริญและใหญ่ขึ้น จนมีความหนาแน่นมากที่สุดเมื่ออายุประมาณ 25 – 30 ปี และจะคงที่อยู่ระยะหนึ่งจนถึงอายุประมาณ 40 ปี
> ในผู้หญิงเมื่อมีอายุมากขึ้นการสลายของเนื้อกระดูกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนการสร้างตามไม่ทันทำให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกทั่วร่างกายค่อยๆ ลดลง และจะลดลงอย่างรวดเร็ว (3-5% ต่อปี) ในระยะ 5 ปีแรกหลังหมดประจำเดือน เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนทำให้การสลายกระดูกขาดตัวยับยั้ง
> สำหรับผู้ชายจะมีการลดระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามอายุที่มากขึ้น จึงทำให้มีการสูญเสียเนื้อกระดูก 0.5-1% ต่อปีเช่นเดียวกันแต่ไม่มีช่วงที่มีการสูญเสียเนื้อกระดูกมากๆ อย่างในหญิงวัยหมดประจำเดือน
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้นจะมีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะในผู้หญิง (ผู้หญิงจะสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชายถึง 2-3 เท่า)
advertisement
สัญญาณเตือนของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนจะไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งเมื่อเกิดการเจ็บปวดกระดูก เกิดการบาดเจ็บ โดยส่วนมากผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน มักจะมาพบแพทย์ด้วยการหกล้มหรือกระแทกไม่รุนแรงแต่เกิดกระดูกหัก หรือมาพบแพทย์เพราะมีปัญหาว่าตัวเตี้ยลง หลังค่อมหรือหลังโกงว่าเดิม ซึ่งมักจะพบได้ในกรณีที่เป็นกระดูกพรุน และเกิดการหักชนิดทรุดตัวของกระดูกสันหลัง
ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมีดังนี้
1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น
2. เพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือถูกตัดรังไข่ออกทั้งสองข้าง
3. พบว่าชนผิวขาวหรือชาวเอเชีย มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากกว่าชนผิวดำ
4. บุคคลที่มีรูปร่างเล็กหรือมีน้ำหนักตัวน้อย
5. พันธุกรรม มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
6. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการเป็นประจำ
7. ถูกแสงแดดน้อย ทำให้ได้รับวิตามินดีที่จำเป็นสำหรับการดูดซึมแคลเซียมน้อย
8. ขาดการออกกำลังกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
9. สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
10. มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานมากผิดปกติไทรอยด์เป็นพิษ โรคตับ และโรคเรื้อรังอื่นๆ เป็นต้น
11. ได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
12. ขาดสารอาหาร
การตรวจและวินิจฉัย
ปัจจุบันแพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนได้ โดยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density : BMD) ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง และไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ แก่ผู้ป่วย อีกทั้งยังใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีก็ได้ผล ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ การตรวจด้วยวิธีการนี้สามารถวัดได้ว่าเนื้อกระดูกมีปริมาณเท่าใดและสามารถใช้ติดตามผลการรักษาได้
advertisement
การป้องกัน
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งทำได้โดยการสะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยก่อนอายุ 30 ปี ซึ่งหากพ้นวัยนี้ไปแล้วร่างกายจะไม่สามารถสะสมเนื้อกระดูกให้เพิ่มได้อีก เนื่องจากกระบวนการสลายมีมากกว่าการสร้าง จึงทำได้แต่เพียงการรักษาเนื้อกระดูกที่มีอยู่ไม่ให้ลดไปจากเดิม โดยมีหลักในการป้องกันและรักษาเช่นเดียวกัน คือ
[ads]
1. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมวดหมู่ ทานแคลเซียมให้มากเพียงพอ อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย ผักใบเขียว เป็นต้น
2. ระวังไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะการกินโปรตีนมากเกินไป จะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากผิดปกติ
3. ไม่กินอาหารรสเค็มจัดหรือมีโซเดียมมาก เพราะเกลือโซเดียมที่มากเกินจะทำให้การดูดซึมของแคลเซียมจากลำไส้ลดลง ร่างกายจึงไม่สามารถนำแคลเซียมมาใช้ได้ และยังทำให้การสูญเสียแคลเซียมทางไตมากขึ้นด้วย
4. หลีกเลี่ยงการบริโภคสิ่งที่ชักนำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม สูบบุหรี่ ชา กาแฟ เป็นต้น
5. ระวังการหกล้ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพราะความสามารถในการทรงตัวลดลง จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านไม่ให้เสี่ยงต่อการล้ม เช่นพื้นที่ไม่ลื่น ไม่มีสิ่งของวางเกะกะ
6. การใช้ยาป้องกันและรักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาใช้ยาตามความเหมาะสม
7. ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาที่มีสารสตีรอยด์ ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ ยาเหล่านี้เร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย ดังนั้น หากจำเป็นต้องกินเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30-40 นาที เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น รวมทั้งช่วยพยุงความหนาแน่นของเนื้อกระดูกเอาไว้ได้
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้แค่เพียงการรักษาตามอาการ และป้องกันการแตกหักของกระดูก ดังนั้นแล้วใครที่ไม่อยากเป็นโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้น ก็ควรเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหันมาเน้นบำรุงกระดูกให้มากขึ้นกันแล้วนะคะ เริ่มตั้งแต่วันนี้ ส่งผลป้องกันโรคกระดูกพรุนในอนาคตได้ค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com