เด็กสมาธิสั้นมีลักษณะอย่างไร?
advertisement
ถ้าคุณเป็นผู้ต้องดูแลเด็กในวัยเรียนอายุประมาณ 7-12 ปี และสงสัยว่าเด็กที่คุณกำลังดูแลอยู่อาจมีปัญหาจากสมาธิบกพร่อง รอคอยได้ยากหรือเคลื่อนไหวมากเกินไป คุณอาจจะให้เด็กๆ ที่คุณสงสัยอ่านและตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะช่วยเหลือเขาได้ถูกต้องอย่างไร ถ้าเขาเป็นโรคสมาธิสั้น…
คุณเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ (หมายถึงเด็ก) ความหมาย
1. วอกแวก = มีปัญหาในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว
2. เคลื่อนไหวมากเกินไป = มีปัญหาในการอยู่นิ่งๆ
3. หุนหันพลันแล่น ใจร้อน = มักจะทำอะไรโดยไม่ทันได้คิด
4. ไม่มีสมาธิไม่จดจ่อ = มีปัญหาในการเอาใจใส่ให้ความใส่ใจ
จงเลือกข้อที่ตรงกับลักษณะของคุณ
– เวลาที่ครูกำลังพูด ฉันรู้สึกว่ายากที่จะตั้งใจฟัง
– เวลาที่ฉันควรจะทำงาน ฉันมักจะคิดถึงสิ่งอื่นๆ
– ฉันมีปัญหาในการเริ่มต้นทำงาน
– ฉันมีปัญหาในการทำงานให้เสร็จ
– ฉันทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ได้คิดก่อน
– ฉันไม่เป็นระเบียบ
– ฉันนั่งนิ่งๆ ได้ยาก
– ฉันมีปัญหาในการผูกมิตรหรือการคบเพื่อนนานๆ
– ฉันมีปัญหาในการทำตามกฏกติกา
– ฉันลืมว่าฉันจะทำอะไรบ่อยๆ
– เวลาอยู่ในห้องเรียนเสียงของเด็กอื่นๆ ทำให้ฉันวอกแวก
– ฉันมักจะหาของไม่เจอบ่อยๆ
– เวลาเช้าฉันเตรียมตัวให้พร้อมที่จะไปโรงเรียนให้ตรงเวลาได้ยาก[ads]
ถ้าคุณมีลักษณะเหล่านี้ ก็ควรจะคุยกับผู้ใหญ่ที่รู้จักเพื่อช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหาของคุณนะคะ
เด็กที่มีปัญหาหลายข้ออย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดผลเสียในชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้คนรอบข้างไม่ชอบ ถูกผู้ใหญ่ดุบ่อยๆ หรือทำให้ผลการเรียนไม่ดีเท่าที่ควร ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นโรคสมาธิสั้นได้ ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะได้รักษาให้ถูกต้องต่อไปค่ะ
นักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์พบว่า สาเหตุที่เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีอาการแบบนั้นก็เพราะว่ามีความผิดปกติของสารสื่อนำประสาท ซึ่งทำหน้าที่ส่งข้อมูลจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง จึงทำให้สมองบางส่วนที่ทำหน้าที่สร้างความเอาใจใส่และทำหน้าที่ยับยั้งหรือ เบรคให้คนเราเคลื่อนไหวช้าลง ทำงานไม่ดีเท่าที่ควรแต่เด็กที่มีอาการเหล่านี้ไม่ได้มีสติปัญญาแตกต่างจาก เด็กทั่วไป
ยา
เด็กหลายคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะได้รับประทานยาเพื่อช่วยให้มีความใส่ใจได้ และสามารถควบคุมตัวเองให้ช้าลงได้ คุณจะได้มีผลการเรียนที่ดีขึ้น ความประพฤติที่ดีขึ้น และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นค่ะ เด็กส่วนมากมักจะไม่มีอาการข้างเคียงที่เกิดจากยา แต่ก็มีเด็กบางคนที่กินยาแล้วอาจจะมีผลข้างเคียงได้ ซึ่งถ้าคุณทานยาอะไรก็ตาม แล้วมีอาการผิดปกติ คุณก็ควรจะพูดคุยกับแพทย์ที่จ่ายยาให้คุณ เพื่อที่เขาจะได้ช่วยเหลือคุณ
advertisement
สิ่งที่คุณควรจะสังเกตตัวเองหลังจากการทานยามีดังต่อไปนี้
– ระยะเวลาที่สามารถเอาใจใส่จดจ่อสิ่งที่ไม่ชอบได้นานขึ้น
– ความวอกแวกลดลง
– ทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ครบถ้วน
– ควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น
– นอนหลับยากหรือไม่
– ปวดหัวหรือไม่
– ปวดท้องหรือไม่
– เบื่ออาหารหรือไม่
– มารู้จักโรคสมาธิสั้นกันอีกนิด
โรคสมาธิสั้น หมายถึงโรคที่เป็นปัญหาของการควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งจะต้องเป็นมาตั้งแต่เด็ก โดยจะมีอาการหลัก คือ ควบคุมสมาธิไม่ได้ ส่วนจะมีอาการซนอยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่นด้วยหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ว่าเป็นชนิดเหม่อลอยหรือชนิดซน ส่วนมากชนิดเหม่อลอยจะพบในเด็กผู้หญิง และชนิดซนจะพบในเด็กผู้ชาย แต่ก็ไม่เสมอไป
สาเหตุของโรคนี้ในปัจจุบันเท่าที่ทราบก็คือ เกิดจากระดับของสารสื่อประสาทในสมอง คือ นอร์อีพิเนฟฟรีน และโดปามีนในสมอง บริเวณผิวสมองส่วนหน้าของสมองส่วนหน้า (พรีฟรอนทอลคอร์เท็กซ์) สไตเอตรัม และนิวเคลียสแอ็กคัมเบ็นส์ของคนที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีน้อยกว่าปกติ
ดังนั้นการรักษาที่ตรงจุดก็คือ การให้ยาที่ช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทดัง กล่าวที่สมองส่วนนี้ให้เพิ่มขึ้นเป็นปกติได้ ซึ่งในปัจจุบันยาที่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ว่ารักษาโรคสมาธิสั้นได้ ผลดีที่สุดมีอยู่สองกลุ่มคือ[ads]
1. ยากระตุ้นประสาท ปัจจุบันชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ เม็ททิลเฟนนิเดท ซึ่งออกฤทธิ์จับกับตัวรับโดปามีน ทำให้ระดับของโดปามีน โดยเฉพาะที่บริเวณผิวสมองส่วนหน้าของสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน การรับรู้เวลาและการควบคุมอารมณ์ ทำงานได้ดีขึ้น
2. ยาที่ไม่กระตุ้นประสาท ได้แก่ อะโทม็อกซีทีน ซึ่งออกฤทธิ์โดยห้ามการเก็บกลับของสารสื่อประสาท นอร์อีพิเนฟฟรีน แล้วทำให้มี นอร์อีพิเฟฟรีนและโดปามีนเพิ่มขึ้นได้ที่ผิวของสมองส่วนหน้าได้เช่นกัน
แน่นอนว่าการให้ยาทุกชนิดเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องศึกษาให้ดีก่อนจนเข้าใจ และพ่อแม่ย่อมไม่ต้องการให้ยาที่จะเกิดผลข้างเคียงกับลูก แต่เนื่องจากบางคนเคยได้ยินข้อมูลผิดๆ มาเกี่ยวกับยารักษาสมาธิสั้น เช่น การกินยาจะทำให้กดประสาท ทำให้ไม่โต ทำให้ติดยา เป็นต้น จึงไม่ยอมให้ลูกรับประทานยา โดยพ่อแม่อาจลืมคิดไปว่าถ้าลูกไม่ได้รักษา จะมีผลเสียตามมาในอนาคต เช่น ปัญหาด้านสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัว ปัญหาการเข้าสังคม ระหว่างเด็กกับครูและเพื่อน ปัญหาการเรียน ปัญหาขาดความมั่นใจในตนเอง ปัญหาความเหน็ดเหนื่อยของผู้ดูแลเด็ก เด็กเองต้องเสียเวลาในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไม่ปกติเหมือนคนอื่นๆ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพูดคุยกับแพทย์ และผู้ปกครองที่ตัดสินใจรักษาลูกที่เป็นสมาธิสั้นด้วยยามาแล้วแต่ไม่มีปัญหา ว่ามีวิธีการแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทราบวิธีดูแลลูกจะได้ตัดสินใจได้เหมาะสม
advertisement
ต่อไปนี้เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยารักษาสมาธิสั้นที่พ่อแม่และเด็กๆ ควรรู้ค่ะ
ยารักษาสมาธิสั้นเป็นยากระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ไม่ใช่ยากดประสาท ดังนั้นเด็กจะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ได้ซึมลง ถ้าซึมลงต้องกลับไปปรึกษาแพทย์ เพราะแสดงว่ายานั้นมีผลข้างเคียงหรือขนาดของยาที่กินไม่เหมาะกับลูกของคุณ แพทย์จะได้เปลี่ยนยาหรือปรับขนาดยาให้เหมาะสม
ยารักษาสมาธิสั้นในขนาดที่สูงเกินไปสำหรับเด็ก จะทำให้เด็กเบื่ออาหาร นอนหลับยาก หรือมีผลข้างเคียงอื่นๆ ได้ ซึ่งถ้ายังกินยานั้นต่อไปในขนาดเดิมก็จะตามมาด้วยปัญหาตัวผอมและตัวเตี้ยได้ จริง ดังนั้น คุณจึงต้องรีบแจ้งแพทย์เพื่อแพทย์จะได้ลดขนาดยาลงให้เด็กทานอาหารได้เป็น ปกติ หรือถ้าจำเป็นต้องให้ยานั้นในขนาดเดิม แพทย์ก็จะให้ยากระตุ้นให้อยากอาหารมากขึ้นทานไปด้วยกัน เพื่อแก้ไขผลข้างเคียงนั้นได้ค่ะ เพราะตัวยาเพิ่มสมาธิเองไม่ได้ทำให้เด็กตัวเล็ก แต่การที่เด็กบางคนตัวเตี้ยเกิดจากการที่เด็กทานอาหารน้อยลงเป็นเวลานานโดย ไม่ได้แก้ไข ซึ่งน้อยคนที่จะให้ลูกทานยาโดยไม่พาไปพบแพทย์ ดังนั้นแพทย์จะวัดส่วนสูง และชั่งน้ำหนักตัวทุกครั้งอยู่แล้ว จึงสามารถรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ที่การเจริญเติบโตเริ่มมีปัญหาต้องแก้ไขอย่างไร
ถ้าผู้ปกครอง เด็กๆ และคุณครูต้องการให้หมอเขียนบทความอะไรเกี่ยวกับเรื่องสมาธิสั้นสามารถส่งอี เมล์มาที่โรงพยาบาลมนารมย์นะคะ ทีมงานของเราจะพยายามให้สิ่งที่เป็นประโยชน์เท่าที่เวลาจะมีค่ะ
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก :โรงพยาบาลมนารมย์ โดย พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น