เส้นเลือดแดงใหญ่แตกเซาะ ภาวะด่วนที่ต้องรีบรักษา
advertisement
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เตือนเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง เหนื่อย หายใจไม่ทัน อย่าชะล่าใจ เสี่ยงเส้นเลือดแดงใหญ่แตกเซาะ หากไม่ได้รับการรักษาเร่งด่วนอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ร่างกายมีหลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นหลอดเลือดแดงหลักที่ลำเลียงเลือดจากหัวใจไปสู่อวัยวะต่างๆ โดยความผิดปกติที่มักเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงใหญ่ คือ การขยายตัว (โป่งพอง) ของหลอดเลือดจนกลายเป็นถุงขังเลือดไว้ และเมื่อหลอดเลือดมีสภาวะโป่งพองมากขึ้น จะมีความเสี่ยงที่หลอดเลือดจะแตกออก ที่เรียกว่า เส้นเลือดแดงโป่งพองแตกเซาะ ถือเป็นภาวะที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตที่บ้านหรือเสียชีวิตในขณะเดินทางมาโรงพยาบาล รวมถึงในบางครั้งอาจได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคอื่น ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที [ads]
advertisement
เส้นเลือดแดงใหญ่แตกเซาะ เกิดจากการปริแตกของเส้นเลือดหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะกดเบียดของน้ำหรือเลือดในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะที่อวัยวะต่างๆขาดเลือดไปเลี้ยง ซึ่งเป็นผลจากการแตกเซาะ การฉีกขาดของผนังด้านในของเส้นเลือดแดงใหญ่บางส่วน ทำให้เลือดไหลเซาะเข้าไปในผนังของเส้นเลือด ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่แตกเซาะพบในผู้ป่วยที่มีอายุเฉลี่ย 50 ถึง 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ น้ำหนักเกิน และพันธุกรรม [ads2]
advertisement
แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรงทันที เหนื่อย หายใจไม่ทัน บางรายอาจมีอาการปวดหลังหรือปวดท้องขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นเลือดที่มีการแตกเซาะ นอกจากนี้อาจหมดสติหรือมีภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือด แนวทางการวินิจฉัยที่ดีและแม่นยำที่สุด คือ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซึ่งต่างจากการเอกซเรย์ปอดทั่วไป เพื่อค้นหาตำแหน่งของเส้นเลือดที่มีการแตกเซาะ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น การปริแตกหรือการแตกเซาะเข้าไปในเส้นเลือดของอวัยวะต่างๆ [ads3]
advertisement
สำหรับการรักษาเส้นเลือดแดงใหญ่แตกเซาะควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วโดยการผ่าตัด มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายถึงเสียชีวิต โดยแพทย์จะคำนึงถึงตำแหน่ง ขนาดของเส้นเลือด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธีและรักษาชีวิตผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย Patcharee Bonkham ขอขอบคุณที่มาจาก : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์