กินยาอย่างไรให้ไตไม่พัง? คนที่ต้องกินยาประจำ ต้องรู้ อย่าชะล่าใจ!
advertisement
ยาเป็นอีกหนึ่งปัจจัย สำคัญที่ใช้ในการ บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วย ซึ่งในตัวยาแต่ละชนิดนั้นจะมีสารที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งการใช้ยานั้นแม้สามารถใช้รักษาทำให้หายป่วยและร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้เสมอคือ ยาทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีอันตรายเฉกเช่นเดียวกับที่มีคุณประโยชน์ โดยปัจจุบันข้อมูลจากกรมการแพทย์พบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยกว่า 100,000 คน เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง
นอกจากต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ต้องเสียเวลามาฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องเป็นประจำ
อีกทางเลือกหนึ่งคือการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายสูง และโอกาสที่จะได้รับไตมาเปลี่ยนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ได้เปลี่ยนไตแล้วก็ยังไม่จบ ต้องดูแลไตที่ถูกเปลี่ยนถ่ายมาใหม่ด้วยการรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิต ซึ่งยาก็มีทั้งอาการข้างเคียง พร้อมข้อปฏิบัติที่ต้องทำตามและสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง
เนื่องในวันไตโลกที่กำลังจะมาถึงซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม 2562 ถ้าไม่อยากต้องกลายเป็นหนึ่งในแสนคนนั้น เรามาดูแลไตของเรากันเถอะ เริ่มตั้งแต่วันนี้ยังไม่สาย [ads]
advertisement
เภสัชกรหญิงแพรพิไล สรรพกิจจานนท์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญคือ การใช้ยา และสมุนไพรที่ทำอันตรายต่อไต โดยคนไข้ไตที่เกิดจากการควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงไม่ได้ พบว่าไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
ในการรักษาแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกยาและขนาดยาที่เหมาะสมกับสภาวะของคนไข้ และติดตามค่าการทำงานของไตเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไข้ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และมาตรวจติดตามผลการรักษาเป็นประจำ เมื่อควบคุมโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้แล้ว ความเสี่ยงในการเป็นโรคไตเรื้อรังก็จะลดน้อยลง
แต่ประเด็นหลักที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันคือการซื้อยามารับประทานเอง ยาที่เป็นอันตรายต่อไตที่พบปัญหามากที่สุดคือกลุ่มยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่คนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก เพราะหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เป็นยาที่ใช้กันอยู่แล้วในชีวิตประจำ ไม่ว่าจะใช้เป็นยาลดไข้ ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน อาการปวดจากโรคเกาต์ ข้อเข่าเสื่อม ปวดประจำเดือน และแก้อาการปวดฟัน
ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน นาโปรเซน ไดโคลฟีแนค เป็นต้น
เนื่องจากยากลุ่มนี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้การทำงานของไตแย่ลง หากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสดซ้ำซ้อนก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ยาอื่นๆ ที่พบว่ามีผลต่อไต ได้แก่ ยาต้านจุลชีพบางชนิด เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
advertisement
ที่อันตรายกว่านั้นคือการรับประทานยาชุด ยาสมุนไพร ยาบำรุง และอาหารเสริม ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ระบุตัวยา และส่วนประกอบที่ชัดเจนซึ่งมักมีการลักลอบใส่สารที่เป็นอันตรายและเป็นพิษต่อไต ทำให้เนื้อไตอักเสบเฉียบพลันหรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ [ads2]
หากมีอาการเหนื่อยง่าย บวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนโรคไต แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจการทำงานของไต และดูแลรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่เนื้อไตจะถูกทำลายอย่างถาวร จนกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรัง
เภสัชกรหญิงแพรพิไลกล่าวย้ำว่า กินยาอย่างไรไตไม่พัง อย่างแรกคือลดปริมาณการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนซื้อยารับประทานเอง ไม่ควรซื้อยารับประทานเองอย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้ไตก็จะอยู่ให้ร่างกายเราพร้อมใช้ไปตลอดชีวิต
ขอขอบคุณที่มาจาก : khaosod.co.th