สิ่งที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านใหม่ จะไม่ทำให้ภาระหนี้ตึงมือ
advertisement
หลายคนคงจะคิดว่าถ้ามีเงินพอที่จะซื้อบ้านก็คงจะมีบ้านเป็นของตนเองสักหลัง มีครอบครัวที่อบอุ่นแต่เนื่องจากบ้านเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงพอสมควร ฉะนั้นก่อนที่เราจะตัดสินใจที่จะซื้อบ้านหรือสร้างบ้านสักหลังควรที่จะศึกษาข้อมูลให้ดี
เพื่อที่จะได้บ้านที่ตรงความต้องการของเรามากที่สุด และไม่เกินงบประมาณที่เรามีอยู่ แล้วก่อนซื้อบ้านเราควรศึกษาข้อมูลในเรื่องใดบ้าง วันนี้ kaijeaw.com จะพาไปศึกษาเรื่องที่ต้องรู้ก่อนซื้อบ้านใหม่กันค่ะ
advertisement
1.การตั้งงบประมาณ-ซื้อตามกำลังทรัพย์
การเลือกบ้านที่เหมาะสมควรเป็นไปตามกำลังความสามารถในการผ่อนชำระ ไม่ควรซื้อบ้านราคาสูงเกินกำลัง เพราะแทนที่จะมีชีวิตสุขสบายกับบ้านหลังใหม่ สามารถแบกรับภาระหนี้ในการผ่อนชำระต่อไปในอนาคตอีกนับสิบๆ ปี เพราะปกติเมื่อเราทำงานได้ตามเกณฑ์ทั่วไปที่ธนาคารกำหนด คือทำงานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี ก็สามารถกู้ซื้อบ้านได้แล้ว หากซื้อบ้านที่มีราคาสูงเกินความสามารถก็จะกลายเป็นทุกข์เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินมาผ่อนชำระค่าบ้าน จนไม่มีเวลาได้พักผ่อนหรือใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้น โดยทั่วไป ค่าผ่อนบ้านในอัตราที่เหมาะสม คือ 25% ของรายได้ และมากสุด ไม่ควรเกิน 35% เพราะจะทำให้ภาระหนี้ตึงมือ จนทำให้บ้านหลุดมือไปได้
2.การกำหนดความต้องการ
ในการเลือกซื้อบ้าน ผู้ซื้อจะต้องกำหนดความต้องการของตนเองว่ามีบ้านในฝันแบบไหน โดยความหมายของคำว่าบ้านที่อยากได้ อาจจะไม่ใช่บ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินขนาดใหญ่ แต่อาจเป็นบ้านในรูปแบบอื่น เช่น บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียม ซึ่งในแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการตกแต่งบ้าน ราคา รูปแบบ และเนื้อที่ใช้สอย โดยบ้านในแต่ละประเภท จะมีลักษณะที่แตกต่างกัน
3.การสำรวจโครงการที่เปิดขาย
หลังจากที่เลือกประเภทของบ้านตามที่ต้องการแล้ว อย่าลืมดูในเรื่องของทำเลที่ตั้งว่าสะดวกกับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือไม่ เช่น ใกล้ที่ทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และสถานีตำรวจหรือไม่ เมื่อคิดว่าที่ตั้งเป็นที่น่าพอใจแล้ว ผู้ซื้อควรตรวจสอบรายละเอียดโครงการต่าง ๆ ดังนี้
– ตรวจสอบใบอนุญาตจัดสรรที่ดินจากผู้ประกอบการ หรือขอตรวจสอบได้ที่กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดที่โครงการนั้นตั้งอยู่
– ตรวจสอบว่าโครงการได้รับการอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคาร โดยเฉพาะในรายที่ผู้ประกอบการมีการแยกทำสัญญาขายที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารไว้เป็นคนละฉบับ ผู้ซื้อควรให้ผู้ประกอบการได้แนบแบบแปลนที่ขออนุญาตไว้ท้ายสัญญาที่กระทำระหว่างกัน
– ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ เช่น สอบถามจากผู้อยู่อาศัยในโครงการเก่าที่ผู้ประกอบการดำเนินการมาแล้วในอดีต หรือตรวจสอบจากรายชื่อผู้ประกอบการที่ถูกขึ้นบัญชีดำไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
– ตรวจสอบขนาด และผังโครงการ ว่ามีความเหมาะสมกับสภาพการอยู่อาศัยหรือไม่ ซึ่งการวางผังที่เหมาะสมกับสภาพการอยู่อาศัย จะต้องดูไม่แออัดมากจนเกินไป
– ตรวจสอบภาระผูกพันของที่ดิน หรือโครงการที่มีต่อสถาบันการเงิน เพราะส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะขอสินเชื่อในการดำเนินโครงการโดยนำที่ดินที่นำมาทำการจัดสรรเป็นหลักทรัพย์ค้ำ
ประกัน ดังนั้นผู้ซื้อควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่า เมื่อถึงระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ภาระผูกพันนี้ยังคงอยู่ หรือสามารถปลอดจำนองได้ทันที
– ตรวจสอบรูปแบบโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งการดูแค่บ้านตัวอย่าง อาจไม่เพียงพอ ผู้ซื้อสามารถขอให้ผู้ประกอบการนำชมตัวอย่างโครงการอื่น ๆ ที่ผู้ดำเนินการได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นไปแล้ว เพื่อเป็นการตรวจสอบการดำเนินงานที่ผ่านมาของว่ามีความสมบูรณ์เรียบร้อยดีหรือไม่
– ตรวจสอบระบบน้ำประปา ระบบน้ำทิ้ง ระบบบ่อบำบัด และระบบไฟฟ้า ว่ามีการวางระบบให้ใช้การได้สะดวก มีความปลอดภัย และมีแผนรองรับในกรณีที่เกิดเหตุหรือไม่
การวางมัดจำ และทำสัญญาซื้อขาย
advertisement
4.ก่อนทำสัญญาจะซื้อ หรือสัญญาวางมัดจำนั้น หากเป็นการซื้อบ้านพร้อมที่ดินผู้ซื้อควรตรวจสอบสำเนาโฉนดทั้งด้านหน้า และด้านหลัง รวมถึงตรวจสอบทะเบียนบ้านเพื่อยืนยันสิทธิ์ของเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของที่ดินเดิม แต่ในกรณีที่เป็นอาคารชุด หรือห้องชุด อาจต้องดูสัญญาจะซื้อห้องชุด โดยตัวอย่างเอกสารสัญญาเหล่านี้สามารถดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เน็ต เรื่องการวางเงินมัดจำ ต้องขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย โดยเงื่อนไขต่าง ๆ จะต้องมีระบุไว้ในเอกสารสัญญาอย่างชัดเจน
การติดต่อขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
advertisement
คนส่วนใหญ่นิยมกู้เงินมาซื้อบ้านแต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่นิยมซื้อด้วยเงินของตัวเอง อาจจะด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่หนึ่งในนั้นคือ ไม่อยากเสียดอกเบี้ย ในความเป็นจริงแล้ว อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านเป็นอัตราที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับเงินกู้ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านยังมีโอกาสได้สิทธิ์ลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ได้อีกซึ่งในแง่การลงทุน ยิ่งกู้ได้มากยิ่งดี เพราะนั่นหมายถึง เราไม่ต้องใช้เงินตัวเองในการลงทุน เงินก้อนที่จะจ่ายสดไปกับการซื้อบ้าน สู้นำไปลงทุนเพิ่มพูนมูลค่าน่าจะดีกว่า ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดของแต่ละคน
การรับมอบบ้าน
หลังจากดำเนินการเรื่องการขอสินเชื่อเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการรับมอบบ้าน โดยทางสถาบันการเงินที่อนุมัติสินเชื่อจะเป็นผู้ดำเนินการให้ ซึ่งจะเป็นการนำโฉนดที่ดินไปดำเนินการ และผู้ซื้อเพียงแค่ชำระค่าโอน จากนั้นรอจนได้โฉนดที่ดินใหม่ ที่ระบุข้อความว่าผู้ซื้อได้เป็นเจ้าของที่ดิน หรือบ้านนี้โดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งผู้ซื้อต้องตรวจสอบเลขที่โฉนด หรือรายละเอียดต่าง ๆ ที่ระบุไว้ว่าถูกต้องตามจริงหรือไม่ จากนั้นเมื่อได้รับเช็คเงินกู้จากทางสถาบันการเงิน ก็ทำการชำระเงินกับผู้ขาย และชำระเงินกับสถาบันการเงินให้ครบถ้วนตามที่ระบุในเอกสารสัญญาต่าง ๆ
5.การนัดวันโอน
เมื่อการขอสินเชื่อดำเนินการเสร็จสิ้น และได้รับการอนุมัติแล้ว จากนั้นผู้ซื้อต้องทำการนัดวันโอนกับสถาบันการเงินที่ผู้ซื้อได้ยื่นขอสินเชื่อไว้ หรือเป็นการทำเรื่องโอนระหว่างผู้ขาย กับสถาบันการเงินที่ติดจำนองอยู่ ก่อนที่มีการโอนระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอีกครั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระค่าใช้จ่าย ที่ผู้ขายยังคงค้างต่อสถาบันการเงินเดิม ว่าจะมีผลกระทบกับการซื้อบ้านของผู้ซื้อหรือไม่ หรือหากไม่แน่ใจ อาจสอบถาม หรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความชัดเจน
อาจจะทำให้ตัดสินใจในการซื้อบ้านได้รอบคอบมากขึ้น ได้บ้านที่ตรงตามความต้องการในการอยู่อาศัยและตามงบประมาณที่ตั้งไว้ และที่สำคัญอย่าลืมติดตามดูผลงานในอดีตที่บริษัทต่างๆหรือโครงการนั้นเคยสร้าง ว่าเคยมีปัญหาในเรื่องใดบ้างหรือไม่ค่ะ
เรียบเรียงโดย: Kaijeaw.com