คะน้าเม็กซิโกหรือผักไชยา ผักบ้านๆแต่ประโยชน์มหาศาล
advertisement
คะน้าเม็กซิโก ผักไชยา หรือที่หลายๆคนเรียกกันติดปากว่าเป็นผักผงชูรส เนื่องจากเป็นผักมีรสชาติคล้ายผงชูรส วันนี้เราจะขอพาไปทำความรู้จักกับผักคะน้าแม็กซิโก พร้อมสรรพคุณของผักชนิดนี้กันดีกว่า
advertisement
คะน้าเม็กซิโก (Chaya) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cnidoscolus chayamansa McVaugh ชื่อพ้องคือ Cnidoscolus aconitifolius (Mill.) I.M.Johnst. เป็นพืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ยางพารา ฝิ่นต้น หนุมานนั่งแท่น สลัดได และสบู่ดำ คะน้าเม็กซิโกไม่ใช่พืชท้องถิ่นของประเทศไทย แต่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของประเทศเม็กซิโก ในแถบของคาบสมุทรยูกาตัน พบมีการกระจายพันธุ์อยู่ในกัวเตมาลา และอเมริกากลาง ลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือ เป็นไม้พุ่ม อายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ มีความสูงของลำต้นประมาณ 2-6 ม. เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลมีน้ำยางสีขาวอยู่ภายใน ลักษณะของใบคล้ายกับใบเมเปิ้ล ขอบใบแยกออกเป็น 3-4 แฉก ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ในแต่ละช่อประกอบไปด้วยดอกย่อยจำนวนมาก โดยทั่วไปมักตัดแต่งเป็นทรงพุ่มให้มีความสูงประมาณ 2 ม. เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยว (1-2) [ads]
การขยายพันธุ์คะน้าเม็กซิโก
การขยายพันธุ์ทำได้โดยการนำกิ่งที่ค่อนข้างแก่มาตัดเป็นท่อนๆ แล้วชำลงถุงดำ ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์กิ่งจะเริ่มแตกใบอ่อน รอให้ต้นแข็งแรงจึงย้ายลงปลูกในดิน การดูแลรักษาค่อนข้างง่าย เพราะคะน้าเม็กซิโกเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และไม่ค่อยมีแมลงรบกวน (3) สำหรับต้นที่ตัดกิ่งมาปลูกทางผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรรอให้ต้นไม้มีอายุประมาณ 2 ปี เพื่อให้ต้นแข็งแรงเสียก่อนจึงค่อยเก็บมาบริโภค และไม่ควรเก็บใบจากต้นเกินกว่า 50% เพราะจะทำให้ต้นโทรมได้ง่ายๆ (4)
advertisement
การใช้พื้นบ้าน
การใช้พื้นบ้านในต่างประเทศคือ ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ช่วยย่อยอาหาร (1-2) คุณค่าทางโภชนาการ คะน้าเม็กซิโกเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ใบคะน้าเม็กซิโก 100 ก. ประกอบด้วย น้ำ 85.3%, คาร์โบไฮเดรตรวม 4.2%, โปรตีน 5.7%, ไขมัน 0.4%, ใยอาหาร 1.9% มีแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม 199.4 มก., โพแทสเซียม 217.2 มก., ฟอสฟอรัส 39.0 มก., เหล็ก 11.4 มก. มีวิตามิน เช่น วิตามินซี 164.7 มก. และวิตามินเอ 0.085 มก. นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าคะน้าเม็กซิโกเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าผักใบเขียวอื่นๆ 2-3 เท่า (1, 5)
advertisement
การนำมารับประทาน
ส่วนที่นิยมนำมารับประทานคือใบและยอดอ่อน ซึ่งมีรสชาติคล้ายกับคะน้า หลังจากเด็ดยอดอ่อนมา ให้นำมาปอกเปลือก ตัดใบ แล้วแยกก้านใบทิ้งเพราะส่วนนี้จะแข็งมาก ไม่นิยมนำมารับประทาน หลังจากล้างน้ำให้สะอาดแล้วจึงนำไปประกอบอาหาร เช่นเดียวกับผักคะน้าหรือผักทั่วๆ ไป เช่น ผัดน้ำมันหอย ชุบแป้งทอด ลวกทำยำหรือจิ้มกับน้ำพริก ผัดเผ็ด ผัดน้ำมันจิ้มน้ำพริก ทำราดหน้า ผัดกับไข่ หรือเนื้อสัตว์ต่างๆ หรือทำแกงส้ม (3) แม้ในบางพื้นที่จะมีการรับประทานคะน้าเม็กซิโกแบบดิบและขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานในรูปแบบดังกล่าว แต่เนื่องจากใบและยอดของคะน้าเม็กซิโกมีสารพิษในกลุ่มไฮโดรไซยานิก ไกลโคไซด์ (hydrocyanic glycosides) หากได้รับในปริมาณมากหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดอาการพิษจากการได้รับสารไซยาไนด์ (cyanide) ได้ ซึ่งสารดังกล่าวสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ดังนั้นก่อนรับประทานทุกครั้ง ควรทำให้สุกโดยการผ่านความร้อนอย่างน้อย 15-20 นาที และไม่แนะนำให้รับประทานแบบดิบ (1, 6-7)
advertisement
หลายคนอาจสับสนระหว่างคะน้าเม็กซิโกกับพืชอื่นๆ เช่น มะละกอ และฝิ่นต้น เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกัน โดยที่ฝิ่นต้นนั้นเป็นพืชพิษ หากน้ำยางถูกผิวหนังจะระคายเคือง คัน บวมแดง อักเสบ ปวดแสบปวดร้อน พองเป็นตุ่มน้ำใส ถ้าโดนตาจะทำให้ตาอักเสบ อาจทำให้ตาบอดชั่วคราวหรือถาวร ถ้ารับประทานเมล็ดเข้าไปจะทำให้ปากบวมพอง น้ำลายไหล เยื่อบุแก้ม ลิ้น เพดาน และหน้าบวม ลิ้นเคลื่อนไหวลำบาก กลืนอาหารยาก พูดไม่ถนัด กระเพาะอักเสบ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อาจมีอาการชาตามแขนขาหรือเป็นอัมพาตชั่วคราว และหากรับประทานเมล็ดในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนรับประทานควรตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าเป็นคะน้าเม็กซิโกไม่ใช่พืชชนิดอื่นที่เป็นพิษ
สารสำคัญ
สารสำคัญที่พบในคะน้าเม็กซิโกเป็นสารในกลุ่ม flavonoids และ phenolic acids นอกจากนี้ยังพบสารในกลุ่ม saponins และ alkaloids ด้วย (8-9)
advertisement
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าคะน้าเม็กซิโกมีฤทธิ์ต้านจุลชีพหลายชนิด (10) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (11) ช่วยปกป้องหลอดเลือดและหัวใจ (11) ต้านอนุมูลอิสระ (8) (11-12) ลดน้ำตาลในเลือด (1, 9, 12-13) และลดไขมันในเลือด (14) แต่ทั้งหมดเป็นการศึกษาในรูปแบบของสารสกัดและสารสำคัญที่แยกได้จากส่วนใบ เช่น สารในกลุ่ม flavonoids, alkaloids และยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง
การศึกษาความเป็นพิษ
การศึกษาความเป็นพิษของสารสกัด CHCl3:MeOH (1:1) ของใบในหนูเม้าส์ พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 2 ก./กก. และการให้สารสกัดในขนาด 1 ก./กก. เป็นเวลานาน 28 วัน ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษกับสัตว์ทดลอง เมื่อให้สารสกัดเข้าทางกระเพาะอาหาร (10) และขณะนี้ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานในรูปแบบของอาหาร แต่สำหรับผู้ที่แพ้พืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE ควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังการรับประทานคะน้าเม็กซิโก
คะน้าเม็กซิโกเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมและเริ่มมีการนำมาปลูกอย่างแพร่หลาย อาจเพราะเป็นผักที่มีรสชาติดีและมีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการรับประทานคะน้าเม็กซิโกแบบดิบ เพราะหากรับประทานในปริมาณมาก หรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการสะสมของสารพิษไซยาไนด์ จนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นควรปรุงให้สุกก่อนนำมารับประทานทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยมหิดล