อบจ.โคราช จ่ายเช็ค51.5ล้าน ซื้อซิโนฟาร์ม 5.8 หมื่นโดส ฉีดให้ปชช.ฟรี
advertisement
นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยความคืบหน้าการวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ เป็นผู้ดำเนินการสั่งจองและจัดซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นจากราชวิทยาลัยฯแล้ว ที่ได้เปิดรายชื่อ 54 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มในระยะที่ 1 นี้ให้กับประชาชน จำนวน 375,320 คน
ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาได้รับจัดสรรมา 58,000 โดส สำหรับประชาชนในพื้นที่ 29,000 ราย จากที่สั่งจองไปเบื้องต้น 100,000 โดส ให้ประชาชน 50,000 ราย แต่ทั้งนี้ยังต้องรอความชัดเจนจากราชวิทยาลัยฯ อีกว่าจะให้ดำเนินการต่อในขั้นตอนไหน อย่างไรเกี่ยวกับระเบียบการชำระเงิน ก่อนที่จะจ่ายเงินก้อนแรก 50% ให้กับราชวิทยาลัยฯ ส่วนอีก 50% จะจ่ายในวันรับวัคซีน ซึ่งตอนนี้ได้เตรียมเงินไว้พร้อมแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้รับวัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรกนี้เมื่อไร
advertisement
ล่าสุดนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ อบจ.ได้จัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอบจ.นครราชสีมา ได้รับจัดสรรมาจำนวน 58,000 โดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ 29,000 คน จากที่สั่งจองไปเบื้องต้น 100,000 โดส ให้ประชาชน 50,000 คน แต่เนื่องด้วยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำเป็นต้องจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ให้ทั่วถึง จึงจัดสรรให้ อบจ.นครราชสีมา ล็อตแรก 58,000 โดส
advertisement
ในส่วนของการจัดสรรวัคซีนนั้น จะเป็นอำนาจของ สสจ.โดยอบจ.ไม่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องนี้ ฉะนั้นเมื่อ อบจ. ได้รับวัคซีนมา จะส่งมอบให้กับ สสจ.โดยเร็ว เพื่อไปบริหารจัดการตามแผนที่เสนอให้ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) จังหวัดนครราชสีมา หรือ ศบค.จ.นม.[ads]
advertisement
และทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รับทราบตามขั้นตอน เนื่องจาก อบจ. เป็นเพียงหน่วยงานกลางที่ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัด ให้จัดสรรงบประมาณท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีน เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในล็อตแรกนี้มี 7 กลุ่ม ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ได้แก่ องค์กรการศึกษา, บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุข, องค์กรการกุศล, ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ชุมชนแออัด, ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยติดเตียง และ พระ/นักบวช
ขอขอบคุณที่มาจาก: KORAT WATCH News