ญี่ปุ่นอึ้งรถไฟ KIHA 183 ไทยแปลงโฉมใหม่วิ่งฉลุยได้อีกครั้ง
advertisement
เมื่อย้อนกลับไปในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 หรือปีที่แล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับมอบรถไฟ “มือสอง” ของญี่ปุ่นที่มอบให้ฟรีๆ มาถึงเมืองไทย เป็นขบวนรถไฟดีเซลราง “KIHA 183” จำนวน 17 คัน ของบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ที่ปลดระวางไปแล้ว
เจ้ารถไฟ KIHA 183 ทำหน้าที่ของมันอย่างดีวิ่งฝ่าลมหนาวท่ามกลางหิมะในฮอกไกโดมานานกว่า 40 ปี ก่อนถูกรถไฟที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีกว่าเข้ามาแทนที่ ในปี 2559
ทำให้ KIHA 183 ทั้งหมด ถูกจอดทิ้งไว้หลายปี ก่อนที่ต่อมาส่วนหนึ่งจะตกเป็นของ รฟท.ดังกล่าว โดย รฟท.ประกาศจัดซื้อจัดจ้าง เลือกบริษัท ดอยโกร โพรเจค ประเทศไทย จำกัด เป็นผู้ขนย้าย มีค่าใช้จ่ายรวม 42.5 ล้านบาท โดยนับค่าภาษีนำเข้าและแวตอีกส่วนหนึ่ง
ก่อนที่ รฟท.จะตกปากรับคำทางเอกชนญี่ปุ่น ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปตรวจสอบสภาพของรถไฟดังกล่าวว่า คุ้มค่าต่อการนำมาใช้วิ่งในเมืองไทยหรือไม่ เพราะเมื่อมาจอดในโรงซ่อมที่มักกะสันแล้ว จะต้องขัดสีฉวีวรรณ ทั้งโป๊ว ลอกสีเดิมออก และพ่นสีใหม่เข้าไป รวมถึงการจัดเครื่องยนต์ลงเสริมบางส่วน
advertisement
ดังนั้น เมื่อขบวนรถไฟมือสองทั้งหมดมาถึงโรงซ่อม ได้เริ่มปรับความกว้างของเพลาล้อเดิม 1.067 เมตร ให้มีความกว้างเพียง 1 เมตร ด้วยเครื่องอัดไฮดรอลิก และการปรับปรุงเก้าอี้ที่นั่ง ห้องน้ำ ระบบไฟฟ้าต่างๆ ฯลฯ นำมาวิ่งได้ในเชิงพาณิชย์
นับตั้งแต่มีข่าวญี่ปุ่นยกรถไฟเก่าให้ฟรีๆ จนกระทั่งขนกลับมาถึงประเทศไทย ก็เกิดกระแสดราม่าอย่างหนักของคนไทย ทั้งเสียงหนุนและเสียงไม่เห็นด้วย บรรดานักเลงคีย์บอร์ดรุมถล่มด้วยอคติ บ้างก็ว่าไปเอาซากเหล็กมาทำไม คุ้มค่าแค่ไหน ทั้งที่หลายคนไม่เคยรู้ว่า รฟท.มีประสบการณ์ในการปรับแต่งรถไฟมือสองสภาพดีให้วิ่งทำรายได้อย่างงดงามมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ตู้ SRT Prestige และ SRT VIP Train รถไฟชั้นเฟิร์สคลาส
advertisement
หากเปรียบเทียบกับการจัดซื้อใหม่แล้ว จะเห็นว่าการปรับปรุงรถบริจาคสามารถช่วยประหยัดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก นอกจากค่าขนย้าย 42.5 ล้านบาท หรือ 2.5 ล้านบาทต่อคัน ค่าใช้จ่ายจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดัดแปลงล้อเฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคัน หากจัดซื้อตู้โดยสารใหม่จะมีค่าใช้จ่ายถึง 80-100 ล้านบาทต่อคัน
ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับการรถไฟ ได้มากกว่าการซื้อตู้โดยสารใหม่ถึง 400 เท่า!!!
กระทั่งในวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย นำเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนไทยและเทศ โดยเฉพาะนักข่าวญี่ปุ่นหลายสถานีร่วมทำข่าวกันอย่างคึกคัก รถไฟโฉมใหม่ เหมือนไม่เคยผ่านการใช้งานมาด้วยซ้ำพร้อมกับประเดิมทดลองเปิดเดินรถจากสถานมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ เป็นรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง จำนวน 2 คัน และรถดีเซลรางปรับอากาศ แบบไม่มีห้องขับ จำนวน 1 คัน เป้าหมายเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2565 เพื่อเสริมศักยภาพในการเดินทาง และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
advertisement
ผู้ว่าการ รฟท.อธิบายว่า รถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จำนวน 17 คัน ประกอบด้วย รถดีเซลรางปรับอากาศ แบบมีห้องขับสูง (High Cab) 40 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน, แบบไม่มีห้องขับ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน และแบบมีห้องขับต่ำ (Low Cab) 52 ที่นั่ง จำนวน 1 คัน โดยปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว 3 คัน
ผลการทดลองวิ่ง ทุกอย่างราบรื่นไร้รอยต่อ KIHA 183 วิ่งอย่างนิ่มนวล กลับมาเป็นม้าเหล็กหนุ่มอีกครั้ง ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนี้ รฟท.จะเร่งปรับปรุงรถคันอื่นที่เหลือ เพื่อเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566
advertisement
นับว่าสร้างความฮือฮาให้กับนักข่าวญี่ปุ่นรวมทั้งคนในประเทศญี่ปุ่นที่ติดตามข่าวนี้กันมากมาย เนื่องจากคนญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นิยมใช้รถไฟเพื่อเดินทางระยะสั้นและระยะไกล หรือวิ่งข้ามเมือง ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา จนถึงคนทำงาน ตะลึงกับ KIHA 183 ที่ รฟท.เหมือนเสกให้กลับมาวิ่งได้ ดั่งย้อนยุคไปสู่กาลเวลาเดิม
อีกทั้งการรถไฟยังคงเก็บป้ายชื่อต่างๆ ภาษาญี่ปุ่น ตั้งแต่ตัวถังด้านนอก จนถึงด้านในห้องผู้โดยสารเหมือนเดิมทุกประการ เพื่อคงกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นทั้งหมด พร้อมเพิ่มคำภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย ช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ
advertisement
ชาวญี่ปุ่นบางคนที่เข้ามาอ่านข่าวในสื่อของญี่ปุ่นถึงกับร้องว่า รถไฟ KIHA 183 ดูไปก็คล้ายกับหุ่นยนต์การ์ตูน “กันดั้ม” ไม่มีผิด ด้วยเหลี่ยมตัวหน้ารถ รวมทั้งการใช้สีขาวเป็นพื้นและสลับด้วยสีม่วงอ่อนๆ เป็นเฉดสีดั้งเดิม
นอกจากนั้น วิศวกรและทีมงานปรับตำแหน่งโคมไฟบนหัวรถมาติดตั้งเป็นไฟหน้ารถตำแหน่งขวา-ซ้าย แทน เพื่อให้เหมาะกับสภาพความสูงของรถไฟ รวมถึงดัดแปลงบันไดให้สามารถขึ้น-ลงกับชานชาลาต่ำได้
advertisement
ชาวญี่ปุ่นอีกหลายคนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เห็นในข่าวนี้ว่า “ขอขอบคุณประเทศไทยที่ดูแลมันอย่างดี” “ไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีช่างที่เก่งขนาดนี้ สามารถฟื้นชีวิตรถไฟที่ขึ้นสนิมจอดทิ้งไว้ให้กลับมาแล่นได้อีกครั้ง” บางคนยังบอกว่า “เคยตีตั๋วขึ้นรถไฟขบวน KIHA 183 มาแล้ว พร้อมจะกลับมานั่งในเมืองไทย เมื่อก่อนต้องวิ่งฝ่าหิมะในฮอกไกโด แต่ครั้งนี้มาวิ่งท่ามกลางสภาพอากาศร้อนของเมืองไทย”
บางคอมเมนต์ก็ระบุว่า “ไม่น่าเชื่อว่าจะเห็น KIHA 183 มาวิ่งส่งเสียงให้เห็นอีก แม้จะคนละประเทศก็ตาม” “ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ายกให้เมียนมาไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำอะไรเลย น่าเสียดายมาก สู้ยกให้ประเทศไทยดีกว่า” รวมทั้งอีกหลายคอมเมนต์ยืนยันว่า “จะไปเที่ยวเมืองไทยเพื่อให้เจ้า KIHA 183 ช่วยพาไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ”
advertisement
การปรับปรุงรถไฟมือสองครั้งนี้ นับเป็นก้าวย่างที่น่าประทับใจและสนใจว่า ญี่ปุ่นพร้อมจะส่งมอบรถไฟเก่ามาให้ประเทศไทยอีกหรือไม่
ขณะที่ทาง รฟท.เตรียมแผนปรับแต่งซ่อมบำรุงใหญ่ชุดขบวน KIHA 183 ทั้งหมด เพื่อเสริมสมรรถนะให้บริการเดินรถได้ในระยะยาวต่อไป และเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อกำหนดเส้นทางให้บริการ โดยจะเริ่มให้บริการในเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป ขบวนสำหรับเทศกาลในวันสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวนก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการสูงสุด คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคม 2565
แน่นอนว่านักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาคอมเมนต์ในข่าวต่างตื่นเต้นและอดใจไม่ไหวแล้ว พร้อมจะมาเที่ยวเมืองไทยในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้าเป็นต้นไป หวังได้บันทึกภาพความทรงจำร่วมเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของรถไฟ KIHA 183 ที่วันนี้กลับมาทำหน้าที่อย่างไม่ขาดตกบกพร่องอีกครั้ง
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.com