พลิกอีกตลบ เจ้าของสวนมาเอง โชว์หลักฐานแน่นโดนสวมรอยใบรับรอง GAP
advertisement
กลายเป็นเรื่องราวดราม่า ที่เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย สำหรับกรณีที่กรมศุลกากรจับทุเรียนเถื่อนได้กว่า 8 ตัน มูลค่า 1 ล้านบาท แต่สุดท้ายทางเจ้าของล้งทุเรียนใน จ.จันทบุรี ออกมาเปิดเผยว่า ทุเรียนที่ซื้อมาเป็นทุเรียนที่ซื้อมาอย่างถูกต้องใน จ.ศรีสะเกษ เพื่อนำส่งขายไปต่างประเทศ เพราะทุเรียนใน จ.จันทบุรีไม่เพียงพอ
advertisement
นอกจากนี้ ยังยอมรับว่า การลักลอบผ่านด่านทุเรียนทำได้ยาก เพราะขนกัน 4-5 ชั่วโมง ผ่านอีกหลายด่าน ซ้ำร้ายเมื่อถูกจับ กฎหมายก็เปิดโอกาสให้ศุลกากรนำไปขายหน่วยงานภายใน ทุกหน่วยราชการในจังหวัด 50 ลูก มูลค่า 7,500 บาท แบบนี้ผิดหรือไม่
ล่าสุดเจ้าของสวนทุเรียน ‘ศรีสะเกษ’ ยืนยัน ทุเรียนเถื่อนที่ศุลกาการสระแก้วจับ ไม่ใช่ของสวนตน แม้ปรากฎชื่อในสำเนาใบ GAP ในรถบรรทุกทุเรียนที่ถูกจับ เหตุล้งมาตัดทุเรียนวันที่ 24 แต่รถทุเรียนถูกจับวันที่ 23 คาดเป็นการสวมใบรับรอง GAP
advertisement
จากกรณีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.66 เจ้าหน้าที่ศุลกากร อรัญประเทศ สระแก้ว ได้ทำการจับกุมรถบรรทุกทุเรียนเต็มคันรถกว่า 8 พันกิโลกรัม ที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์ ต.วังสมบูรณ์ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว โดยแจ้งข้อหาลักลอบนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ต่อมามีเจ้าของล้งรับซื้อทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี อ้างเป็นเจ้าของทุเรียนในรถรถบรรทุกที่ถูกจับกุมได้ ร้องไปทางเครือข่ายประชาชนสระแก้วว่า ทุเรียนที่ถูกจับดังกล่าว ไม่ใช่ทุเรียนลักลอบนำเข้า แต่เป็นทุเรียนที่ซื้อมาจาก จ.ศรีสะเกษ
advertisement
วันที่ 27 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปที่ บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่หมู่ 10 บ้านซำขี้เหล็ก ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านของนายสมัย สุยคำไฮ อายุ 55 ปี ซึ่งมีชื่อปรากฎใน ใบสำเนา GAP อยู่ในรถยนต์บรรทุกทุเรียนที่ถูกจับกุม โดยนายสมัย ได้นำเอาใบสัญญาซื้อขายทุเรียนลงวันที่ 22 มิ.ย. 2566 ที่ระบุว่า ตกลงขายทุเรียนหมอนทองประมาณ 10,000 ลูก ยกเว้น ท็อป หนอน ต่ำกว่า 1.5 กก. ในราคา กก.ละ 115 บาท โดยสัญญาระบุว่า มีการวางมัดจำกับผู้ขายวันที่ 22 มิ.ย.66 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท เงินโอนเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย ของนายสมัย สุยคำไฮ และได้นำเอาใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร หรือ GAP ที่เป็นฉบับตัวจริงมาให้ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบด้วย
advertisement
นายสมัย ซึ่งเป็นเจ้าของสวนทุเรียนภูเขาไฟ กล่าวว่า ตนได้ขายทุเรียนภูเขาไฟไปจริง โดยทำสัญญาซื้อขายในวันที่ 22 มิ.ย. 66 ซึ่งตนได้มอบใบรับรอง GAP ให้กับล้งที่มารับซื้อ โดยล้งได้ใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพใบรับรอง GAP ของตนไปก่อน ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 66 เนื่องจากว่าล้งต้องการนำเอาไปประกอบการทำสัญญาซื้อขายว่า ซื้อทุเรียนภูเขาไฟจากสวนของตนจริง และต่อมา ล้งได้เข้ามาทำการตัดทุเรียนเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ซึ่งรถบรรทุกทุเรียนได้ออกไปจากสวนของตนเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น.
แต่กรณีที่เป็นข่าว เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ทำการจับกุมรถบรรทุกทุเรียนในวันที่ 23 มิ.ย. 66 เวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งเป็นคนละวัน โดยแจ้งว่า รถบรรทุกทุเรียน มีใบรับรอง GAP ของตน และมีลายมือชื่อลงนามกำกับไว้ด้วย
advertisement
นายสมัย กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่า ลายมือชื่อในใบรับรอง GAP ที่เป็นสำเนาถ่ายเอกสาร และหมายเลขโทรศัพท์นั้นไม่ใช่ของตนแต่อย่างใด อีกทั้งทุเรียนที่ถูกจับกุมก็ไม่ใช่ทุเรียนภูเขาไฟที่ออกไปจากสวนของตน คาดว่า เรื่องนี้น่าจะมีการนำเอาใบรับรอง GAP ของตนไปขาย เพื่อนำไปใช้ในการลักลอบขนทุเรียนเถื่อน โดยจะเอาใบรับรอง GAP ของตนไปแอบอ้างว่า ทุเรียนที่บรรทุกไปเป็นทุเรียนภูเขาไฟ เนื่องจากว่า ทุเรียนภูเขาไฟเป็นทุเรียนที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก จึงคาดว่า อาจจะนำเอาทุเรียนจากที่อื่นไปปลอมทุเรียนเป็นภูเขาไฟศรีสะเกษ เพื่อขายต่อ
ทั้งนี้ ตนขอฝากเตือนพี่น้องเกษตรกรว่า ไม่ควรที่จะมอบใบรับรอง GAP ให้กับผู้ล้งที่มาซื้อทุเรียนโดยที่ไม่ได้มีการลงลายมือชื่อของตนเองกำกับไว้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ล้งที่มารับซื้อทุเรียนภูเขาไฟ นำเอาไปแอบอ้างทุเรียนจากที่อื่นว่าเป็นทุเรียนภูเขาไฟของ จ.ศรีสะเกษ
advertisement
ทางด้าน นายศักดิ์ศรี ชอบดี ผช.ผญบ.ม.10 บ้านซำขี้เหล็ก ต.พราน กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรโทรศัพท์มาสอบถามตนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งตนได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นทุเรียนที่ตัดคนละวัน และการขนส่งก็ไม่ใช่วันเดียวกัน ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนทุกคนในบ้านซำขี้เหล็กได้รับทราบว่า การที่จะขายทุเรียนให้ล้งนั้น ในใบรับรอง GAP จะต้องลงลายมือชื่อและวันที่ , จำนวนที่ซื้อขายเท่าใด , ส่งออกวันใด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการนำเอาใบรับรอง GAP ไปแอบอ้างว่าเป็นทุเรียนภูเขาไฟดัง
ขอขอบคุณที่มาจาก : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว