รับมือวัยทอง ..อย่างมีคุณภาพ !!
advertisement
เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้หญิงทุกคนจะต้องเจอก็คือ ช่วงเวลาของวัยทอง เป็นวัยที่รังไข่สร้างฮอร์โมนออกมาน้อย และไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ โดยมีโอกาสเกิดขึ้นได้เมื่อผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจน 50 ปีสามารถเกิดวัยทองได้ โดยเฉลี่ยคืออายุ 51 ปี ซึ่งในวัยทองมีผลอาจเกิดอาการไม่สบายตัว ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ สมาธิสั้นความจำเสื่อม ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการในระยะสั้น แต่ที่น่ากังวลใจคือปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่น เบาหวานความดันโลหิตสูง เส้นโลหิตในสมองแตก เส้นโลหิตในหัวใจตัน ดังนั้นเมื่อวัยทองมาเยือน เราจะต้องรับมืออย่างไร ? เป็นสิ่งสำคัญค่ะ
advertisement
อาการของผู้หญิงวัยทอง
– ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเช่นมาเร็ว มาช้า มามาก มาน้อย มานาน
– มีอาการร้อนตามตัว หรือมีเหงื่อออก และหนาวสั่นในเวลากลางคืน อาการนี้จะเป็นนาน 1-5 นาที
– มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือปวดตามข้อและกระดูก ไปจนถึงปวดศีรษะ ความจำลดลง
– อาการนอนหลับยาก ตื่นเร็ว บางครั้งอาจจะตื่นกลางคืนและเหงื่อออกมาก
– อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว เครียดง่าย หงุดหงิดโดยไม่มีสาเหตุ โกรธง่าย ใจน้อย ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางคนหลงลืมง่าย เวียนศีรษะ ซึมเศร้า
– สุขภาพผิวหนังเปลี่ยนไปเหนี่ยวย่น เส้นผมแย่ จะหยาบและบาง มีการหลุดร่วงง่าย เกิดอาการแพ้ได้ง่าย
– รูปร่างหุ่นทรงจะเปลี่ยนไป เอวหนาขึ้น ไขมันเพิ่มขึ้น
– การคุมกำเนิด ควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปีหลังประจำเดือนครั้งสุดท้ายผู้ป่วยบางคนจะมีความรู้สึกทางเพศลดลงแต่บางรายมีความรู้สึกทางเพศสูงขึ้น
– ปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากระดับ estrogen ลดลงทำให้เยื่อบุช่องคลอดแห้งและบางลงผู้ป่วยจะมีอาการปวดขณะร่วมเพศ และมีการติดเชื้อในช่องคลอดบ่อยขึ้น อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดเวลาจามหรือไอ
– ปัญหาปวดกระดูก ข้อต่อ ข้อเข่า โรคกระดูกพรุนได้
advertisement
การรับมือวัยทอง อย่างมีคุณภาพ
1) ใส่ใจอาหารให้มากขึ้น เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่สำคัญควาเน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ผลิตภัณฑ์จากนม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น
2) หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
3) สร้างร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหม เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะ ๆ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค
4) ไม่เครียด รู้จักจัดการกับอารมณ์เครียดๆ โดยฝึกการควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในทางบวก และทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน
5) ลด ละ เลิก ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การนอนดึก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่จะเกิดวัยทองได้เร็วกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ด้วย
6) ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจภายใน เช็คมะเร็งปากมดลูก ตรวจหามะเร็งเต้านม และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก เป็นต้น
advertisement
เป็นเรื่องจริงที่ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าสู่ช่วงเวลาวัยทอง แต่จะเร็วจะช้านั้นก็ขึ้นอยู่ที่การดูแลสุขภาพของตนเองด้วยนะคะ อย่าลืมว่าการตรวจสุขภาพร่างกายนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคุณ ต้องใส่ใจและตรวจเช็คกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากตรวจพบความผิดปกติก็จะสามารถได้รับการแนะนำจากแพทย์ เพื่อได้รับการรักษาหรือป้องกันได้ทันท่วงที เพื่อสุขภาพที่ดีค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com