เผยวิธี รักษาข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง ทำอย่างไร? เมื่อเกิดกับตัวคุณ..
advertisement
อุบัติเหตุมักเกิดโดยไม่คาดคิด และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัย อย่างอาการ ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง นับว่าเป็นการบาดเจ็บชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อย เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเท้าจะได้รับบาดเจ็บง่าย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นกีฬาอย่างไม่ถูกวิธี การเดินสะดุด พลัดตกบันได หรืออาจเกิดจากการเดินในที่พื้นผิวขรุขระ การบาดเจ็บอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยและจะดีขึ้นเองภายในเวลาไม่กี่วัน ไปจนถึงอาการรุนแรงที่ต้องพบแพทย์ เมื่อการบาดเจ็บ ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง เกิดขึ้นกับคุณ จะทำอย่างไรดี ? Kaijeaw.com มีวิธีช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นมาฝากกันค่ะ
ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง คือ การที่เส้นเอ็นข้อเท้าด้านนอกมีการเคล็ดหรือฉีกขาดจากการหมุน หรือบิดของข้อเท้า มักเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าเคลื่อนไหวผิดท่าทาง เช่น เดินพลาดตกหลุม เดินบนพื้นที่ขรุขระ เหยียบก้อนหิน หรือหกล้ม อาการโดยทั่วไปที่พบ ข้อเท้าจะปวด บวม และเคลื่อนไหวไม่ถนัด ซึ่งความรุนแรงแบ่งได้ 3 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 ข้อเท้ามีอาการปวดเล็กน้อยเวลากด หรือขณะเคลื่อนไหวข้อ แต่ไม่มีอาการบวม สามารถเดินลงน้ำหนักได้ตามปกติ ข้อเท้าแพลงแบบนี้จะค่อยๆ ดีขึ้น และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
ระดับที่ 2 ข้อเท้าจะมีอาการบวมและฟกช้ำร่วมด้วย เนื่องจากเส้นเลือดเล็กๆ มีการฉีกขาด ทำให้เลือดออกใต้ผิวหนัง เวลาที่ลงน้ำหนักจะรู้สึกปวดมาก อาการแบบนี้หายได้ภายใน 4 – 6 สัปดาห์
ระดับที่ 3 ถือว่ารุนแรงที่สุด มีการฉีกขาดของเอ็นทั้งหมด ข้อจะบวมและฟกช้ำมาก ไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ และส่วนใหญ่พบมีความหลวมของข้อ ระดับความรุนแรงนี้ ต้องใช้เวลาในการรักษานานถึง 8 – 12 สัปดาห์
[ads]
ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ดีที่สุดด้วยการประคบเย็นที่ข้อเท้า
สำหรับแนวทางการรักษาเบื้องต้น ควรเริ่มทำให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะในช่วง 24 – 48 ชั่วโมงแรก ให้ใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นประคบบริเวณที่เกิดการพลิก โดยประคบครั้งละ 20-30 นาที เพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนช้าลง เนื่องจากความเย็นจะช่วยให้เส้นเลือดหดตัว ลดความเจ็บปวดและลดอาการบวมได้ ที่สำคัญ ห้ามใช้ยาหม่องหรือครีมต่างๆ นวด เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว มีเลือดออกมาก และข้อเท้าจะบวมขึ้นอีก นอกจากนี้พยายามเคลื่อนไหวข้อเท้าให้น้อยที่สุด ควรยกเท้าไว้ในระดับที่สูงขณะนั่งหรือนอนจะช่วยให้อาการบวมลดลง ไม่ควรยืนหรือนั่งห้อยขานานๆ เพราะจะทำให้ข้อเท้าบวมและปวดมากขึ้น และการประคบเย็นบ่อยๆ ในช่วง 1 เดือนแรกจะทำให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากนั้นควรพบแพทย์เพื่อดูแลรักษา อาจพิจารณาให้ใส่เฝือกระยะสั้นๆ หรือใช้ผ้ายืดพัน หรือใช้ไม้เท้าช่วยพยุงขณะเดิน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ แต่ผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬาที่ใช้ข้อเท้ามาก อาจต้องพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด ทั้งนี้ไม่ควรระวังอย่านวดหรือการรักษาอื่นใดหากยังไม่ได้รับการวินิจฉัย
การบริหารข้อเท้าหลังการรักษา
หลังจากข้อเท้าและเส้นเอ็นไม่มีอาการบวม และอาการเจ็บปวดลดลงแล้ว (ประมาณ ½ สัปดาห์หลังบาดเจ็บ) ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า มีวิธีการดังนี้
1. การยืดกล้ามเนื้อข้อเท้า มี 3 ท่าง่ายๆ ช่วยยืดกล้ามเนื้อข้อขา
ท่าที่ 1 : ยืนโดยใช้มือดันผนัง ก้าวขาที่ต้องการยืดไปด้านหลัง ส้นเท้าติดพื้น ย่อเข่าหน้าจนรู้สึกตึงขาหลัง ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที ทำซ้ำ 4-5 ครั้ง
ท่าที่ 2 : นั่งกับพื้น ใช้ผ้าขนหนูดึงเท้าเข้าหาตัว ในท่าเข่าเหยียด ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที ทำซ้ำ 4-5 ครั้ง
ท่าที่ 3 : ยืดเอ็นร้อยหวาย โดยการยืนที่ขอบบันได ทำค้างไว้ประมาณ 30 วินาที ทำซ้ำ 4-5 ครั้ง
2. การบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าเพิ่มความแข็งแกร่ง
ท่าที่ 1 : ถ่วงถุงทรายไว้ที่หลังเท้า นั่งห้อยขาข้างเตียง กระดกข้อเท้าขึ้น – ลง ทำชุดละ 10-20 ครั้ง ทำซ้ำ 2-3 ชุด
ท่าที่ 2 : ใช้สายยางคล้องข้างเท้า ให้คล้องยางด้านนอกกับเสาหรือขาโต๊ะ โดยให้ส้นเท้าเป็นจุดหมุน บิดเท้าออกด้านนอก ทำซ้ำโดยคล้องสายยางทั้งด้านในและด้านหลังเท้า ทำชุดละ 10-20 ครั้งในแต่ละท่า ทำซ้ำ วันละ 2-3 ชุด
3. การบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กรอบข้อเท้า การทรงตัว และการประสานงานของเส้นประสาท
เมื่อข้อเท้ามีความแข็งแรงมากขึ้น ( ในสัปดาห์ที่ 3-4 ) ให้ฝึกยืนบนพื้นที่มีความไม่มั่นคง เช่น กระดานกระดก หรือยืนทรงตัวบนพื้นราบหรือหมอนแข็งๆ นานประมาณ 2-3 นาทีต่อครั้ง ทำซ้ำ 2-3 ชุดต่อวัน
***ข้อสำคัญของการบริหารต้องไม่ทำให้เกิดการเจ็บของข้อ
[yengo]
ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันการเกิดการแพลงซ้ำ
1) หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้ามีส้น โดยเฉพาะรองเท้าส้นสูงๆ เนื่องจากทำให้เกิดการแพลงซ้ำได้ง่ายกว่า ควรเลือกรองเท้าที่มีความกว้างของส้น และไม่สูงจนเกินไป จะช่วยทำให้ข้อเท้ามั่นคงมากขึ้น
2) สวมใส่รองเท้ากีฬาที่มีคุณภาพเหมาะสมกับประเภทของกีฬาที่เล่นในทุกๆ ครั้ง
3) หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ใช้กล้ามเนื้อข้อเท้า เพื่อลดความเสี่ยงการบาดเจ็บ
4) รอให้กล้ามเนื้อข้อเท้าหายดีก่อนที่จะกลับไปเล่นกีฬาซ้ำอีก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บซ้ำ
เพราะ อุบัติเหตุเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา ทางที่ดีที่สุดคือความมีสติและระมัดระวังตัวอยู่เสมอนะคะ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เท้าพลิกแพลงได้ แต่หากว่าการบาดเจ็บจนเท้าพลิกแพลงเกิดขึ้นแล้ว ควรรีบปฐมพยาบาลด้วยการประคบเย็น ทำได้ด้วยตัวเองทันที หากอาการที่เกิดขึ้นไม่ร้ายแรงหรือเจ็บปวดนัก จะหายไปได้เร็วขึ้น ในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่เพื่อความแน่ใจว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์ เพราะไม่เช่นนั้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างไม่ถูกวิธี และอย่างทันท่วงที อาจจะส่งผลให้ข้อเท้าข้างนั้นหายช้า หรืออาจพิการไปเลยก็ได้
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com