ลูกไม่สบาย ลดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี?
advertisement
เด็กเล็กเป็นวัยที่ป่วยได้บ่อยๆ นะคะ ด้วยภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ น้อย เมื่อได้รับเชื้อจึงเกิดป่วยได้ง่าย คุณแม่จึงจำเป็นต้องใส่ใจหมั่นสังเกต ความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ดูแลและรักษาอย่างถูกวิธี หากมีแค่อาการหวัด น้ำมูก คัดจมูกก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลอะไรมาก รักษาไปตามอาการได้ แต่หากว่าลูกมีไข้นับเป็นความกังวลใจของคุณแม่ยิ่งนัก เพราะหากว่ามีไข้สูงมาก แล้วไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องก็อาจทำให้ลูกชักได้ ดังนั้นเมื่อลูกไม่สบาย จะมีวิธีการลดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี? ตาม Kaijeaw.com มาค่ะ มีเทคนิคดีๆ ช่วยให้ลดไข้ได้ผลดียิ่งขึ้นด้วยนะ
ปกติอุณหภูมิของร่างกายคนเราจะอยู่ที่ 36.0 – 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิที่วัดได้อยู่ระหว่าง 37.6 – 38.4 องศาเซลเซียส จัดว่ามีไข้ต่ำ และถ้าหากว่าอุณหภูมิที่วัดได้ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป จัดว่ามีไข้สูง
[ads]
1. วิธีการลดไข้ด้วยการเช็ดตัว
เป็นกระบวนการนำความร้อนออกจากร่างกายที่ดีที่สุด โดยอาศัยการพาความร้อนของน้ำ ด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำที่อุณหภูมิประมาณ 27-37 องซาเซลเซียส ที่ไม่เกิน 40 องซาเซลเซียส จะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้ระบายความร้อนได้ดี
ขั้นตอนการเช็ดตัวลดไข้อย่างถูกต้อง
***มีเคล็ดลับเพิ่มเติมช่วยให้ลดไข้ได้ผลดียิ่งขึ้น ด้วยการใช้น้ำมะนาว
1) เตรียมของใช้ ได้แก่ ผ้าขนหนูขนนุ่มประมาณ 2-3 ผืน น้ำอุ่น ภาชนะใส่น้ำอุ่นได้ และมะนาวประมาณ 2-3 ผล
2) เตรียมน้ำอุ่นใสภาชนะเช่นกะละมัง บีบน้ำมะนาวและเปลือกมะนาวใส่ในน้ำอุ่น หรือใช้น้ำธรรมดาได้ และไม่ควรใช้น้ำแข็งเช็ดตัว เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว และระบายความร้อนออกได้ยาก นอกจากนี้ยัง ทำให้เกิดอาการหนาวสั่น และเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อจากการหนาวสั่น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไข้กลับได้
3) ถอดเสื้อผ้าลูกออกให้หมด ปิดพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เพื่อไม่ให้หนาวสั่นขณะเช็ดตัว
4) ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำให้พอชุ่ม เช็ดบริเวณหน้าและพักไว้ที่ซอกคอ หลังหู นาน 2-3 นาที แล้วนำผ้ามาชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดบริเวณหน้าผากและศีรษะ แล้วพักผ้าไว้ที่หน้าผากนาน 2-3 นาที ทำสลับกัน
5) เช็ดบริเวณ ลำตัว แขน ขา พักผ้าไว้บริเวณซอกรักแร้ ขาหนีบ เพื่อระบายความร้อน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่รวมของเส้นเลือดจะระบายความร้อนได้ดี
6) ต่อมาจึงเช็ดจากปลายมือ ปลายเท้าสู่ลำตัวโดยเช็ดย้อนรูขุมขนเพื่อระบายความร้อน โดยขณะเช็ดตัวให้ออกแรงเล็กน้อยเหมือนถูตัว เพื่อจะช่วยให้เลือดลมเดินดีขึ้น ทำให้เส้นเลือด และ รูขุมขนขยายตัว ถ้ามีอาการหนาวสั่นให้หยุดเช็ดตัวทันที เพราะถ้าเช็ดแล้วหนาวสั่นจะยิ่งทำให้ไข้สูงขึ้นได้ ควรใช้เวลาเช็ดตัวประมาณ 10 – 15 นาทีและเปลี่ยนผ้าชุบน้ำบ่อยๆ ทุก 2 – 3 นาที
7) เมื่อเช็ดตัวเสร็จแล้ว ควรซับตัวเด็กให้แห้ง ด้วยผ้าขนหนูขนนุ่มผืนที่แห้ง แล้วสวมเสื้อผ้าเบาสบาย ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หนา หรือห่อตัวเพราะจะทำให้ความร้อนเพิ่มขึ้น
เมื่อเช็ดตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้วัดไข้ซ้ำในอีก 15 – 30 นาทีต่อมา หากไข้ลดลง แสดงว่าการเช็ดตัวลดไข้ได้ผล ถ้าไข้ไม่ลด ให้เช็ดตัวลดไข้ใหม่อีกครั้ง และหากว่าไข้ยังไม่ลดลงอีก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์
2. การให้ยาลดไข้
ยาลดไข้ส่วนใหญ่ที่ใช้ในเด็ก คือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ให้สังเกตและอ่านฉลากยาอย่างถี่ถ้วน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยทั่วไปขนาดยาที่ใช้จะ คำนวณตามน้ำหนักตัวเด็ก เช่นในขนาด 10 มก. ต่อน้ำหนักตัว และไม่เกินกว่า 1,000 มก. ในแต่ละครั้ง และไม่ควรใช้ยาลดไข้ในกรณีที่มีไข้ต่ำๆ
[yengo]
3. ดื่มน้ำมากๆ
กระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมากๆ และบ่อยๆ เพื่อชดเชยน้ำส่วนที่ร่างกายสูญเสียเพิ่มขึ้นในระหว่างที่มีไข้ และลดอุณหภูมิความร้อนภายในร่างกาย
4. สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย
เพื่อให้ร่างกายสามารถระบายความร้อนออกทางผิวหนังได้อย่างสะดวก ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนา หรือห่มผ้าหนาๆ เพราะจะทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ยาก
5. พักผ่อนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกในอุณหภูมิห้องที่ไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป
เพราะเด็กเล็กสามารถป่วยและมีไข้ได้บ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก หากว่าลูกมีไข้ควรดูแลลูกให้ไข้ลด ด้วยวิธีการที่เราแนะนำและอย่าลืมบีบน้ำมะนาวใส่ไปในน้ำอุ่นที่เช็ดตัวลูกด้วยนะคะ จะได้ผลที่ดียิ่งขึ้น อย่าปล่อยให้ลูกช็อคเพราะฤทธิ์ไข้ เพราะอาจสายเกินไปส่งผลอันตรายร้ายแรงได้ค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com