ตู้ยาประจำบ้าน..ควรมียาอะไรบ้าง?
advertisement
ยารักษาโรค นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์จำเป็นจะต้องมี เพื่อการดำรงชีวิต เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็มักจะไปซื้อยาหรือพบแพทย์แล้วไปยามาใช้รักษาโรค แต่สำหรับอาการเจ็บป่วยทั่วไปบางอย่าง สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง เช่น ไข้หวัด ลมพิษ ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย และหากว่ามีอาการป่วยในเวลากลางคืน ก็คงไม่สะดวกในการเดินทางไปโรงพยาบาล ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการมีตู้ยาสามัญประจำบ้านอยู่ที่บ้าน เพื่อจะได้สะดวกในการหยิบหายามาใช้รักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ทันท่วงที และตู้ยาประจำบ้านควรจะมีลักษณะเช่นใด และควรมียาอะไรบ้าง? ตาม Kaijeaw.com มาเลยค่ะ
ลักษณะของตู้ยาประจำบ้าน
1. ขนาดของตู้ยาควรพอเหมาะ พอดีกับยาที่จะใส่และควรมีลักษณะที่ง่ายต่อการเก็บยาและหยิบมาใช้อย่างสะดวก คือแบ่งเป็นชั้นๆ เพื่อสะดวกในการจำแนกประเภทของยาและเครื่องเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต้องเก็บ
2. ตู้ยาที่ดีจะต้องกันแสงได้ หรือถ้าเป็นตู้ทึบได้ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้น หากทำข้างหน้า เป็นบานกระจก เลื่อนเปิด-ปิดได้ ก็จะช่วยให้มองเห็นข้างในได้ง่าย และควรมีเครื่องหมายบอกว่าเป็นตู้ยา
3. ตำแหน่งที่วางตู้ยา ควรเป็นที่แสงแดดส่องไม่ถึงและไม่ร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมอายุ และควรอยู่สูงพอสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้ เด็กหยิบยามาเล่นหรือหยิบมาใช้เองได้ ไม่ให้อับชื้น อยู่ให้พ้นจากแหล่งความชื้น เช่นห้องน้ำ
4. ยาแต่ละชนิด ต้องมีฉลากยาที่ระบุชื่อยา สรรพคุณยา วิธีใช้ ขนาดที่ใช้ และข้อควรระวังให้ชัดเจน
5. แยกยาแต่ละประเภท จัดยารับประทานไว้ชั้นบน ยาใช้ภายนอกไว้ชั้นรองลงมา และเครื่องเวชภัณฑ์ไว้ชั้นล่าง หรือถ้าตู้ยามี 2 ชั้น ให้จัดยาใช้ภายนอกและเครื่องเวชภัณฑ์ไว้ชั้นล่าง โดยจัดเป็นสัดส่วนให้เป็นระเบียบ
6. ตรวจสอบภาชนะที่ใส่ยาควรปิดอย่างมิดชิดอยู่เสมอ
7. ยาบางชนิดที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็นต้องแยกต่างหากจากสิ่งของอื่น และติดฉลากให้ชัดเจน
8. ควรทำความสะอาดและจัดตู้ยาเสมอๆ พร้อมทั้งสำรวจดูว่ายาชนิดใด หมดอายุให้ทิ้งไป และมียาชนิดใดที่ขาดเพื่อจัดหามาให้สมบูรณ์
[ads]
ยาสำหรับใช้ภายในที่ควรมีในตู้ยาประจำบ้านได้แก่
1. ยาแก้ปวดลดไข้ สำหรับแก้อาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ฯลฯ ที่ควรมีได้แก่
– ยาเม็ดแอสไพริน (Aspirin Tablet Gr Vหรือ 300 มิลลิกรัม) หรือยาเม็ดสีชมพู (A.P.C. Tablet) ซึ่งเหมาะสำหรับใช้แก้ปวด ลดไข้ ในคนที่ไม่ได้เป็นโรคกระเพาะอาหาร
– สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ควรมียาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) ติดไว้ในตู้ยาด้วย
– สำหรับเด็ก ควรเตรียมยาแก้ปวด ยาเม็ดแอสไพรินสำหรับเด็ก หรือยาแก้ปวดชนิดน้ำเชื่อม
2. ยาแก้แพ้ สำหรับแก้อาการแพ้อากาศ เป็นหวัด ลดน้ำมูก ลมพิษ ผื่นคันต่างๆ ยาแก้แพ้ที่ควรมีติดตู้ยา ได้แก่ ยาแก้แพ้ คลอร์เฟนิรามีน สำหรับเด็กก็ควรมียาแก้แพ้ชนิดน้ำเชื่อมสำหรับเด็กโดยเฉพาะ
3. ยาแก้หวัด เช่น ยาเม็ดดีโคลเจ่น ยาเม็ดคลอริซิดินดี คลอริซิดินจูเนียร์ (สำหรับเด็ก)
4. ยาแก้ไอขับเสมหะ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำขององค์การเภสัชกรรม ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ยาแก้ไอคลอรีเอต ยาแก้ไอไพริตอน ยาแก้ไอเบนนาดริล มิกซ์เจอร์แอมม่อนคาร์บ หรือมิลต์สกิลล์ แอมม่อน
5. ยาสำหรับรักษาอาการปวดแสบท้อง ปวดจุกบริเวณลิ้นปี่ แน่นอึดอัด จุกเสียด ท้องอืดเฟ้อ เช่น ยาธาตุน้ำแดง มิสต์คาร์มิเนตีฟ ยาลดกรดชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำก็ได้
6. ยาแก้อาการปวดเกร็งภายในท้อง ปวดนิ่ว ปวดประจำเดือนในสตรี เช่น ยาเม็ดบาราลแกน
7. ยาแก้ท้องเสีย ปวดเสียดท้อง
8. ยาระบาย เช่น น้ำมันละหุ่ง ดีเกลือ ยาระบาย แมกนีเซียม ขององค์การเภสัชกรรม
9. ยาบำรุง หรือวิตามินต่างๆ อย่างเช่น ยาเม็ดวิตามินชนิดต่างๆ ยาบำรุงเลือด ยาสมุนไพรบำรุงร่างกาย
10. ยาแก้เมารถเมาเรือ ได้แก่ ยาเม็ดดรามามีน หรือ ยาเม็ดไดเมนฮัยดริเนต
11. ยากันชัก สำหรับเด็กที่มีอาการชักอยู่ประจำโดยเฉพาะเวลามีไข้สูง เช่น ยาเม็ดหรือ ยาน้ำฟีโนบาร์บิทอล
[yengo]
ยาสำหรับใช้ภายนอกที่ควรมีในตู้ยาประจำบ้าน ได้แก่
1. ยาทาถูแก้ปวดบวม ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เช่น ยาหม่อง ยาขี้ผึ้งน้ำมันระกำ น้ำมันสโต๊ก เค้าเตอร์เพน
2. ยาแก้ลมวิงเวียน เช่น เหล้าแอมโมเนียหอมของ องค์การเภสัชกรรม
3. ยากวาดลิ้น แก้ลิ้นเป็นฝ้า แผล ปากเปื่อย เช่น เจนเชี่ยลไวโอเลต กลีเซอรีนบอแร็กซ์ ขององค์การเภสัชกรรม
4. ยาทาผิวหนังต่างๆ เช่น ขี้ผึ้ง กำมะถัน ขี้ผึ้งรักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง (Coat tar ointment) ยารักษากลากเกลื้อน แป้งน้ำแก้ผดผื่นคัน สีชมพูหรือคาลาโมโลชั่น (Calamine lotion) สำหรับรักษาผดผื่นคัน ขี้ผึ้งเพร็ด นิโซโลน ฯลฯ
5. ยาล้างตาและยาหยอดตา เช่น ยาล้างตาบอริค ยาหยอดตาซัลฟาเซตาไมด์ ขององค์การเภสัชกรรม สำหรับหยอดรักษาตาแดง ตาเจ็บ
6. ยาหยอดหู (Nitrofurazone Ear Drops) ขององค์การเภสัชกรรม สำหรับหยอดรักษาอาการหูเป็นน้ำหนวก ช่องหูอักเสบ
7. ยารักษาแผลต่างๆ เช่น แผลสด แผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก รวมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทำแผล
– ยาสำหรับทำความสะอาดแผล ที่ควรมี เช่น แอลกอฮอล์สำหรับล้างแผล (Ethyl Alcohol 70% หรือRabbing Alcohol ขององค์การเภสัชกรรม)
– ด่างทับทิม หรือน้ำยาล้างแผลไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์
– ยารักษาแผลสด เช่น เบตาดีน
– ยารักษาแผลเรื้อรัง เช่น ยาเหลือง น้ำผึ้งแท้
– ยารักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ขององค์การเภสัชกรรม
– ชุดเครื่องมือทำแผล เช่น สำลี ผ้าก๊อส ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ พลาสเตอร์ยา กรรไกร
8. ปรอทวัดไข้
การใช้และดูแลรักษาตู้ยา
1. จัดระเบียบของตู้ยา แยกยาใช้ภายใน ยาใช้ภายนอก เวชภัณฑ์ออกจากกันอย่างชัดเจนอยู่เสมอ
2. ก่อนใช้ยา ควรศึกษา วิธีใช้ คำเตือน ข้อห้ามใช้ของยานั้นๆ ให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อน โดยอ่านจากฉลากยาที่ติดบนกล่อง ขวดยา แผงยา และเวลาซื้อยาควรซื้อกับเภสัชกร
3. หมั่นตรวจสอบฉลากยาทุกชนิดในตู้ยา หากลบเลือนควรรีบแก้ไขให้ชัดเจน อย่าปล่อยทิ้งไว้ ยาที่ไม่มีฉลากหรือฉลากลบเลือนไป หากไม่แน่ใจ ไม่ควรนำมาใช้
4. ตรวจดูยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบควรทำลายหรือทิ้งไปทันที
5. หมั่นทำความสะอาดตู้ยาอย่างสม่ำเสมอ
ตู้ยาประจำบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญมากจริงๆ เลยนะคะ เพราะยาต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้กันค่อนข้างมากในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีอาการไม่ค่อยสบายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสามารถเป็นกันได้บ่อยๆ การมียาเหล่านี้ติดบ้านไว้ และการรู้จักวิธีใช้ยาเหล่านี้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้คุณสามารถรักษาตัวเอง และสมาชิกในบ้านให้หายเจ็บป่วยได้
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com