เสริมทักษะภาษาลูกน้อยหัดพูดอย่างไร?
advertisement
คำพูด เป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด ทุกคนจำเป็นต้องพูดคุยกันเพื่อความเข้าใจ ในส่วนของลูกน้อยที่ยังอยู่ในวัยหัดพูด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญ และช่วยให้ช่วงเวลานี้ผ่านไปได้ด้วยดี เพื่อให้ลูกสามารถพูดคุยสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ พ่อแม่จะสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและการพูดของลูกได้อย่างไรบ้างนั้น Kaijeaw.com จึงมีเทคนิคดีๆ มาแนะนำกันค่ะ
1. คุยกับลูกให้บ่อย
เพื่อเป็นการแนะนำคำศัพท์ใหม่ๆ ให้กับลูกทุกวัน พูดคุยโดยใช้ภาษาปกติของผู้ใหญ่ เพื่อให้ลูกจดจำและสามารถพูดออกมาได้อย่างถูกต้อง พยายามพูดกับลูกให้ปกติในชีวิตประจำวัน ในช่วงแรกลูกอาจยังไม่สนใจเท่าที่ควร แต่อย่างน้อยลูกก็ฟังในสิ่งที่คุณพูดกับเขา
2. ใช้ท่าทางและการกระทำเชิงสัญลักษณ์
การกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษา สามารถใช้ท่าทางและการกระทำ ควบคู่ไปกับการใช้คำพูดที่เหมาะสม จะช่วยให้ลูกเข้าใจได้ง่ายขึ้น
3. เปิดโอกาสให้ลูกได้สื่อสาร
คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกสื่อสาร และตอบคำถาม โดยการถามคำถามง่ายๆ ตลอดทั้งวัน อาจเริ่มจาก คำถามที่ให้ลูกตอบ “ใช่” หรือ “ไม่” ก่อนก็ได้ เมื่อลูกเริ่มมีการสื่อสารตอบโต้ ค่อยถามคำถามที่ยากขึ้น เช่น วันนี้ลูกอยากทานอะไร หรือ ลูกอยากไปไหน หลังจากถามคำถาม ก็ควรหยุดให้เวลาลูกได้คิด เพื่อตอบคำถามเหล่านั้นด้วย
[ads]
4. ใช้คำง่ายๆ ประโยคสั้นๆ
พูดด้วยคำง่ายๆ ประโยคสั้นๆ เท่าที่คุณจะสามารถทำได้ เพื่อให้ลูกสามารถทำความเข้าใจในสิ่งที่คุณพูดได้ง่ายขึ้น
5. ย้ำพูดย้ำทำ
การที่พ่อแม่พูดคำใดคำหนึ่งซ้ำบ่อยครั้ง แน่นอนว่า ลูกจะสามารถซึมซับและเรียนคำเหล่านั้นได้อย่างแน่นอน แต่น้ำเสียงนั้น อย่าดุดันหรือซีเรียสเพื่อบังคับให้ลูกได้ในทันที มิเช่นนั้น นอกจากจะไม่มีประโยชน์แล้ว อาจกระทบจิตใจของลูกด้วย
6. แก้ไขคำพูดที่ลูกพูดผิด
เมื่อลูกพูดคำพูดผิด เช่น “กว้าง” เป็น “ก้าง” ต้องบอกลูกทันทีว่า “กว้าง” ไม่ใช่ “ก้าง” และหาจังหวะว่างๆ สบายๆ สอนลูกและให้ลูกออกเสียงตาม ถึงแม้จะไม่ได้ในทันที แต่หากหัดไปเรื่อยๆ ลูกก็จะพูดได้อย่างถูกต้องในไม่ช้า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน หรือออกเสียงเลียนแบบลูก เพราะถึงแม้จะดูน่ารัก แต่อาจทำให้ลูกเรียนรู้ภาษาแบบผิดๆ ได้ค่ะ ความสม่ำเสมอของคุณแม่เป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นให้ลูกออกเสียงได้เช่นเดียวกับคุณ
7. เรียนพูดเป็นเรื่องสนุก
การเรียนรู้ผ่านการเล่นที่สนุกและสร้างสรรค์ เป็นสิ่งจูงใจลูกที่ได้ผลสุดๆ หากคุณแม่ให้เจ้าตัวน้อยได้เรียนรู้คำศัพท์ไปพร้อมกับการทำท่าทางประกอบ หรือมีเพลงร้องควบคู่ไปด้วย เด็กจะสามารถจดจำได้อย่างรวดเร็วขึ้น เช่น คำนี้ ต้องทำท่านี้ อีกคำหนึ่ง ต้องทำอีกท่าหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนานสำหรับลูกตัวน้อยมากเลยล่ะ
8. เรียกชื่อของลูก
ให้เรียกชื่อลูกทุกครั้ง ก่อนที่จะพูดหรือถามอะไร และให้แน่ใจว่าคุณมองตาลูกขณะพูดด้วย การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกทำความเข้าใจ และโฟกัสในสิ่งที่คุณแม่พูดได้ดี
9. ไม่หยุดสอน
เมื่อลูกเริ่มคุยแล้ว คุณแม่ไม่ควรหยุดสอนคำง่ายๆ แต่ในขณะเดียวกันควรเพิ่มเติมคำที่ยากขึ้นด้วย หลายพยางค์ขึ้น และสังเกตว่าลูกพร้อมเรียนรู้คำที่ยากขึ้นแล้วหรือยัง อาจเลือกใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เช่น แฟลชการ์ด หนังสือ และของเล่น เพื่อเพิ่มความดึงดูดใจ กระตุ้นให้ลูกอยากเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาของลูกได้ดียิ่งขึ้น
10. นิทานแสนสนุก
นิทานที่อ่านง่าย และสนุกเป็นทางเลือกที่ดี โดยที่พ่อแม่ควรคำนึงก่อนว่า ลูกอายุเท่าไหร่ วัยของเขาสนใจภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ายังเล็กมาก พ่อแม่ก็ควรซื้อนิทานที่เน้นภาพ เน้นสี ไม่ใช่เนื้อหา ซึ่งนิทานนี้เองที่จะกระตุ้นพัฒนาการของเขาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกอีกด้วย
[yengo]
11. ใช้ประสาทสัมผัสพิเศษทั้ง 5
คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พยายามให้ลูกได้ทำความรู้จักกับสิ่งต่างๆ และแยกแยะลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆ ได้ เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้น เช่น ความเปียก กับ ความแห้ง, ความร้อนกับความเย็น, ใหญ่กับเล็ก, มากกับน้อย, แข็งกับนุ่ม, ข้างในกับข้างนอก, ความสว่างกับความมืด, ดีใจกับเสียใจ, สูงกับต่ำฯลฯ
12. แสดงการเป็นเหตุเป็นผลกัน ให้ลูกเข้าใจ
เช่น การเอาน้ำใส่กาไปตั้งบนเตา น้ำก็ร้อน เมื่อเอาไปใส่ไว้ในตู้เย็น น้ำก็เย็น เมื่อใส่ไว้ในช่องทำน้ำแข็งน้ำก็กลายเป็นน้ำแข็งได้ การพยายามช่วยให้เด็กได้มองและรับรู้เกี่ยวกับสีสันและรูปร่าง(ทรงกลม,โค้ง, เหลี่ยม ฯลฯ), เสียงดังเสียงเบา, กลิ่นหอมกลิ่นเหม็น, ก็จะช่วยให้เด็กเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น
13. อ่านหนังสือกับลูก
การอ่าน เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาของลูกได้ดีจริงๆ เพิ่มจำนวนคำศัพท์ การเข้าใจคำศัพท์ การเชื่อมโยงคำกับรูปภาพ และยังเป็นการเปิดโลกกว้างให้กับลูก ควรหาหนังสือที่เหมาะกับเด็กวัยเตาะแตะมาอ่านกับลูกเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 10 นาที ให้ลูกเลือกหนังสือที่เขาอยากอ่านเอง ให้แม่นั่งหันหน้าเข้าหาลูก และมองตาลูกขณะเล่าเรื่อง พูดคุยกันถึงเรื่องที่อ่านด้วยกัน ถามลูกเริ่มที่คำถามง่ายๆ หยุดเวลาให้ลูกคิดและตอบ ชมเชยลูกเมื่อตอบถูก
14. เลี่ยงทีวี
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า การที่เด็กดูโทรทัศน์นั้นเป็นการสื่อสารเพียงช่องทางเดียว เด็กได้แต่ดูและฟัง ไม่ได้พูดตอบโต้ ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ลูกออกห่างจากทีวี และอยู่เป็นเพื่อนลูก ชวนเขาคุยจะดีกว่า
คุณพ่อคุณแม่มีส่วนมากๆ ในการกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาและการพูด ของลูกน้อยนะคะ สิ่งสำคัญคือความใส่ใจ และทำอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเข้าใจ และอ่อนโยนต่อลูก 14 ข้อปฏิบัติที่เรามีมาแนะนำกันนั้น ก็เชื่อได้ว่าลูกของคุณต้องมีพัฒนาการทางด้านภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอนค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com