สัก ไม้มงคลเป็นยาดี ต้านสารพัดโรค!!
advertisement
สัก เป็นต้นไม้ที่คนไทยนับถือเป็นต้นไม้ที่ให้ความเป็นมงคล โดยเฉพาะสักทองที่คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านปลูกต้นสักทองไว้ประจำบ้าน จะทำให้มีศักดิ์ศรี เพราะคำว่า “สัก” หรือ “ศักดิ์” หมายถึง การมีศักดิ์ศรี มีเกียรติศักดิ์ มียศถาบรรดาศักดิ์ นอกจากนี้คำว่า “สัก” หรือ “สักกะ” ยังหมายถึง พระอินทร์ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในสวรรค์ และนิยมให้ผู้ปลูกนั้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีผู้เคารพนับถือ นอกจากจะนิยมปลูกแล้ว เนื้อไม้สักยังนำมาสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ได้หลากหลายมีความสวยงามเพราะสักมีลักษณะพิเศษที่เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีความทนทานกว่าไม้เนื้อแข็งหลายๆ ชนิด ส่วนในเรื่องของสมุนไพรนั้น เชื่อว่าหลายๆ คนคงอยากจะรู้กันบ้างแล้ว หากเป็นเช่นนั้นล่ะก็ ตาม Kaijeaw.com มาดูกันเลยค่ะ
สัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tectona grandis L.f. มีชื่อสามัญว่า Teak จัดอยู่ในวงศ์ LABIATAE มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องถิ่นว่า เคาะเยียโอ (ละว้า-เชียงใหม่) ปายี้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ปีฮือ เป้อยี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เส่บายี้ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสัก เป็นไม้ผลัดใบสูงตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป ลำต้นเปลาตรง โคนเป็นพูพอนต่ำๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น เปลือกในสีเขียวอ่อน [ads]
ใบ เดี่ยว เรียบตรงข้าม ปลายแหลม โคนมน ยาว 25-40 เซนติเมตร กว้าง 20-30 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนจะใหญ่กว่านี้มาก ด้านล่างสีเขียวเข้ม ด้านบนสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนสากมือ มีต่อมเล็กๆ สีแดง ขยี้ใบจะมีสีแดงเหมือนเลือด
ดอก ขนาดเล็ก สีขาวนวล ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง
ผล แห้งค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร เปลือกแข็ง เมล็ด มี 1-3 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ประโยชน์ ใบ เนื้อไม้ เปลือก ดอก
สรรพคุณทางด้านสมุนไพรของสัก
ใบ
– รสเผ็ดเล็กน้อย
– รับประทานเป็นยาลดน้ำตาลในเลือด
– บำรุงโลหิต รักษาประจำเดือนไม่ปกติ แก้พิษโลหิต
– ขับลม ขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
– ทำยาอม แก้เจ็บคอ
เนื้อไม้
– รสเผ็ดเล็กน้อย
– รับประทานเป็นยา ขับลม ขับปัสสาวะ ได้ดีมาก
– ใช้แก้บวม
– บำรุงโลหิต แก้ลมในกระดูก แก้อ่อนเพลีย
– แก้ไข้ คุมธาตุ
– ขับพยาธิ
– รักษาโรคผิวหนัง
เปลือก – ฝาดสมาน มีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ
ดอก – ขับปัสสาวะ
เมล็ด – ใช้เป็นยารักษาโรคตา [yengo]
วิธีและปริมาณที่ใช้
ยาลดน้ำตาลในเลือด โดยใช้ใบต้มกับน้ำดื่ม
ความรู้เพิ่มเติม
– ต้นสักที่ใหญ่และมีอายุมากที่สุดในโลกอยู่ภายในวนอุทยานต้นสักใหญ่ บ้านปางเกลือ ตำบลน้ำไคร้ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีอายุมากกว่า 1,500 ปี มีความสูง 47 เมตร ลำต้นเส้นวงรอบ 10 เมตร 23 เซนติเมตร ใช้ 9 คนโอบโดยรอบ ขนาดความโต 1020 .7 เซนติเมตร ซึ่งเฉลี่ยโตขึ้นปีละ 1.3 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าพม่า ที่มีเส้นรอบวงเพียง 1 เมตร 30เซนติเมตร และต้นนี้ได้รับชื่อพระราชทาน นามว่า “มเหสักข์”
– ต้นสักเป็นพรรณไม้พระราชทานประจำจังหวัดอุตรดิตถ์
– ในด้านการใช้ประโยชน์จากไม้สัก จะมีการแบ่งคุณลักษณะของไม้สักโดยพิจารณาจากสีของเนื้อไม้ ความแข็ง ความเหนียว และการตกแต่งของเนื้อไม้ ออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่
1) ไม้สักทอง – เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทอง เสี้ยนไม้ตรง ตกแต่งได้ง่าย
2) ไม้สักหิน – เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลหรือสีจาง ตกแต่งได้ง่าย
3) ไม้สักหยวก – เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีจาง ตกแต่งได้ง่าย
4) ไม้สักไข่ – เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลเข้มปนสีเหลืองและมีไขปนอยู่ ตกแต่งและทาสีได้ยาก
5) ไม้สักขี้ควาย – เนื้อไม้เป็นสีเขียวปนสีน้ำตาล น้ำตาลดำดูเป็นสีเลอะๆ
ปัจจุบัน “สัก” เป็นไม้ที่มีราคาสูงเป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งในบ้านเราและตลาดโลก และก็หาได้ยากมากแล้ว สักเป็นพรรณไม้ที่ประโยชน์สรรพคุณมาก จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง และในบ้านเราก็ถือว่าเป็นไม้หวงห้ามที่กฏหมายคุ้มครอง หากจะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับไม้ชนิดนี้ก็ควรศึกษากฏหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com