10 ข้อปฏิบัติ..ป้องกันอาหารเป็นพิษ!!
advertisement
“อาหารเป็นพิษ” เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเองอาจประสบได้บ่อยๆ บางคนก็จะเป็นโรคอุจจาระร่วงอย่างเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝนจะมีภาวะเปียก แฉะ และร้อนชื้น สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีนัก จึงทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี ในอาหารหรือปนเปื้อนในน้ำดื่ม หากเราได้กินหรือสัมผัสก็จะป่วยเป็นอาหารเป็นพิษได้ เมื่อเป็นมีอาการของอุจจาระเป็นน้ำ ปวดมวนท้องรุนแรง ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้และปวดศีรษะ นับว่าสร้างความทุกข์ทรมานได้มากเลยทีเดียว ดังนั้นช่วงนี้ก็เข้าสู่หน้าร้อนแล้วฤดูกาลที่โรคอาหารเป็นพิษระบาดหนัก เราต้องหาวิธีป้องกันตน เพื่อสุขภาพที่ดี Kaijeaw.com จึงมี 10 ข้อปฏิบัติ..ป้องกันอาหารเป็นพิษ!! มาบอกกันค่ะ
โรคอาหารเป็นพิษเป็นคำกว้างๆ ที่ใช้อธิบายถึงอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อน ไม่ว่าจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ พยาธิ ปนเปื้อนสารพิษ สารเคมี หรือโลหะหนัก เป็นต้น โดยอาจมีการปนเปื้อนตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษา การประกอบอาหาร และการบริการอาหาร บางครั้งอาการอาหารเป็นพิษ อาจเกิดจากการบริโภคสิ่งที่เป็นพิษโดยตรงได้ เช่น เมล็ดสบู่ดำ ลูกโพธิ์ ปลาปักเป้า คางคก เป็นต้น
โรคอาหารเป็นพิษมีการระบาด พบได้จากการที่คนจำนวนมากรับประทานอาหารปนเปื้อนร่วมกัน และมีอาการอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอาหารแล้ว อาการของโรคอาหารเป็นพิษนั้น ส่วนใหญ่จะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำและปวดมวนท้องอย่างรุนแรงเฉียบพลัน บางครั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้และเวียนหัวปวดหัวได้ บางครั้งมีอาการคล้ายเป็นบิด ถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือเป็นมูก ไข้สูง และมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูง เป็นโรคที่ไม่ค่อยรุนแรง มีระยะเวลาดำเนินโรคประมาณ 1-7 วัน
advertisement
การติดเชื้อในระบบอื่นของร่างกายและการตายพบได้ แต่พบน้อยมาก ระยะฟักตัว ปกติ 6-25 ชั่วโมง หรืออยู่ในช่วง 4-30 ชั่วโมง การติดต่ออาหารที่ต้องให้ระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะถ้าปรุงไว้นานหรือค้างคืน ยกตัวอย่างอาหาร 10 เมนูที่อาจเป็นพิษได้แก่
1) ลาบ และก้อยดิบ
2) ยำหอยแครง
3) ยำกุ้งเต้น
4) ข้าวผัดโรยเนื้อปู
5) อาหารผสมกะทิ หรือราดกะทิ ขนมหวานมีกะทิ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง
6) ขนมจีน
7) ข้าวมันไก่
8) ส้มตำ
9) สลัดผัก
10) น้ำและน้ำแข็ง[ads]
โรคอาหารเป็นพิษ มักป่วยไม่รุนแรงรักษาได้ตามอาการ เช่น มักสูญเสียน้ำ ต้องทดแทนด้วยน้ำและเกลือแร่ ด้วยสารละลายเกลือแร่ และน้ำตาลทางปาก ไม่แนะนำการให้ยาปฏิชีวนะ ทางที่ดีคือการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษทุกค่ะ มีข้อแนะนำ 10 ประการดังนี้
1. ปรุงอาหารทานเอง เลือกวัตถุดิบที่สด ใหม่ สะอาด ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนอย่างทั่วถึง เนื้อสัตว์ควรทำให้สุกจนข้างในไม่เป็นสีชมพู และเนื้อแห้งดี เวลาหั่นต้องไม่มีน้ำซึมออกมา สำหรับส้มตำ ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะการปรุงจะใส่วัตถุดิบที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคทั้งปลาร้า ปูดอง ผักสด ทั้งมะละกอ มะเขือ หากล้างไม่สะอาดจะทำให้เสี่ยงต่ออาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วงได้ง่าย
2. อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบควรรับประทานเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น หากมีปริมาณที่เหลือแล้วไม่ควรเก็บไว้ เพราะจะบูดเสียง่าย ในกลุ่มของอาหารทะเลต้องปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปลาหมึก
3. ควรกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ทันทีไม่เกิน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ เส้นขนมจีนที่ทำจากแป้งหมักเสียง่ายไม่ควรทิ้งค้างคืน
4. ระมัดระวังอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่าให้มีการปนเปื้อน เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่น ๆ
5. อาหารที่ค้างมื้อต้องอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน ทานอาหารที่แช่ตู้เย็นให้หมดภายใน 3 วัน เนื้อสัตว์ดิบๆ ที่แช่ในตู้เย็นไม่ควรแช่นานเกิน 3 วัน ควรทานให้หมด
6. ในการเก็บรักษาอาหารนั้น ต้องแยกอาหารดิบและอาหารสุก ให้ระมัดระวังการปนเปื้อน ส่วนอาหารถุงและอาหารกล่อง ควรบรรจุแยกกันระหว่างข้าวและกับข้าว ไม่ทิ้งเนื้อสัตว์นอกตู้เย็น เพราะอุณหภูมิที่ร้อนจะเร่งให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
advertisement
7. ล้างมือให้สะอาดก่อนจับต้องอาหารเข้าสู่ปาก ล้างมือทันทีที่จับเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อไก่ดิบๆ และอาหารทะเล รวมทั้งล้างมือให้สะอาดหลังการกินอาหารในทุกๆ ครั้ง
8. รักษาความสะอาดของห้องครัว และอุปกรณ์ประกอบอาหารและรับประทานอาหาร เลือกใช้เขียงพลาสติกและนำไปแช่น้ำทันทีที่ใช้เสร็จ เช็ดถูทำความสะอาดเคาน์เตอร์หรือครัวด้วยทิชชู เพราะฟองน้ำและผ้าจะเก็บเชื้อโรค
9. ใช้น้ำที่สะอาด น้ำดื่มและน้ำแข็งควรเลือกที่บรรจุภัณฑ์มีเครื่องหมาย อย. รับรอง ใช้ภาชนะที่ปิดแน่นและไม่นำน้ำแข็งที่ใช้แช่ของมารับประทาน
10. นมและไข่ ควรทานนมให้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนผลิตภัณฑ์เนยนมอย่างอื่น ทานให้หมดภายใน 2 วัน ไข่ไม่ควรซื้อไข่บุบ เวลาทำอาหาร ควรให้สุกทั้งไข่แดงและไข่ขาว ผักและผลไม้ ล้างโดยเปิดน้ำให้ไหลผ่าน 10-15 วินาที เด็ดใบที่ไม่เขียวออกแล้วนำไปแช่ตู้เย็น ผลไม้ที่เปลือกแตกหรือช้ำ ควรทิ้งไปซะ ส่วนมากผลไม้มักจะเก็บไว้ได้ 4 วัน ส่วนแอ๊ปเปิ้ลหรือผลไม้ที่แข็งๆ จะเก็บไว้ได้ 2 สัปดาห์[yengo][fb2]
เมื่อมีอาการของอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงก็สามารถเริ่มต้นรักษาได้เองที่บ้านโดยใช้กฎ 3 ข้อ ขององค์การนามัยโลก ดังนี้ค่ะ
1. ให้สารน้ำละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือ ของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
2. ให้อาหารอ่อนที่ย่อยได้ง่ายๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่ให้งดอาหาร เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
3. เมื่ออาการโรคอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ได้แก่
– ถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น
– อาเจียนบ่อย กินอาหารไม่ได้
– กระหายน้ำกว่าปกติ
– มีไข้สูง
– ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือปนเลือด
advertisement
วัคซีนป้องกันโรค สำหรับวัคซีนป้องกันโรคนั้นปัจจุบันมี
1. วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงชนิดกิน
2. วัคซีนป้องกันโรคไข้ทัยฟอยด์ชนิดกิน
การให้วัคซีนใช้เฉพาะคนที่เลี่ยงต่อการเกิดโรคเท่านั้น เช่น จะเดินทางไปในพื้นที่เกิดโรคเป็นประจำ หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นพาหะเชื้อไข้ไทฟอยด์ ส่วนวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงอย่างแรงประสิทธิภาพของวัคซีน และระยะเวลาของภูมิคุ้มกันอยู่ในระยะสั้น
เพราะโรคอาหารเป็นพิษนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เสมอนะคะ หากเป็นแล้วก็นำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน และอาการเจ็บป่วยที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นแล้ววิธีการป้องกันตนตามที่ Kaijeaw มีมาแนะนำกันนั้น เห็นจะเป็นวิธีการที่จำเป็นในช่วงเวลาของโรคที่ระบาดได้ง่ายเช่นนี้มากที่สุด ดังนั้นแล้วควรนำไปปฏิบัติและอย่าลืมบอกเล่าแก่คนที่คุณรักด้วยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com