เช็กหลักเกณฑ์ จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม สูงสุด 9,000 บาท
advertisement
เมื่อวันทึ่ 18 ก.ย. 2567 นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์เป็นบริเวณกว้าง รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบอุทกภัย จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดย ปภ. ประสานจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัยเป็นกรณีพิเศษ
โดยเมื่อวันที่ 17 ก.ย. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 พร้อมทั้งได้อนุมัติกรอบวงเงิน 3,045.52 ล้านบาท ภายใต้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษ
advertisement
สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยา กรณีอุทกภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในช่วงฤดูฝน ซึ่งเกิดสถานการณ์ขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นมา โดยเป็นอุทกภัยทั้งในกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง
รวมถึงผลกระทบจากการระบายน้ำจนส่งผลกระทบให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ และจังหวัดได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยจากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนเบื้องต้นขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 57 จังหวัด จำนวน 338,391 ครัวเรือน
สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 จะแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้ 1.กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงกรณีน้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท
2.กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท และ 3.กรณีบ้านที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกิน 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท
นายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของการพิจารณาเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยนั้น กำหนดเงื่อนไขการขอรับเงินเยียวยาเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1.ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
โดยต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ (ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 30) และจะต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย
รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร และ2.กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง จะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว
advertisement
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ซึ่งธนาคารออมสินจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือโดยตรง โดยการโอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบพร้อมเพย์
advertisement
ขณะนี้ ปภ. ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติและเตรียมหารือร่วมกับจังหวัดที่ประสบอุทกภัย เพื่อกำหนดแนวทางการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดให้มีความชัดเจน และสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนได้ตามกรอบระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และจะได้เร่งทำข้อมูลชี้แจงสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อจะได้เตรียมในการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือต่อไป
ขอขอบคุณที่มาจาก : khaosod.co.th