กรมควบคุมโรค เผย 5 ปี พบผู้บาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ กว่า 3,000 ราย เฉพาะวันออกพรรษา ปี 58 วันเดียวมีผู้บาดเจ็บรุนแรงถึง 24 ราย
advertisement
วันนี้ (12 ตุลาคม 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทุกช่วงเทศกาลออกพรรษาในหลายจังหวัดมักมีร้านค้านำดอกไม้ไฟ ประทัด และพลุ มาจำหน่ายจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนนิยมการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว ซึ่งในประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ จะมีส่วนประกอบที่เป็นวัตถุระเบิดสามารถทำให้เกิดอันตรายได้ โดยหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ที่ได้รับอันตรายจากการจุดดอกไม้ไฟ จำนวนไม่น้อย ที่ต้องระวังคือเด็กๆจะซื้อมาเล่นโดยขาดความระมัดระวังและอาจได้รับอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บและอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญได้
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกเปลวหรือสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ จากโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี 2554–2558) มีจำนวน 3,326 ราย (เฉลี่ยปีละ 665 ราย) ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10 ราย ล่าสุดในปี 2558 มีผู้บาดเจ็บ 532 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (93.23%) กลุ่มอายุที่พบบ่อยคือ 15-19 ปี (13.16%) รองลงมาคือ อายุ 60 ปีขึ้นไป (12.41%) และอายุ 20-24 ปี (11.65%)
[ads]
นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วง 5 ปี เทศกาลที่เกิดเหตุสูงสุดคือ วันขึ้นปีใหม่พบผู้บาดเจ็บ 336 ราย รองลงมาคือวันส่งท้ายปีเก่า 202 ราย วันออกพรรษา 135 ราย และวันลอยกระทง 109 ราย เฉพาะวันออกพรรษาวันเดียวมีผู้บาดเจ็บรุนแรง (ปี 2554-2558) ดังนี้ 29, 38, 14, 30 และ 24 ราย ตามลำดับ สำหรับสถานที่เกิดเหตุเป็นบ้านและบริเวณบ้านมากที่สุด (68.05%) รองลงมาคือ นา ไร่ สวน (16.92%) ส่วนอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุดในปี 2558 คือ มือและข้อมือ (32%) รองลงมาคือบริเวณดวงตา (13%) และบริเวณศีรษะ (2%) และมีผู้บาดเจ็บดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยถึง 22%
advertisement
จากข้อมูลพบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ซื้อประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มาจุดเล่นเองตามลำพังหรือในกลุ่มเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือ ให้ผู้ปกครองสอนเด็กว่าประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุไม่ใช่ของเล่นและเป็นอันตรายสำหรับเด็ก และห้ามเด็กจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ เองเด็ดขาด หากมีการจุดไม่ควรให้เด็กอยู่ใกล้บริเวณนั้นๆรวมถึงผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เด็กต้องอยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่ตลอดเวลา
advertisement
ทั้งนี้ คำแนะนำการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อความปลอดภัยในการเล่นควรปฏิบัติดังนี้
1.ต้องอ่านคำแนะนำก่อนจุดชนวน ซึ่งการจุดชนวนต้องจุดให้ห่างจากตัวประมาณ 1 ช่วงแขน
2.เล่นในบริเวณที่โล่งแจ้งเพื่อป้องกันสะเก็ดไฟกระเด็นไปติดวัสดุหรือเชื้อเพลิง และหลีกเลี่ยงการเล่นใกล้บริเวณบ้านเรือน ใบไม้แห้ง วัตถุไวไฟ แนวสายไฟฟ้า
3.ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นผ้าฝ้าย ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่เป็นใยสังเคราะห์เพราะอาจจะติดไฟง่าย
4.ควรเตรียมภาชนะที่บรรจุน้ำไว้ใกล้กับบริเวณที่เล่น เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ดับเพลิงที่จุดแล้วไม่ติด และ
5.ห้ามประกอบหรือดัดแปลงประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ไว้เล่นเองโดยเด็ดขาด ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วมาเล่นเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บได้ง่าย
[ads]
advertisement
สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจากประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ มีหลายด้าน ดังนี้
1) อันตรายจากการเกิดไฟไหม้และการระเบิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต การบาดเจ็บ และทรัพย์สินที่เสียหาย ทำให้ผิวหนังไหม้และทำให้บาดเจ็บและอาจสูญเสียอวัยวะสำคัญ ซึ่งบางรายรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดหรือนิ้วขาดได้
2) อันตรายจากการได้รับสารเคมีต่างๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อหู ตา จมูก ทำลายตับ ม้าม และเกิดอัมพาตที่แขน ขา
3) อันตรายจากเสียงของระเบิดจากพลุและดอกไม้เพลิง มีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว หากได้ยินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร และยังมีผลต่อเรื่องของสุขภาพจิต ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ ส่งผลให้นอนไม่หลับ ทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งมีผลต่อผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต
หากประชาชนพบเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ ขอให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 หากประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : สำนักระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค