ความดันโลหิตต่ำ..ดูแลตัวเองอย่างไร?
advertisement
เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนนะคะ ความเจ็บไข้ได้ป่วยบางอย่างก็เกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ได้รู้ตัว อย่างเช่น โรคความดันโลหิตต่ำ หรือ Hypotension โดยทั่วไปหมายถึงค่าความดันโลหิตที่ต่ำกว่า 90/50 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเรามักจะทราบกันตอนไปตรวจร่างกายประจำปี และหลายคนก็มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือกังวลเกี่ยวกับความดันโลหิตต่ำ จนกระทั่งเมื่อมีอาการผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้นจึงได้รู้จักกังวลและระวัง ความดันโลหิตต่ำนั้นเป็นอย่างไร และจะดูแลตัวเองได้อย่างไร? มาดูกันค่ะ
สาเหตุของความดันต่ำ
เกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งหากจะพูดถึงชนิดของโรคความดันโลหิตต่ำ ก็สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง โดยความดันโลหิตต่ำชนิดเฉียบพลันหมายถึง ความดันต่ำลงอย่างรวดเร็วจากเกณฑ์ปกติ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหน้ามืดและช็อคหมดสติ มักเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นลมหรือหัวใจล้มเหลว แต่โดยทั่วไปแล้วความดันโลหิตต่ำจะหมายถึงชนิดเรื้อรัง ซึ่งแบ่งประเภทได้ดังนี้
1. ความดันโลหิตต่ำแต่กำเนิดหรือไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่พบว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือรูปร่างที่อ่อนแอผอมบาง ซึ่งมักจะพบในหญิงสาวรูปร่างผอมเพรียวและผู้สูงอายุ บางรายไม่แสดงอาการเจ็บป่วยใดๆ แต่ในรายที่เป็นมากอาจจะมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใจสั่น วิงเวียน ศีรษะ ปวดศีรษะหรืออาจจะถึงขั้นเป็นลม ซึ่งความดันต่ำ เกิดจากพันธุกรรมนี้มักแสดงอาการชัดเจนขึ้นในหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูง
2. ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนอิริยาบถ หมายถึงความดันโลหิตจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนท่าทางจากการนอนมาเป็นการนั่งหรือยืนโดยทันที หรือมีการยืนนานๆ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติจนเกิดอาการเวียนศีรษะ ตาพร่า คลื่นไส้ ใจสั่น ปวดต้นคอ ปวดหลัง เป็นต้น
3.ความดันโลหิตต่ำจากการใช้ยาหรือการเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ วัณโรค โรคหัวใจรูมาติก ขาดสารอาหารเรื้อรัง ยาลดความดันโลหิต ยากกล่อมประสาท ยาต้านโรคซึมเศร้า ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ใช้ยาความดันมากเกินขนาดเพื่อให้ความดันโลหิตต่ำลงโดยเร็วหรือลดต่ำลงมากยิ่งขึ้นก็อาจเป็นความดันโลหิตต่ำอย่างเฉียบพลันหลังปัสสาวะ เนื่องจากปัสสาวะถูกขับออกไปทำให้ความดันในช่องท้องลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่กลับไปสู่หัวใจลดน้อยลงด้วย ทำให้เกิดอาการเป็นลม และมักเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่ผู้สูงอายุตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึก
[ads]
อาการ
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำมักไม่มีอาการอะไรมากนัก ยกเว้นอาการสำคัญอย่างเช่น เวียนศีรษะง่าย หรือรู้สึกหน้ามืดหากมีการลุกจากท่านั่งหรือท่านอนไปสู่ท่ายืนเร็วๆ หรือมีอาการอ่อนเพลียและเวียนศีรษะหากอดนอน หรือนอนไม่พอ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำบางรายอาจจะมีอาการหูอื้อ ปวดศีรษะ ตาลาย ปวดหลังและบั้นเอว มือเท้าเย็น สมองล้า ขี้หลงขี้ลืม ขาดสมาธิ
ความดันโลหิตต่ำส่วนมากจะมีอาการดีขึ้นเองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่ถ้าความดันโลหิตต่ำมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายได้ คือ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ช้าลง เลือดจึงอาจจะไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ และเกิดลิ่มเลือดได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือดฝอยส่วนปลายขาดเลือดไปเลี้ยง เป็นต้น ดังนั้นคนที่ความดันโลหิตต่ำมากจึงควรไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ
การวินิจฉัย ความดันโลหิตถูกกำหนดโดยปัจจัยหลัก 3 อย่างคือ
1) อัตราการส่งเลือดออกจากหัวใจ
2) ปริมาตรของเลือดภายในหลอดเลือด ซึ่งถ้าหากเลือดมีปริมาณลดลงจะเรียกว่า ภาวะปริมาตรเลือดน้อย
3) ประสิทธิภาพของหลอดเลือดในการปั๊มเลือด ซึ่งขึ้นอยู่กับเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดเลือด
แนวทางในการรักษา
ความดันโลหิตต่ำมีทั้งชนิดที่ต้องการการรักษาและไม่ต้องการการรักษา ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการใช้ยาบางอย่าง แพทย์อาจจะแนะนำให้หยุดยาหรือลดปริมาณยาลง โดยสิ่งที่สำคัญก็คือ คุณต้องให้ข้อมูลกับแพทย์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่ทำให้คุณเกิดอาการความดันโลหิตต่ำ และอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่คุณเป็น รวมถึงยาที่รับประทานทั้งที่รับประทานเองและยาที่แพทย์สั่ง ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร อาหารเสริม และยาหยอดตา เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้อง
บำบัดโรคความดันโลหิตต่ำโดยการแพทย์จีน
การแทพย์จีนได้จัดโรคความดันโลหิตต่ำให้อยู่ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการพร่องลงของพลังซี่และเลือดในร่างกายหรือที่เรียกว่าชี่พร่อง-เลือดพร่องนั่นเอง เลือดกับพลังชี่มีคุณสมบัติต่างกันคือ เลือดเป็นหยินชอบอยู่นิ่งและให้ความชุ่มชื้น ส่วนพลังชี่เนหยางชอบความเคลื่อนไหวและให้ความอบอุ่น ความสัมพันธ์ของเลือดกับพลังชี่แท้ที่จริงแล้วก็คือความสัมพันธ์ของหยิน-หยางในระบบการไหลเวียนของเลือดนั่นเอง การแพทย์แผนจีนนิยมให้วิธีบำรุงชี่-บำรุงเลือดเพื่อบำบัดภาวะความดันโลหิตต่ำ เมื่อชี่-เลือดในร่างกายสมบูรณ์ขึ้น ความดันโลหิตก็จะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติอาการต่างๆ ที่เกิดจากโรคความดันโลหิตต่ำก็จะทุเลาลงหรือหายไปในที่สุด
[yengo]
ป้องกันตนจากความดันต่ำ มีข้อควรปฏบัติดังต่อไป
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพราะผู้ที่มีแนวโน้มความดันต่ำ เกิดจากการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากความดันโลหิตจะยิ่งต่ำลงไปอีก และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานสูงมากขึ้น
2. พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียจากการนอนหลับไม่เพียงพอ จะยิ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำลงได้ง่าย ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนักเกินควร หลีกเลี่ยงการนอนดึก และเวลานอนหลับไม่ควรนอนหนุนหมอนที่ต่ำเกินไป
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระบบประสาทเกิดความสมดุล หลอดเลือดหัวใจแข็งแรง และช่วยรักษาความดันโลหิตต่ำให้ดีขึ้น แต่ก็ควรระวังไม่หักโหมจนเกินไป
4. หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ หรือการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วเกินไป
5. ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ยกเว้นในกรณีเป็นโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
6. ระมัดระวังในการเปลี่ยนท่าทาง โดยเฉพาะเมื่อต้องลุกขึ้นยืน ควรเปลี่ยนท่าทางให้ช้าลง ทำทีละขั้นตอนเสมอ เช่น จากนอนเป็นนั่งพัก แล้วจึงค่อยลุกขึ้นยืน
7. ใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เมื่อต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการเจ็บป่วยใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าว่าตนมีอาการความดันโลหิตต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง
8. หมั่นวัดระดับความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตในร่างกาย
9. ดูแลสภาพแวดล้อมที่อยู่ ไม่ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศร้อนอบอ้าวนานเกินไป เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ความดันโลหิตต่ำลง
10. การแต่งกายอย่างเหมาะสม ไม่รัดหรือแน่นจนเกินไป ไม่ผูกเน็คไทแน่นเกินไป ไม่สวมเสื้อที่มีปกเสื้อสูงหรือคอเสื้อแคบเกินไป เพราะอาจจะไปกดทับหลอดเลือดแดงบริเวณต้นคอส่งผลให้ความดันต่ำลงจนหน้ามืดเป็นลมได้
ความดันโลหิตต่ำ เป็นเรื่องที่เราไม่ควรละเลยและมองข้ามกันเลยนะคะ คุณจึงควรหมั่นใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ และหากว่าเป็นความดันต่ำก็ควรระมัดระวังตนในเรื่องการเปลี่ยนอิริยาบทที่รวดเร็วให้ช้าลงอย่างถูกวิธี อีกทั้งควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ หรือแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com