จันทน์เทศ.. ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ!!
advertisement
พืชสมุนไพรจันทน์เทศ (Nutmeg Tree, Myristica) ที่เราคุ้นเคยเป็นได้ทั้งเครื่องเทศ เครื่องปรุง และแต่งกลิ่นอาหารได้ โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ได้คือลูกจันทน์ (เมล็ด) และดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) โดยทำมาตากแห้งและสามารถนำมาบดละเอียดให้เป็นผงใช้โรยในอาหาร หมักเนื้อสัตว์เพิ่มกลิ่นให้อาหาร เป็นที่นิยมมากในอาหารของชาวอาหรับ อาหารยุโรป และในบ้านเราก็มีการนำมาใช้ในอาหารที่เผ็ดร้อนเช่นกัน ส่วนต้นจันทน์เทศนั้นก็พบได้มากในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย นอกจากจะมีประโยชน์ในการปรุงอาหาร ยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรที่น่าสนใจมากนะคะ เรามารู้จักกับพืชสมุนไพรจันทน์เทศให้ดียิ่งขึ้นกันดีกว่าค่ะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Myristica fragrans Houtt.
ชื่อสามัญ : Nutmeg tree
วงศ์ : Myristicaceae
ชื่ออื่น : ขื่อเรียกท้องถิ่นอื่นๆ จันทน์บ้าน (เงี้ยว-ภาคเหนือ), โย่วโต้วโค่ว โร่วโต้วโค่ว (จีนกลาง), เหน็กเต่าโข่ว (จีนแต้จิ๋ว) ปาลา (มาเลเซีย) เป็นต้น
ลักษณะของต้นจันทน์เทศ : ไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของลำต้นประมาณ 5-18 เมตร ลำต้นเรียบมีสีเทาแกมดำ ส่วนเนื้อไม้นั้นมีกลิ่นหอม เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยอยู่
ใบ : เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ รูปทรงรี ปลายแหลม โคนสอบ ขอบใบเรียบ
ดอก : ออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก หรือบางครั้งอาจออกเป็นดอกเดี่ยว จะออกตามซอก สีเหลือง
ผล : เป็นรูปทรงกลม คล้ายลูกสาลี่ เปลือกผลเรียบสีเหลืองนวล หรือแดงอ่อน พอแก่แตกจะอ้าออกเป็น 2 ซีก เห็นรก หุ้มเมล็ดสีแดง เมล็ดสีน้ำตาลมี 1 เมล็ด
[ads]
สรรพคุณของจันทน์เทศ
เนื้อไม้, แก่น – ช่วยในการบำรุงปอด หัวใจ และน้ำดี รวมทั้งแก้อาการตับพิษตีพิษโลหิต และแก้ไข้เพื่อดี ให้รสขมหอมสุขุม
ผล – ให้ Myristica Oil ซึ่งเป็น Volatile Oil ประกอบด้วย Myristiein และ Safrole ซึ่งเป็นตัวแต่งกลิ่น และขับลม มีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวฝาด ร้อน มีสรรพคุณบำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร อาเจียน จุกเสียดแน่นท้อง มีสรรพคุณช่วยแก้ธาตุพิการ แก้กำเดา แก้อาการท้องร่วง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ตลอดจนช่วยบำรุงโลหิต ขับลม และแก้อาการปวดมดลูก
รกหุ้มเมล็ด – ให้รสเผ็ดร้อน ช่วยในการบำรุงโลหิต ช่วยขับลม และบำรุงธาตุ
เมล็ด – ให้รสร้อนหอมติดจะฝาดช่วยในการบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ ช่วยขับลม แก้อาการปวดมดลูก รวมทั้งแก้ธาตุพิการ บำรุงโลหิต และแก้อาการท้องร่วง
เปลือกเมล็ด – ช่วยในการแก้อาการปวดท้อง รวมทั้งช่วยสมานบาดแผลภายใน และแก้ท้องขึ้น
ขนาดยาตามตำราการแพทย์แผนไทย : ใช้เนื้อในเมล็ด 0.5 กรัม หรือประมาณ 1-2 เมล็ด บดให้เป็นผงละเอียด ชงน้ำครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน
รกและเมล็ดขนาด 0.5 กรัม หรือประมาณ 1-2 เมล็ด หรือใช้รก 4 อัน ป่นรก หรือเมล็ดให้เป็นผงละเอียด ชงน้ำครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง 2-3 วัน
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน :
ลูกจันทน์เทศ รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์สมานลำไส้ ระงับถ่ายท้องร่วง แก้ท้องร่วงเรื้อรัง (เนื่องจากม้ามและไตพร่องและเย็นเกินไป) และมีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร ทำให้ชี่หมุนเวียนดี แก้ปวดกระเพาะอาหาร เบื่ออาหาร อาเจียน จุกเสียดแน่นท้อง
ลูกจันทน์เทศมีน้ำมันในปริมาณสูง ทำให้มีข้อเสียคือ มีฤทธิ์หล่อลื่นและกระตุ้นลำไส้มากเกินไป โดยทั่วไปจึงต้องนำมาแปรรูป โดยใช้วิธีเฉพาะก่อนใช้ การคั่วจะขจัดน้ำมันบางส่วนออกไป ทำให้ฤทธิ์หล่อลื่นและกระตุ้นลำไส้ลดน้อยลง แต่มีฤทธิ์แรงขึ้น ในการช่วยให้ลำไส้แข็งแรงและระงับอาการท้องเสีย เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง ท้องร่วง อาเจียน อาหารไม่ย่อย
ขนาดยาตามตำราการแพทย์แผนจีน : ใช้ขนาด 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ภายนอกโดยบดเป็นผงผสม กับน้ำมันหรือน้ำส้มสายชูผสมทา
มีการพบจันทน์เทศเป็นส่วนประกอบในตำรับยาต่างๆ ในสมัยโบราณ เช่น
– ผลจันทน์เทศจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีพิษจักร” เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต แก้ธาตุพิการ แก้พิษเลือด แก้ลม ในตำรับยาประกอบไปด้วยตัวยา 3 ชนิด ได้แก่ ผลจันทน์เทศ กานพลู และผลผักชีล้อม
– ผลจันทน์เทศจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีคันธวาต” มีสรรพคุณแก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แต่แก้อาการจุกเสียด ในตำรับยาประกอบไปด้วยตัวยา 3 ชนิด ได้แก่ ผลจันทน์เทศ กานพลู และผลเร่วใหญ่
– ดอกจันทน์ พบปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย มีอาการใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง ในตำรับยามีส่วนประกอบของดอกจันทน์ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ อีก
– ดอกจันทน์ ยังปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ (รก) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ
– แก่นจันทน์เทศ จัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดจันทน์ทั้งห้า” มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ บำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ และช่วยแก้พยาธิบาดแผล พบว่าประกอบไปด้วย แก่นจันทน์เทศ, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์แดง (แก่นจันน์ผา), แก่นจันทน์ทนา, แก่นจันทน์ชะมด เป็นต้น
[yengo]
ข้อควรระวัง
– ไม่ควรรับประทานลูกจันทน์เทศมากเกิน 5 กรัม เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง มึนงง ทำให้ระบบการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
– พบพิษของลูกจันทน์ ชื่อว่า Myristicin (อยู่ในน้ำมันระเหยของลูกจันทน์) หากรับประทานเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สารจากลูกจันทน์จะไปยับยั้งการสร้างน้ำย่อยของกระเพาะอาการ อีกทั้งยังไปยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้อีกด้วย และหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้หมดสติ ม่านตาดำขยายตัว
– สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน
– ผู้ป่วยที่มีอาการร้อนแกร่ง บิดท้องร่วง ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้
– สำหรับผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร มีอาการปวดฟันและท้องเสียอันเกิดจากความร้อน ไม่ควรใช้แก่นจันทน์เทศเป็นยา
จะเห็นได้ว่าต้นจันทน์เทศนี้มีประโยชน์มากมายเลยทีเดียวเลยนะคะ เพิ่มเครื่องเทศอย่างจันทน์เทศใส่ในอาหารธรรมดาที่รับประทานในทุกๆ วัน ก็เป็นการเพิ่มประโยชน์บำรุงร่างกาย ป้องกันและรักษาอาการของโรคบางชนิดได้ แต่อย่างไรก็ตามหญิงตั้งครรภ์ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาดนะคะเพื่อความปลอดภัย และในคนปกติก็ไม่ควรรับประทานเกินกว่า 5 กรัม เพราะอาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน หัวใจทำงานผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้ ข้อควรระวังนี้ไม่ลืมกันนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com