ด่วนกองทัพอากาศ จัดเครื่องบิน ขนมังคุดใต้ แลกลำไยเหนือ
advertisement
กองทัพอากาศ จัดเครื่องบิน SAAB 340 ขนมังคุดใต้ แลกลำไยเหนือ ไป-กลับ รวม 4 ตัน ช่วยชาวสวนระบายผลผลิต ระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
ผู้สื่อข่าวสายทหาร เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam ว่า กองทัพอากาศได้จัดเครื่องบิน SAAB 340 เพื่อไปรับมังคุดที่ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ตัน ไปแลกลำไย จาก จ.เชียงใหม่ และลำพูน จำนวน 2 ตัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ช่วยชาวสวนระบายผลผลิต
advertisement
โดยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ราคาผลผลิตผลไม้ตกต่ำต่อเนื่อง สาเหตุจากการตกค้างของตู้ขนส่งสินค้าจากประเทศจีน การขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวและจัดการผลผลิต อีกทั้งการขนส่งผลผลิตออกนอกพื้นที่กระทำได้ค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของแต่ละจังหวัด
พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ จึงสั่งการให้ กองบิน 7 สนับสนุนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 17 (SAAB340) ในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในการระบายสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทาง
advertisement
โดยให้กองบิน 7 และกองบิน 41 ประสานการแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ระหว่าง 9-10 สิงหาคม2564 สำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน
advertisement
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งมอบผลผลิตมังคุด จำนวน 2 ตัน (2,000กิโลกรัม) จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้กับ กองบิน 7 เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนผลผลิตลำไย จำนวน 2 ตัน (2,000กิโลกรัม) จากจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน มี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นผู้รับมอบ
และวันนี้ (10 ส.ค. 64) กองบิน 7 จะนำผลผลิตมังคุด จำนวน 2 ตัน (2,000กิโลกรัม) จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี แลกเปลี่ยนผลผลิตลำไย จำนวน 2ตัน (2,000กิโลกรัม) จากจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน
advertisement
ซึ่งการแลกเปลี่ยนสินค้าในครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรในการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนผ่านกลไกสหกรณ์และการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชน โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นการนำกลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ตามหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์ มุ่งเน้นการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และนำการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างสหกรณ์มาดำเนินการ
เรียบเรียงโดย :kaijeaw.com ขอขอบคุณที่มา : Wassana Nanuam