พยาธิ..อันตรายที่มากับอาหาร!!
advertisement
เรื่องของอาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนทุกคน คนเราจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ดีและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราควรเอาใจใส่ในการเลือกสรรอาหาร อันตรายอย่างหนึ่งที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารที่เรารับประทาน นอกจากสารเคมีและยาฆ่าแมลงแล้ว นั่นคือเรื่องของพยาธิ ที่มักพบได้ในเนื้อสัตว์และผัก พยาธิเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนเรา บางชนิดสามารถรับประทานยาขับพยาธิออกได้ แต่พยาธิบางชนิดไม่สามารถทำได้ และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ พยาธิในอาหารเป็นอันตรายได้อย่างไรบ้าง ตาม Kaijeaw.com ไปดูกันค่ะ
advertisement
พยาธิ คือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ คอยแย่งอาหาร หรือดูดเลือดและมักจะทำให้เกิดอันตรายต่อคนหรือสัตว์ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่มันอาศัยอยู่ หรือเกิดเป็นโรคร้ายต่างๆ พยาธิมีมากมายหลายชนิดแตกต่างกัน นอกจากนี้เราสามารถพบระยะต่างๆ ของพยาธิปะปนอยู่ในธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมัน เช่น ในดิน พื้นหญ้า ในน้ำ ในเนื้อสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พืชผักต่างๆ น้ำดื่ม และในแมลงพาหนะนำโรคหลายชนิด
พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้หลายทางที่สำคัญคือ
– ทางปาก เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวตืดชนิดต่างๆ พยาธิใบไม้ตับและพยาธิใบไม้ลำไส้บางชนิด พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ปอด และพยาธิหอยโขง
– ทางผิวหนัง เช่น พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย ทางสายรกในครรภ์ เช่น พยาธิตัวจี๊ด
[ads]
อาการของผู้ที่เป็นโรคพยาธิ
เมื่อเป็นโรคพยาธิ จะมีอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น หิวบ่อย และทานอาหารมาก น้ำหนักลด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เจ็บและบวมตามผิวหนัง เจ็บแน่นหน้าอก ไอเป็นเลือด แพ้และมีผื่นคันหรือเป็นแนวแดงๆ บนผิวหนัง มีตุ่มนูนจำนวนมากขึ้นตามผิวหนัง เป็นไข้ ปวดเหมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว
ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจโรค โดยควรนำอุจจาระหรือเสมหะ หรือสิ่งที่สงสัยว่าเป็นพยาธิใส่ภาชนะที่สะอาด มาเพื่อให้แพทย์ตรวจหาชนิดของพยาธิ
advertisement
>>> แหล่งของพยาธิ
พยาธิที่พบได้ในผัก
– เชื้อซัลโมเนลลา เป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เชื้อบิดมีตัว เช่น อะมีบา ฮิสโตไลติกา (Ameba histolytica) เชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ อาจเป็นได้อย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง บางครั้งหากเชื้ออะมีบาหลุดเข้าไปในกระแสเลือดจะทำให้เกิดเป็นฝีที่อวัยวะอื่นๆ ที่พบมากที่สุด คือ เป็นฝีในตับ
– เชื้อไกอาเดีย แลมเบีย (Giardia lambia) และเชื้อบาแลนทิเดียม โคไล (Balantidium coli) ที่ปนเปื้อนมากับผักอาจทำให้เกิดแผลในลำไส้ใหญ่และอุจจาระร่วงได้
– เชื้อโปรโตซัวแฝงตัวมากับผักแล้ว ก็อาจจะพบไข่ของพยาธิในลำไส้หลายชนิด เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า รวมทั้งไข่ของพยาธิตัวตืดอีกด้วย
– ตัวอ่อนของพยาธิในผักที่ขึ้นอยู่ในน้ำ เช่น ผักบุ้ง กระจับ ก็อาจมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ลำไส้ติดมาด้วย
advertisement
พยาธิในเนื้อสัตว์
อาหารประเภทเนื้อสัตว์ก่อนกินควรทำให้สุกเสียก่อน เพื่อประโยชน์ในการย่อยและความปลอดภัย อาหารสุกๆ ดิบๆ ได้แก่ ก้อย ลาบ ยำ พล่า หรือเนื้อสัตว์ที่ย่างยังไม่สุกก็จะมีตัวอ่อนของพยาธิติดมาด้วยเช่นกัน
– พยาธิตัวตืดในเนื้อหมู พยาธิที่แทรกอยู่ในเนื้อสัตว์ที่พบบ่อยในลักษณะก้อนซีสต์ หรือที่เราเรียกกันว่าเม็ดสาคู ส่วนอาหารประเภทแหนมนั้น นอกจากผู้บริโภคมีโอกาสที่จะได้รับพยาธิตัวตืดแล้ว ยังอาจได้รับสารพิษที่มีชื่อว่า ไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วยถ้ามีการเติมสารไนไตรต์หรือดินประสิวลงไป
– พยาธิทริคิโนซิส พบในเนื้อวัว และเนื้อควายและอยู่ในลักษณะก้อนซีสต์หรือแคปซูล
– พยาธิตัวกลมไทรชิเนลลา สไปเรลีส (Trichinella spiralis) พบในหมูป่า หากไม่ปรุงให้สุกดี
– พยาธิตัวจี๊ด พบในปลา กุ้งน้ำจืด ไก่ กบ งู และปลาไหล ที่อาจเป็นพาหะนำโรคพยาธิตัวจี๊ดมาสู่คนได้โดยการกินตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ด ซึ่งอยู่ในเนื้อสัตว์ดังกล่าวดิบๆ หรือดิบๆ สุกๆ ซึ่งพยาธิตัวจี๊ดจะไปอาศัยอยู่ตามกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดผื่นแดงและมีอาการคัน
– พยาธิใบไม้ในตับ พบในปลาที่มีเกล็ดในตระกูลปลาตะเพียน ซึ่งพยาธิชนิดนี้เคยระบาดมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะประชาชนในภาคนี้นิยมบริโภคอาหารสุกๆดิบๆ เช่น ก้อยปลา ลาบปลา รวมถึงปลาร้าดิบด้วย โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภคปลาร้าดิบ ยังมีโอกาสที่จะได้รับสารพิษชนิดหนึ่ง คือ ไดเมลทิลไนโตรซามีน ซึ่งถ้าบริโภคเป็นประจำก็มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งในตับได้
– พยาธิตัวกลม อาจพบในอาหารทะเล ได้แก่ หอยซึ่งพบพยาธิในปอดหนู เป็นพยาธิตัวกลมที่สามารถทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคนได้นั้น สามารถพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ได้ในหอยทากและหอยโข่ง
– พยาธิใบไม้ พบในปูน้ำจืดบางชนิด เช่น ปูน้ำตก ซึ่งพบมากแถบจังหวัดสระบุรีสามารถตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในปอด ดังนั้นจึงควรระวังในการบริโภคปูดองให้ดี
– อื่นๆ แม้กระทั่งในปลาดิบญี่ปุ่น ปูไข่ดองเค็ม ฯลฯ ก็อาจพบเชื้อโปรโตซัวหรืออหิวาตกโรคเทียม เชื้อชนิดนี้มีชีวิตอยู่ได้นาน ทนทานในน้ำทะเลและน้ำกร่อย ดังนั้นจึงพบโรคนี้ได้ภายหลังจากการบริโภคอาหารทะเลสุกๆ ดิบๆ
การล้างผักให้สะอาดปราศจากพยาธิ
ผักทุกชนิดเมื่อนำมาใช้บริโภคดิบๆ ต้องล้างน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ถ้าเป็นผักที่เป็นกอ เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหอม ควรจะสำรวจดูที่โคนผักเสียก่อน เพราะอาจมีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์แอบแฝงอยู่ เช่น ไข่พยาธิ ดินโคลน หรือเศษปุ๋ย ล้างสิ่งเหล่านี้ให้หมดเสียก่อนแล้วจึงแกะกาบใบออก อาจใช้ตัวช่วยเช่น เบ๊กกิ้งโซดา ผงทับทิม ผงปูนคลอรีนก็เป็นวิธีช่วยในการฆ่าเชื้อโรคและทำลายไข่พยาธิได้
[ads]
advertisement
การป้องกัน พยาธิจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย
1. เลือกซื้อเนื้อหมู เนื้อวัว ต้องมีสีแดงสดตามธรรมชาติ ไม่ซ้ำเลือด หรือมีกลิ่นเหม็น และ ไม่มีเม็ดสาคู
2. เลือกซื้อผักสด ต้องไม่เหี่ยวเฉา ไม่มีเชื้อรา คราบสกปรก โดยเฉพาะจากปุ๋ยคอกสด
3. ปรุงอาหารให้สุกเสมอ หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ
4. ผักสดต้องล้างน้ำให้สะอาด โดยการเด็ดใบหรือคลี่ใบล้างให้สะอาดหลายๆ ครั้ง
5. ก่อนปรุง หยิบจับอาหารต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดก่อนเสมอ
6. ก่อนและหลังกินอาหารทุกครั้ง จะต้องล้างมือให้สะอาดเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่กินข้าวด้วยมือ
7. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หรือก่อนนำอาหารที่เหลือเก็บมากินต้องอุ่นให้ร้อนทุกครั้ง
8. ต้องเก็บอาหารในตู้กับข้าวที่มีมุ้งลวด หรือใช้ฝาชีครอบเพื่อป้องกันแมลงวัน แมลงสาบและฝุ่นละออง
9. ดื่มน้ำที่สะอาด หรือน้ำต้มสุก และใช้น้ำที่สะอาดในการปรุงอาหาร หรือชำระร่างกาย
10. เก็บอาหารให้ปลอดจากแมลงและสัตว์พาหนะนำโรคต่างๆ
เรื่องของพยาธิที่พบในอาหารนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็พบว่ามีอยู่เรื่อยๆ นั่นเป็นเพราะว่าบางคนเกิดความชะล่าใจ คิดว่าไม่มีพยาธิ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เราจะทานอาหารที่มีพยาธิและพยาธิจะเข้าสู่ร่างกายของเราเมื่อใด ดังนั้นเพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายของพยาธิต่างๆ เหล่านั้น ก็คือการหมั่นเอาใจใส่ในเรื่องของอาหารการกิน รวมไปถึงสุขอนามัยที่ดีของร่างกายและที่อยู่อาศัย เพื่อสุขภาพที่ดีไร้อันตรายจากพยาธินะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com