พริกไทย..สุดยอดสมุนไพรเป็นอายุวัฒนะ !!
advertisement
พริกไทย( Pepper)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper nigrum
ชื่อวงศ์ : Piperaceae
ชื่ออื่นๆ : พริกขี้นก, พริกไทยดำ, พริกไทยขาว, พริกไทยล่อน, พริกน้อย (ภาคเหนือ), พริก (ใต้)
advertisement
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้เลื้อยมีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ลำต้น:มีข้อและป้องชัดเจน ใบ:เป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือรี ปลายใบแหลม โคนใบมนกลมหรือแหลมเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้าง 3.5 – 6 ซม. ยาว 7 – 10 ซม. เส้นใบที่บริเวณโคนใบมี 3 – 5 เส้น ดอก:ออกเป็นช่อและออกตรงข้ามกับใบ ช่อรูปก้านใบยาว 10 – 20 มม. ติดอยู่ตามแกนช่อดอกรองรับดอก รังไข่กลมปลายเกสรแยก 3 – 6 แฉก ช่อดอกตัวผู้มีดอกที่มีเกสรตัวผู้ 2 อัน ผลรวมกันบนช่อยาว 5 – 15 ซม. ผล:รูปทรงกลมขนาด 4 – 5 ซม. แก่แล้วมีเมล็ด:สีดำ ภายในมี 2 เมล็ด พริกไทยเป็นพืชมีผลเป็นพวงเม็ดขนาดเล็ก และเป็นเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อน สามารถนำมาทำพริกไทยแห้งเป็นเครื่องปรุงสำหรับอาหาร ซึ่งถ้าทำแห้งทั้งเปลือกจะได้พริกไทยดำเนื่องจากผงของเปลือกเป็นสีดำปนอยู่ ส่วนพริกไทยขาวได้จากการลอกเปลือกออกก่อนทำเป็นผง
[ads]
advertisement
ข้อแตกต่างระหว่างพริกไทยดำ กับ พริกไทยขาว
พริกไทยดำ (Black Piper) และพริกไทยขาว (White Piper) ได้มาจากพืชชนิดเดียวกันคือ พริกไทย แต่วิธีการเก็บเกี่ยวต่างกัน คือ
– พริกไทยดำ ได้จากการเก็บเกี่ยวผลพริกไทยที่เป็นผลแก่เต็มที่แต่ยังไม่สุก เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วนำไปตากแดดบนลาน ใช้สังกะสีหรือผ้าใบคลุมให้ผลหลุดจากขั้ว ร่อนแล้วนำมาผึ่งแดดให้แห้งประมาณ 4 – 5 วัน ผิวก็จะเหี่ยวย่น เปลี่ยนเป็นสีดำ
– พริกไทยขาว ได้จากการเก็บเกี่ยวผลพริกไทยที่แก่จัด และผลเริ่มสุกเป็นสีแดงและกลายเป็นสีดำ จากนั้นจึงนำไปแช่น้ำ เพื่อลอกเอาเปลือกชั้นนอกออกไปเหลือแต่เมล็ดข้างใน และนำไปแช่ในน้ำที่ไหลหรือน้ำที่นิ่ง แต่พริกไทยที่แช่ในน้ำไหลจะมีสีขาวกว่าที่แช่ในน้ำนิ่ง โดยใช้เวลาประมาณ 7 -14 วัน แล้วจึงนำมานวดเพื่อลอกเอาเปลือกออก ล้างด้วยน้ำสะอาดและนำไปตากแดดทันที ประมาณ 4 – 5 วันก็จะแห้งสนิท ได้เป็นพริกไทยขาว บางครั้งเรียกกันว่า พริกไทยล่อน
advertisement
คุณค่าทางด้านโภชนาการของพริกไทย
1. มีแคลเซียมในปริมาณที่สูงมาก โดยเฉพาะพริกไทยอ่อน ซึ่งแคลเซียมเป็นส่วนสำคัญในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงอยู่เสมอ และแคลซียม ยังสามารถป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้อีกด้วย
2. มี ฟอสฟอรัส วิตามินซี ซึ่งวิตามินซีนั้นเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ชลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
3. มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ และมีส่วนช่วยในการมองเห็น
4. มีสารที่ชื่อว่า ไปเปอรีน และ ฟินอลิกส์ ซึ่งทั้งคู่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีสรรพคุณในการป้องกันมะเร็ง
สรรพคุณของพริกไทย
ตำรายาไทย
ผล: รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร โดยกระตุ้นปุ่มรับรสที่ลิ้นทำให้กระเพาะอาหารหลังน้ำย่อยเพิ่มขึ้น แก้ลมอัมพฤกษ์ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้เสมหะ แก้มุตกิด ระงับอาการปวดท้อง แก้ไข้มาลาเรีย แก้อหิวาตกโรคและกระตุ้นประสาท
ใบ: รสเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียดแน่น แก้ปวดมวนท้อง บำรุงธาตุ แก้นอนไม่หลับ แก้เสมหะ
ดอก: รสร้อน แก้ตาแดงเนื่องจากความดันโลหิตสูง
ราก: รสร้อน บำรุงธาตุ แก้เสมหะ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน บำรุงธาตุไฟ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร
เถา: ขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร แก้เสมหะ
ผล เถา ราก และใบ: มีรสเผ็ดร้อน เป็นยาร้อน ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ทำให้ร่างกายอบอุ่น แก้กระเพาะเย็นชื้น แก้ปวดท้อง แก้อาหารเป็นพิษ แก้อาเจียนเป็นน้ำ แก้ท้องเสีย แก้ปวด แก้หลอดลมอักเสบเนื่องจากลมขึ้น แก้หืดหอบ ไอเย็น ช่วยละลายเสมหะ ขับเหงื่อ และขับปัสสาวะ
advertisement
สรรพคุณทางยา/ ส่วนที่ใช้และวิธีการใช้
ขับปัสสาวะแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ:นำผลแก่ประมาณ 15 – 20 ผล บดเป็นผงชงน้ำกินให้หมด 1 ครั้ง ช่วยขับลม ขับเสมหะ ขับเหงื่อ
มาลาเรีย : พริกไทย 10-15 เม็ด บดละเอียด ใช้ปลาสเตอร์ขนาด 8 x 8 เซนติเมตร ใส่ผงพริกไทยตรงกลาง ปะติดจุดต้าจุย ใต้กระดูกคอที่ 7 (กระดูกคอส่วนที่นูนที่สุด) ทิ้งไว้ 7 วัน เป็น 1 การรักษา ถ้าปลาสเตอร์หลุดให้เปลี่ยนใหม่
ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง : พริกไทยขาว 7 เม็ด ชะมดเชียง 0.15 กรัม ใช้ชะมดเชียงใส่ที่สะดือก่อน แล้วใช้พริกไทยโรยทับข้างบน ใช้ผ้าขาวปิดทับปลาสเตอร์ติดแน่นทิ้งไว้ 7-10 วันแล้ว เปลี่ยนครั้ง 10 ครั้งเป็น 1 ระยะของการรักษา
เด็กระบบย่อยอาหารไม่ดี: พริกไทยขาว 1.0 กรัม น้ำตาลกลูโคส 9.0 กรัม ผสมกันเป็นยาผง เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ กินครั้งละ 0.3-0.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1-3 วัน เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป กินครั้งละ 0.5-1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1-3 วัน ทั้งนี้มักใช้ไม่เกินครั้งละ 2 กรัม
ตำรายาจีน: ใช้พริกไทยแก้ปวดท้องท้องเดินจากโรคอหิวาต์ โรคมาลาเรีย และแก้ไข้ ส่วนน้ำมันพริกไทยดำ (blackpepper oil) มีสารชื่อ พิเพอรีน (piperine) กลิ่นฉุนจัด ระคายเคืองต่อผิวหนัง เมื่อใช้ต้องเจือจาง สำหรับสูดดมหรือทาถูช่วยลดอาการหนาวสั่นจากหวัดและไข้หวัดใหญ่ ทำให้หายใจโล่งและช่วยฆ่าเชื้อโรค ผสมน้ำมันนวดบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ กลิ่นพริกไทยมีฤทธิ์กระตุ้นความสนใจสภาพแวดล้อม ให้ตื่นตัวเสมอ เพิ่มพลังใจ และความเข้มแข็ง
ตำรายาอินเดีย: ใช้กลั้วคอ แก้เจ็บคอ ลดไข้ แก้หวัด ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดประจำเดือน คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย
advertisement
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพริกไทย
รองศาสตราจารย์ พร้อมจิต ศรลัมพ์ ที่ปรึกษาสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายใน นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 322 ปีที่14 1 ธันวาคม 2555 หน้า 26 ใน โรยพริกไทยสักนิด ชีวิตจะยืนยาว พริกไทยดำ และพริกไทยขาว มีน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ น้ำมันหอมระเหยในพริกไทยดำมีมากกว่าพริกไทยขาว และจัดเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งช่วยปกป้องเซลล์จากเชื้อโรค กำจัดสารพิษ และทำให้ร่างกายแข็งแรง มีสารแอลคาลอยด์ เป็นสารที่สำคัญ เช่น สารพิเพอรีน (Piperine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เผ็ดร้อนและกลิ่นฉุน และในทางสรรพคุณของยาสมุนไพร พริกไทยดำจะมีตัวยามากกว่าพริกไทยขาว
จากเวบไซต์ thaihealth.or.th ได้กล่าวถึง คณะวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการศึกษาวิจัยพริกไทยดำสด ๆ ที่เรานิยมมานำมาปรุงอาหารเพื่อเพิ่มกลิ่น รสชาติ พบว่าในพริกไทยดำมีสารที่เรียกว่า สารพิเพอรีน (Piperine) มาก เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสามารถป้องกันอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้ ซึ่งได้สกัดสารดังกล่าวออกมาทดลองในหนูที่เซลล์ประสาทส่วนกลางของการรับรู้เสื่อมกับหนูปกติ ด้วยการหยดสารนี้ทางรูจมูกของหนู เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของการจดจำของหนูที่ได้รับสารในการจดจำจุดหมายในอ่างน้ำ ผลการทดลองปรากฏว่าหนูที่มีความจำเสื่อมกลับมาเป็นปกติ ซึ่งผลการทดลองครั้งนี้ ทางคณะที่ทำการวิจัยได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต
[yengo]
advertisement
ข้อแนะนำ
พริกไทยดำชนิดเม็ด และ ชนิดผง พริกไทยดำชนิดเม็ดที่เรานำมาบดเอง จะมีกลิ่นหอมและรสเผ็ดร้อนมากกว่าพริกไทยดำชนิดผงที่บดไว้นานแล้ว เพราะจะทำให้น้ำมันหอมระเหยและสารต่าง ๆ สลายไปจำนวนหนึ่งแล้ว จึงทำให้มีคุณภาพด้อยกว่าชนิดเม็ด
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพริกไทย
-พบว่าการกินพริกไทยจะเพิ่มการหลั่งน้ำย่อยของระบบทางเดินอาหารและเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้
-มีฤทธิ์ในการลดไข้ กระจายความเย็นที่กระทบร่างกายทำให้เกิดไข้
-ฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิ และเชื้อแบคทีเรีย
-ฤทธิ์ในการลดไขมันในเลือด
ข้อควรระวัง
หากกินพริกไทยมากเกินไปจะทำให้เกิดโทษดังนี้
-กินพริกไทยมากเกินไปทำให้ตาลาย เวียนศีรษะ เกิดฝีหนองเนื่องจากพริกไทยมีคุณสมบัติร้อนและแห้ง
-ทำให้ม้าม กระเพาะอาหาร ปอดถูกทำลาย
-ปอดแห้ง ปอดร้อน ทำให้เกิดฝีที่ผิวหนัง มีการอักเสบ เพราะรสเผ็ดวิ่งเส้นลมปราณปอดกระจายสู่ผิวหนัง
-กระเพาะอาหาร ม้าม ร้อนแห้ง เกิดอาการอาเจียนเป็นเลือด
-คนที่กินพริกไทยมากและบ่อยเกินไป ทำให้ตาอักเสบได้ง่าย ทำให้คอบวมอักเสบเจ็บคอบ่อย เป็นแผลในปากและฟันอักเสบเป็นหนอง
เราจะเห็นได้ว่าพริกไทยนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากว่ารับประทานพริกไทยดำมากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะจะทำให้มีการตกค้างของสารพิษในร่างกายส่งผลต่อการทำงานของตับและอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายได้
เรียบเรียงข้อมูลโดย : Kaijeaw.com
อ้างอิงข้อมูลจาก/ References:
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก wikipedia.org
ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพรไทย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก thaicrudedrug.com
ฐานข้อมูลสมุนไพรไทย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก phargarden.com
สาขาเทคโนโลยีการศึกษา (สสวท)(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก edtech.ipst.ac.th
สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก thaihealth.or.th