กินยาอย่างไร ? .. ไม่ให้ตีกัน !!
advertisement
“ยา” ที่มีประโยชน์ในการรักษาโรค! โรคความเจ็บป่วยแต่ละชนิดอาจจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิด ยาบางชนิดก็มีส่วนสามารถรักษาโรคได้หลายชนิดด้วยกัน และอีกทางเลือกหนึ่งของยาในตำรับสมุนไพรบางชนิด ก็มีสรรพคุณระบุไว้เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน ซึ่งในบางคนอาจป่วยเป็นหลายโรค มีหลายอาการที่จำเป็นต้องใช้ยาแตกต่างกัน และสิ่งที่หลายๆ คนกังวลว่า ทานยาหลายชนิดในคราวเดียวกัน อาจเป็นปัญหา “ยาตีกัน” ได้ จะกินยาอย่างไร ? .. ไม่ให้ตีกัน !! วันนี้ ไข่เจียว.com มีคำตอบ
คำว่า “ยาตีกัน” มาจากภาษาอังกฤษว่า drug interaction ซึ่งถ้าแปลตรงตัวจะได้ความว่า ปฏิกิริยาระหว่างยา การที่ฤทธิ์ของยาตัวเดิมเปลี่ยนแปลงไปเมื่อได้รับยาอีกตัวหนึ่งเพิ่มขึ้น หรือได้รับยามากกว่าหนึ่งตัว ซึ่งอาจมีผลทำให้ยาตัวเดิมนั้นมีฤทธิ์มากขึ้น จนเกิดผลข้างเคียงต่อผู้ใช้ หรืออาจจะไปมีผลทำให้ฤทธิ์ของยาตัวเดิมลดลง ทำให้ได้ผลการรักษาน้อยลงก็ได้ ซึ่งบางครั้งผลของ "ยาตีกัน" ก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้
ตัวอย่างการกินยาและปฏิกริยาที่เกิดขึ้น
– ไม่ควรกินยาลดกรดกับยาระบาย bisacodyl เพราะจะทำให้ยาระบายตัวนี้ออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหารแทนที่จะไปออกฤทธิ์ที่ลำไส้ จึงทำให้เกิดอาการปวดท้อง การรับประทานยาลดกรดร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น tetracyclin ก็จะทำให้ยา tetracyclin ไม่ออกฤทธิ์ และไม่ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการ
– ไม่รับประทานยาคุมกำเนิดกับการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยาในกลุ่ม sulfa penicillin เช่น amoxicillin และ erythromycin ติดต่อกันนานๆ เพราะอาจจะทำให้ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพลดน้อยลง ซึ่งนั่นอาจจะเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้ และในทางกลับกันยาเม็ดคุมกำเนิดก็จะไปลดประสิทธิภาพของยาบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มเบาหวาน หรือยาลดความดันโลหิต
– ยาลดน้ำตาลในเลือดกับยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด การใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน กับยาแก้ปวดข้อกลุ่มเอ็นเสด ทำให้ช็อกได้
– ในการรับประทานยาบางชนิด อย่างเช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดกระดูก หากรับประทานร่วมกันหลายชนิดฤทธิ์ในการรักษาก็อาจจะเท่าเดิม แต่จะทำให้เกิดผลข้างเคียง คือทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารมากขึ้น
– ยาแผนปัจจุบันกับสมุนไพรสามารถทานร่วมกันได้ เช่น การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของหลอดเลือดbaby aspirin ร่วมกับ ขมิ้นชัน กระเทียม สารสกัดจากใบแปะก๊วย มีผลช่วยเสริมฤทธิ์กัน ทำให้เลือดไม่แข็งตัว แต่หากเกิดอุบัติเหตุ ก็จะทำให้เลือดไหลไม่หยุด หรือในกรณีที่ไปถอนฟันหรือผ่าตัด โอกาสที่เลือดจะแข็งตัวก็ยากขึ้น
– ยาแผนปัจจุบันกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดร่วมกับน้ำมันปลา ก็อาจจะทำให้เลือดแข็งตัวได้น้อยลง
– ไม่ควรรับประทานยาแก้แพ้หรือยากล่อมประสาทที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง ร่วมกับการรับประทานเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มเหล่านี้จะไปเสริมฤทธิ์ในการกดสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้
[ads]
จะรู้ได้อย่างไรว่ายาตีกัน และทำอย่างไรไม่ให้ยาตีกัน
อาการที่เกิดจากยาตีกัน สามารถสังเกตได้จากผลการรักษาโรคที่ผิดไปจากเดิม เช่น การรับประทานยาแก้แพ้ chlorpheniramine ซึ่งปรกติจะทำให้เกิดอาการง่วงนอนอยู่แล้ว แต่หากไปรับประทานร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดสมอง ก็จะทำให้เสริมฤทธิ์กันจนทำให้ผู้รับประทานหลับไปเลยได้ หรือในกรณีของยาระบาย bisacodyl ปรกติจะออกฤทธิ์ที่ลำไส้ ผู้รับประทานจึงไม่ค่อยรู้สึกปวดมวนท้อง แต่หากรับประทานร่วมกับนมหรือยาลดกรด ก็จะทำให้ปวดท้องมาก อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาของยาตีกันในบางกลุ่ม ก็จะไม่มีอาการแสดงออกมาในทันที แต่จะไปทำให้ผลการรักษาลดลง เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดร่วมกับยาปฏิชีวนะบางชนิด ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง ซึ่งกว่าจะทราบก็อาจแก้ไขไม่ทันแล้ว
แก้ไขปัญหายาตีกันด้วยการจดบันทึกยา
ปัญหาเรื่องยาตีกันหรือการใช้ยาซ้ำซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยไม่รู้เท่าทัน สมุดจดบันทึกยาสามารถขอได้ที่ร้านยา โรงพยาบาล หรือศูนย์บริการสุขภาพ เพื่อใช้ในการบันทึกรายการยาที่ต้องใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยาที่ได้รับจากสถานพยาบาล หรือยาและอาหารเสริมที่ซื้อมากินเอง ที่สำคัญต้องนำสมุดบันทึกยาไปด้วยทุกครั้งเมื่อไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล เพื่อผู้ปฏิบัติวิชาชีพจะได้ทราบ และไม่สั่งยาซ้ำซ้อน หรือสั่งยาที่มีฤทธิ์ต่อกันให้
[yengo]
ข้อแนะนำการใช้ยา
1. ควรอ่านฉลากยาให้เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน การไม่อ่านฉลากยาอาจใช้ยาผิด อาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
2. การกินยาหลังอาหาร หมายถึง กินยาหลังอาหารทันที ไม่จำเป็นต้องรอเวลา 30 นาที-1 ชม.
3. ยาส่วนใหญ่จะระบุให้กินหลังอาหารเพื่อให้จำง่าย ซึ่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภารกิจเร่งรีบจนไม่มีเวลากินอาหารตามมื้อควรกินยาในเวลาเดียวกันเป็นประจำ โดยไม่ต้องคำนึงถึงการกินอาหาร เพื่อผลในการควบคุมโรค เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาขับปัสสาวะ ที่ต้องกินตรงเวลาทุกเช้า
4. ยาบางชนิดจำเป็นต้องกินหลังอาหารทันทีหรือพร้อมอาหาร เนื่องจากมีฤทธิ์กัดกระเพาะได้ ดังนั้น หากถึงเวลากินยาก็จำเป็นต้องกินอาหารรองท้องไว้ เพื่อป้องกันยากัดกระเพาะจนอาจเป็นแผลเลือดออก ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการงดยา เพราะจะทำให้ควบคุมอาการของโรคไม่ได้
5. ยาที่ต้องกินก่อนอาหาร หมายถึง กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมงขึ้นไป เนื่องจากอาหารจะลดการดูดซึมของยา หรือเพื่อให้ยาออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้ในเวลากินอาหาร เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หากลืมกินยา และกินอาหารไปแล้ว ให้กินยาหลังอาหารมื้อนั้น 1 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้ท้องว่าง แต่ต้องระวังว่าเวลาที่กินอาหารจะไม่ใกล้กับยาในมื้อถัดไป
6. ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องกินยาก่อนอาหารเป็นนาทีถึงครึ่งชั่วโมง แล้วแต่ชนิดของยา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจากการกินอาหาร จึงจำเป็นต้องกินอาหารหลังกินยาทุกครั้ง มิฉะนั้นจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป ทำให้หน้ามืด วิงเวียน เป็นลม และในทางกลับกัน หากงดยาเองเพราะไม่อยากกินอาหารก็อาจทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
7. หากไม่มั่นใจในการกินยาควรปรึกษาเภสัชกรที่ห้องจ่ายยาโรงพยาบาลหรือร้านยาทุกครั้ง เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งไม่ควรลดหรือเพิ่มขนาดยาเองด้วย
8. หากจำเป็นต้องไปพบแพทย์บ่อยๆ ต่างสถานที่รักษา ควรนำยาที่เคยได้รับไปให้แพทย์ด้วยทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา
9. ผู้ป่วยที่มีภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรแจ้งเภสัชกรทุกครั้งที่รับยา เพื่อให้เภสัชกรพิจารณาความเหมาะสมของยา และผลของยาที่อาจมีต่อบุตรในครรภ์หรือบุตรที่ได้รับนมแม่
10. ผู้ที่มีโรคประจำตัว และมีอาการแพ้ยา ต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งที่เข้าพบแพทย์หรือซื้อยา
คนที่มีความจำเป็นในการใช้ยาบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่นานๆ ที่ใช้ยา คราวหน้าไปพบแพทย์หรือร้านขายยา อย่าลืมขอสมุดจดบันทึกยากลับมาด้วยนะคะ และอย่าลืมนำไปด้วยทุกครั้งที่มีการซื้อยาค่ะ เพื่อป้องกันการใช้ยาผิดและปัญหายาตีกัน ที่ส่งผลให้ฤทธิ์ยาไม่ได้ประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร หรือส่งผลอันตรายต่อสุขภาพได้ค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : ไข่เจียว.com