พ่อแม่ควรรู้!! ก่อนให้ลูกดูโทรทัศน์!!
advertisement
ปัจจุบัน สื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของคนเราทุกช่วงวัยเลยทีเดียว รวมถึงในเด็กตัวเล็กๆ ที่เข้าถึงสื่อต่างๆ ได้เช่นกัน โดยที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเป็นผู้หยิบยื่นให้ โดยเฉพาะ โทรทัศน์ ใช้ดึงดูดความสนใจลูกน้อยที่กำลังงอแง เปิดให้ดูการ์ตูน หรือรายการอื่นๆ ที่ลูกสนใจ แม้จะเป็นรายการสำหรับเด็ก แต่ก็ย่อมส่งผลต่อลูกได้ ในความเป็นจริงแล้วผู้ปกครองควรให้ลูกดูโทรทัศน์หรือไม่ มีผลดีร้ายอย่างไร และควรทำเช่นไร บ้านไหนที่มีเด็กเล็กและชอบเปิดโทรทัศน์ให้ลูกดูอยู่บ่อยครั้ง ตาม Kaijeaw.com มาดูกันค่ะ
advertisement
ผลเสียที่เกิดขึ้นได้กับเด็กที่ใช้เวลาดูโทรทัศน์มากเกินไป
1) พัฒนาการด้านสมาธิของเด็ก ในเด็กที่ดูโทรทัศน์นานเกินไป เด็กจะชินกับการกระตุ้นมากๆ จากแสง สี เสียงในโทรทัศน์ ทำให้เขาไม่ชินกับการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ หรือใช้ความอดทนรอคอย เช่นการฟังนิทาน การอ่านหนังสือ การวาดรูป ขาดสมาธิที่จะจดจ่อกับงานที่ทำน้อยลง เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียนที่ต้องใช้สมาธิมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับประถมซึ่งต้องใช้ความนิ่ง การทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น เด็กก็จะไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ศักยภาพของตนเองที่ควรทำได้ [ads]
2) สุขภาพของเด็ก และปัญหาการกิน ซึ่งเด็กที่ติดโทรทัศน์ มักจะทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงไปด้วย เช่นออกกำลังกาย เล่นกีฬา วิ่งเล่นกับเพื่อนน้อยลง ร่วมกับมักมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม เช่น มีนิสัยชอบทานขนมจุบจิบ หรือทานข้าวพร้อมกับดูโทรทัศน์ ทำให้การเผาผลาญพลังงานของร่างกายต่ำลง มีงานวิจัยเรื่องโรคอ้วนในเด็ก หลายชิ้นที่พิสูจน์ชัดเจนว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์มากจะมีโอกาสน้ำหนักเกินหรืออ้วนมากกว่าเด็กที่ดูน้อยถึง 3 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงกับโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
3) ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว แทนที่พ่อแม่ลูกจะได้นั่งคุยกัน ได้ถามถึงการเรียนของลูก ถามถึงเพื่อนๆ ที่โรงเรียนว่าเป็นอย่างไร เรียนสนุกหรือไม่ ทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง หรือพูดคุยเรื่องอื่นๆ กลายเป็นว่าเด็กไม่ค่อยได้พูดคุยกับพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่ได้พูดคุยกับลูก ต่างฝ่ายต่างทำธุระ พ่อแม่ก็ปล่อยให้ลูกนั่งดูโทรทัศน์ไป ถึงเวลานอนก็พาเข้านอน เช้ามาก็ไปส่งที่โรงเรียน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็ลดน้อยลง เมื่อโตขึ้นเวลาเด็กมีปัญหา ก็อาจทำให้ขาดความไว้วางใจ ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ คิดตัดสินใจด้วยตนเองจนเกิดความผิดพลาดได้”
4) พัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสาร บางคนคิดว่าการดูโทรทัศน์จะสามารถช่วยให้ลูกพูดได้เร็วขึ้น หรือสร้างความฉลาดให้เด็กจากรายการต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วโทรทัศน์เป็นการสื่อสารทางเดียว (One-way communication) ซึ่งตามปกติแล้วการเรียนรู้ทางภาษาที่ดีควรเรียนจากการสื่อสารสองทาง (two-way communication) หรือในลักษณะที่มีการโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กัน การปล่อยเด็กเล็กอยู่กับโทรทัศน์นานๆ เป็นเหตุให้เด็กต้องทนฟังเสียงที่ไม่อาจเข้าใจได้อยู่ข้างเดียวแล้ว จึงพบได้ว่าเด็ก 1 ใน 5 ของเด็ดกลุ่มนี้พูดไม่ได้เมื่อถึงวัยอันควร ต่างจากเด็กที่ใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นแบบอย่างได้ เช่น พ่อแม่ หรือคนเลี้ยง จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการได้มากกว่าเด็กที่เฝ้าดูโทรทัศน์เป็นแบบอย่าง
5) พฤติกรรมที่น่ากลห่วง หากเด็กได้รับสื่อที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องเด็กจะมีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง เช่น ชอบใช้ความรุนแรงโต้ตอบ, รู้สึกหวาดกลัวสังคม, รู้สึกเคยชินกับความรุนแรง กับสิ่งไม่เหมาะสมที่ได้เห็น, ความเมตตาอยากช่วยคนอื่นลดลง
6) เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งความคิด การกระทำ คำพูด และการแต่งกาย นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า 'เด็กและเยาวชนใช้เวลาดูโทรทัศน์โดยเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง ทำให้เด็กๆ ซึมซับพฤติกรรมและค่านิยมที่ไม่เหมาะสมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากวิจารณญาณยังน้อย
advertisement
เมื่อไหร่ที่ควรให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์ได้
เด็กอายุเกิน 2 ปีขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้ดูโทรทัศน์ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ควรเกินวันละ 2 ชั่วโมง และที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรจะนั่งดูไปพร้อมกับลูกด้วยทุกครั้ง เพื่อพูดคุยซักถามเกี่ยวกับสิ่งที่ลูกดู จะได้ช่วยแก้สิ่งที่เห็นว่าผิด และแนะนำในสิ่งที่ถูก สิ่งที่เห็นว่าลูกสามารถนำไปทำตามอย่าง รวมทั้งเลือกรายการที่เหมาะสมกับวัยของลูก
วิธีการแก้ไข เมื่อลูกมีพฤติกรรมติดโทรทัศน์มากจนเกินไป
โดยพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องมีความอดทนในการค่อยๆ ปรับพฤติกรรมและสร้างทางเลือกให้เด็ก
1. หาวิธีการที่นุ่มนวลในการลดเวลาดูโทรทัศน์ของเด็ก ลดจำนวนวันที่เด็กดูในแต่ละสัปดาห์ให้น้อยลง ชักชวนเด็กทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สนุกและมีประโยชน์เพิ่มขค้น
2. พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี โดยดูให้เป็นเวลา ไม่เปิดโทรทัศน์อย่างไร้จุดหมาย และควรเลือกดูรายการที่เหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย
3. จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านและสร้างกิจกรรมทางเลือกให้เด็ก การที่เราใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์ทำให้เราเสียโอกาสในการทำกิจกรรมดีๆ มากมาย ซึ่งผู้ปกครองควรชี้แนะกิจกรรมอื่นๆ เช่น ชวนเล่นกีฬากลางแจ้ง ทำงานประดิษฐ์ ปลูกต้นไม้ ทำสวน หรือการส่งเสริมให้ลูกมีกิจกรรมทางกาย (Active play) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ ใช้การเล่นหรือการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการระบบต่างๆของร่างกาย [yengo]
แนวทางในการสอนเด็กๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีในการดูโทรทัศน์
1. จำกัดเวลาดูโทรทัศน์ เช่น กำหนดให้ลูกดูโทรทัศน์ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถ้าเกินก็ต้องมีการลงโทษ เช่น งดให้ดูในวันถัดไป
2. ไม่ควรอนุญาตให้มีโทรทัศน์ในห้องนอนของลูก ควรให้เขาดูในห้องกลาง เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้สามารถดูแลได้สะดวก
3. ควรวางโทรทัศน์ไว้ในห้องที่มีสิ่งบันเทิงอื่นๆ ที่ไม่ใช่จอสี่เหลี่ยม (เช่น หนังสือ นิตยสารสำหรับเด็ก ของเล่น เกมปริศนา กระดานหมากรุก เป็นต้น) เพื่อส่งเสริมให้ลูกๆ ของคุณทำอย่างอื่นนอกจากดูโทรทัศน์
4. ปิดโทรทัศน์ในระหว่างรับประทานอาหาร
5. ทำให้การดูทีวีเป็นเหมือนสิทธิพิเศษที่คุณยอมอนุญาตให้ลูกบางครั้งบางคราว แต่ไม่ใช่สิทธิ์ที่พวกแกต้องได้เสมอไป บอกกับลูกๆ ว่า พวกแกจะดูโทรทัศน์ได้ก็ต่อเมื่อทำการบ้านและงานบ้านเสร็จหมดแล้ว
6. ใช้เวลาพิเศษกับครอบครัวให้มากขึ้น เก็บเวลาที่ดูโทรทัศน์มาไว้สำหรับการอยู่พร้อมหน้ากันของครอบครัวเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน เล่นเกม ทำกิจกรรมกลางแจ้ง และอ่านหนังสือจะดีกว่า
7. เป็นตัวอย่างที่ดี โดยการจำกัดเวลาดูโทรทัศน์ของคุณเอง
8. ตรวจดูรายการโทรทัศน์ที่จะให้ลูกดูเสียก่อน
9. กำหนดตารางเวลาการดูโทรทัศน์ของครอบครัวในแต่ละสัปดาห์ซึ่งทุกคนในครอบครัวเห็นพ้องด้วยและติดตารางเวลาไว้ในบริเวณที่เห็นชัด (เช่น หน้าตู้เย็น) เพื่อให้ทุกคนรู้ว่า รายการใดที่สามารถดูได้และในเวลาใด
10. ดูโทรทัศน์ร่วมกับลูก ถ้าคุณไม่สามารถดูทีวีจนจบรายการ ก็ให้ดูช่วงสองสามนาทีแรกเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ทราบว่ารายการนั้นเหมาะสมหรือไม่ หรือคอยเช็คดูเป็นระยะๆ ตลอดรายการ
11. พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งที่พวกแกเห็นบนจอโทรทัศน์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและค่านิยม (สำหรับเด็กโต) ถ้ามีอะไรที่คุณไม่เห็นด้วยปรากฏขึ้นบนหน้าจอ คุณอาจปิดโทรทัศน์และใช้โอกาสนี้ถามคำถามที่กระตุ้นให้ลูกคิด เป็นต้นว่า “ลูกคิดว่าเหมาะสมไหมที่คนเหล่านั้นจะใช้กำลัง พวกเขาน่าจะทำอะไรได้อีกไหม ถ้าเป็นลูก ลูกจะทำยังไง” คุณสามารถใช้โทรทัศน์อธิบายถึงสถานการณ์ที่สร้างความสับสน หรือเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน (เช่น เรื่องเพศ ความรัก สุรา การสูบบุหรี่ ฯลฯ) สอนลูกคุณให้รู้จักตั้งคำถามและเรียนรู้จากสิ่งที่เห็นจากทีวี
12. พูดคุยกับพ่อแม่ท่านอื่นๆ หรือคุณครูที่โรงเรียนเกี่ยวกับนโยบายการดูโทรทัศน์ของพวกเขา และรายการสำหรับเด็กที่เหมาะสมในทัศนะของพวกเขา
13. เสนอกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ แทนการดูทีวี เช่น กิจกรรมกลางแจ้ง กีฬา อ่านหนังสือ การทำงานฝีมือหรืองานอดิเรก ฟังเพลง หรือเต้นรำ ฯลฯ กิจกรรมสนุกๆ นอกเหนือจากการดูโทรทัศน์นั้นมีไม่จำกัด ถ้าคุณจะใช้ความพยายามสักหน่อย ดังนั้นจงปิดโทรทัศน์และรื่นรมย์กับช่วงเวลาอันแสนวิเศษที่คุณและลูกๆ จะได้ทำอะไรร่วมกัน
14. ไม่อนุญาตให้ลูกดูโทรทัศน์ไป ทำการบ้านไป
เพราะการดูแลเด็กเล็กนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากนะคะ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรหมั่นดูแลเอาใจใส่ลูกเล็กของคุณให้มาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโตแล้วเขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ และลอกเลียนแบบพฤติกรรมของสิ่งที่อยู่รอบตัวอยู่เสมอ ดังนั้นแล้วหากอยากให้ลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ก็ควรเอาใจใส่ทั้งสุขภาพ โภชนาการ สิ่งที่อยู่รอบตัว เพื่อให้ม่พัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยด้วยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com