หญ้าแฝกหอม..เป็นยาบำรุงโลหิต ต้านเบาหวาน!!
advertisement
ต้นไม้ต้นหญ้า ที่มีชื่อเรียกว่าหญ้าแฝกนั้น สำหรับคนทั่วไปที่ไม่รู้จัก ดูภายนอกอาจจะเป็นเพียงต้นหญ้าชนิดหนึ่ง แต่จัดได้ว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์ใช้งาน โดยสมัยก่อนนิยมนำใบหญ้าแฝกมาใช้มุงหลังคาบ้านเรือน และในบางพื้นที่นิยมนำมาปลูกเพื่อช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดิน และหญ้าแฝกหอมนั้นยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย โดยเฉพาะสรรพคุณต้านเบาหวาน! น่าสนใจมากเลยทีเดียวนะคะ ตาม Kaijeaw.com มารู้จักกับหญ้าชนิดนี้กันค่ะ
หญ้าแฝก เป็นพืชที่มีชื่อเรียกกันหลากหลาย เช่นว่า หญ้าแฝกหอม แกงหอม หรือแคมหอม แตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น ในประเทศไทยพบ 2 ชนิดคือ หญ้าแฝกหอมหรือหญ้าแฝกลุ่ม และหญ้าแฝกดอน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือใบหญ้าแฝกหอมจะมีเนื้อใบหนากว่า และขนาดของช่องอากาศก็มีขนาดใหญ่กว่าหญ้าแฝกดอนด้วย รากหญ้าแฝกหอมจะมีโพงอากาศในบริเวณคอร์เทกซ์ และมีขนาดที่ใหญ่กว่าหญ้าแฝกดอน
หญ้าแฝกหอมมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Vetiveria zizanioides Nash.ชื่อภาษาอังกฤษว่า Vetiver grass, Khuskhus, Cuscus, Sevendara grass มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น หญ้าแฝกหอม (นครราชสีมา, ภาคกลาง), แกงหอม แคมหอม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เป็นต้น เป็นพืชที่มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย
ลักษณะของต้นหญ้าแฝก ขึ้นเป็นกอแน่น มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โคนกอเบียดแน่นไม่มีไหล ส่วนโคนของลำต้นจะแบน โดยเกิดจากส่วนของโคนใบที่แบนเรียงซ้อนกัน มีรากเหง้าเป็นฝอยอยู่ใต้ดินและมีกลิ่นหอม[ads][fb1]
ใบแทงออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบแคบยาว ขอบเรียบ ปลายใบสอบแหลม ใบยาวตั้งตรงสูงประมาณ 1-2 เมตร ดอกออกบริเวณปลายยอดเป็นช่อตั้ง ลักษณะเป็นรวง รูปรี ปลายสอบ ด้านหลังดอกมีผิวขรุขระ มีหนามแหลมขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่บริเวณขอบ ก้านช่อดอกยาวกลมยื่นพ้นจากลำต้น ก้านช่อดอกและรวงมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กสีม่วงอมเขียวจำนวนมาก
ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี หัวท้ายมน ผิวเรียบ เปลือกบาง รากเป็นรากฝอยกระจายแผ่กว้างออก สานกันแน่น หยั่งลึกในแนวดิ่งลงใต้ดินไม่แผ่ขนาน และมีรากฝอยขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนสำคัญของหญ้าแฝกที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางยา คือ “ราก” ในตำรายาไทย กล่าวไว้ว่า รากมีกลิ่นหอมมีสรรพคุณทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น ช่วยกล่อมประสาท ใช้ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ ทำให้หาวเรอ บำรุงโลหิต แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้ท้องอืด ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ไข้พิษ แก้ไข้อันเกิดแต่ซาง แก้โรคประสาท แก้ท้องเดิน แก้ร้อน ต้มอาบทำให้กระชุ่มกระชวย อบเสื้อผ้าให้หอม และสกัดน้ำมันหอมระเหย หัว ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะ แก้ท้องเดิน แก้ร้อน แก้ไข้หวัด แก้ปวดเมื่อย น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ทำให้นอนหลับ ทำให้สงบ ทำให้ผิวหนังร้อนแดงอย่างอ่อน
นอกจากนี้ หญ้าแฝกยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ลดการกระหายน้ำ ลดไข้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ การศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า สารสำคัญในหญ้าแฝกมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา ไล่แมลง ต้านมาลาเรีย
advertisement
สรรพคุณที่น่าสนใจมาก คือการวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า แฝกหอมมีฤทธิ์ต้านเบาหวานได้ด้วย
นอกจากนี้บัญชียาสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้รากแฝกหอม ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย หลายตำรับ ได้แก่
1. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) มีส่วนประกอบของแฝกหอม ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ คือ
– ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” มีสรรพคุณในการแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิว วิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น
– ตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” สรรพคุณแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย)
2. ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร
– ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบแฝกหอมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ
– ตำรับ “ยาเขียวหอม” บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)
– ตำรับ “ยามโหสถธิจันทน์” ใช้เข้าเครื่องยาแฝกหอม ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอีก 15 ชนิด แล้วนำมาบดให้ละเอียดทำเป็นแท่ง ใช้น้ำดอกไม้เป็นกระสาย ใช้ชโลมตัวหรือกินเป็นยาแก้ไข้[yengo][fb2]
advertisement
ตำรับยาอายุรเวทของอินเดีย ที่นำมาใช้เป็นยาลดไข้ แก้กระหาย และแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนในประเทศศรีลังกาได้นำมาสกัดเป็นน้ำมันที่ช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย หรือ “Oil of Tranquility”
ประโยชน์ที่น่าสนใจอื่นๆ
– ชาวฝรั่งเศสนิยมนำมาทำน้ำหอม กลิ่นที่ได้จะเป็นกลิ่นไอดินและรากไม้ และยังนิยมนำกลิ่นหญ้าแฝกหอมมาแต่งกลิ่นเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสระผม ครีมนวดผม เพราะไม่มีอันตราย ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย
– รากสามารถนำมากลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ฆ่าเชื้อโรค ผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งมาทำเป็นเครื่องหอมอบเสื้อผ้า ไล่แมลงและกลิ่นอับในตู้เสื้อผ้า
หญ้าแฝกหอมที่หลายคนไม่รู้จัก อาจคิดว่าเป็นเพียงต้นไม้ต้นหญ้าที่ไร้ประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรที่น่าสนใจมากเลยนะคะ และหากมีงานทดลองวิจัยการใช้สรรพคุณทางยาจากหญ้าแฝกเพิ่มเติม ก็เชื่อได้ว่าจะต้องได้ใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย ในอนาคตที่ไม่ไกลนี้
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com