โลหิตจาง..ภัยเงียบที่ต้องระวัง!!
advertisement
สำหรับใครที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผิวซีด หอบเหนื่อย หัวใจเต้นแรง เป็นอยู่บ่อยครั้ง โดยไม่มีความเจ็บป่วยเป็นโรคอะไร นั่นอาจเป็นอาการของโรคโลหิตจางก็เป็นได้ แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนคือการตรวจเลือด (CBC) แม้ว่าอาจดูเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงอะไร แต่ก็ทำให้สุขภาพย่ำแย่ อ่อนแอได้ และหากว่าเป็นเรื้อรังโดยไม่มีการรักษาก็อาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้ด้วย ดังนั้นหากคุณไม่อยากเป็นโรคโลหิตจาง หรือใครที่กำลังสงสัยว่าตนเป็นโรโลหิตจาง ก็ไม่ควรพลาดกับบทความของเราในวันนี้นะคะ
สาเหตุของโลหิตจางมีหลายชนิด ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
[ads]
1) การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ขาดธาตุเหล็ก, โฟเลต (folate), วิตามินบี 12, โรคไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia), โรคที่มีเซลล์มะเร็งในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) เป็นต้น
2) การสูญเสียเม็ดเลือดแดงจากกระแสเลือด ได้แก่การเสียเลือดทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง (ซึ่งชนิดเรื้อรังจะทำให้เกิดการขาดธาตุเหล็ก), การที่เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายไปเร็วกว่าปกติ เช่น โรคที่ร่างกายต่อต้านเม็ดเลือดแดงของตนเอง (โรค autoimmune hemolytic anemia), โรคโลหิตจางกรรมพันธุ์บางชนิด เช่น โรคขาดเอ็นซัยม์ของเม็ดเลือดแดง, โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
โรคโลหิตจางแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
1. โลหิตจางเฉียบพลัน คืออาการเกิดขึ้นได้ภายใน 7 -10 วัน อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
– การเสียเลือดเฉียบพลัน เช่น จากการประสบอุบัติเหตุ ประจำเดือนออกมาก
– เม็ดเลือดแดงถูกทำลายเฉียบพลัน
– อาจเกิดจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการไข้ เกร็ดเลือดต่ำและตับม้ามโต
2. โลหิตจางเรื้อรัง คือ เกิดอาการนานกว่า 10 วันหรืออาจเป็นเดือนๆ ซึ่งเกิดจากการมีประวัติการเสียเลือดเรื้อรัง เกิดจากภาวะของธาตุเหล็ก ซึ่งที่พบได้บ่อยก็คือ โรคกระเพาะอาหาร โรคประจำเดือนมามาก ริดสีดวงทวารหนัก หรือพยาธิปากขอดูดเลือดจากลำไส้
อันตรายของโรคโลหิตจาง ก็คือ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ทำอะไรก็รู้สึกว่าเหนื่อยง่าย ทำให้ทำงานไม่ไหว เด็กนักเรียนที่เป็นโรคนี้ มักจะเรียนหนังสือไม่ค่อยดี อีกทั้งหากเป็นโรคเรื้อรัง ก็อาจมีโรคแทรกซ้อน อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจาง ได้แก่ สตรีมีครรภ์ สตรีหลังคลอด สตรีมีประจำเดือน และเด็กในวัยเจริญเติบโต
– ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ เพราะจะมีการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายสามารถนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงคุณแม่ และทารกในครรภ์อย่างเพียงพอ
– ในสตรีหลังคลอดก็จะมีกาาสูญเสียธาตุเหล็กไปกับเลือดขณะคลอด ดังนั้น ร่างกายต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติเช่นกัน
– สำหรับเด็กจะต้องการธาตุเหล็กโดยเฉลี่ย 1 มิลลิกรัมต่อวัน จึงเพียงพอต่อร่างกายที่กำลังเจริญเติบโต แต่ธาตุเหล็กจากอาหารจะได้รับการดูดซึมไม่ดีนัก หรือเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางในเด็กจึงควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 8 ถึง 10 มิลลิกรัม ทั้งนี้ ความต้องการธาตุเหล็กของเด็กที่ดื่มนมแม่จะน้อยกว่านี้ เพราะธาตุเหล็กจากนมแม่จะดูดซึมได้ดีกว่าถึง 3 เท่าตัว
อาการที่ชี้แนะว่าเป็นโลหิตจาง
ผู้ที่โลหิตจางไม่มากหรือไม่มีโรคหลอดเลือดร่วมด้วยอาจไม่มีอาการก็ได้
อาการจะมีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโลหิตจาง และความเฉียบพลันของการเกิดโรค
1. อาการเหนื่อยง่าย การที่รู้สึกเหนื่อยผิดปกติเวลาที่ต้องออกแรง เช่น เคยเดินบันไดได้โดยไม่เหนื่อยแต่กลับเหนื่อย ถ้าหากมีโลหิตจางรุนแรง เพียงแค่เดินนิดหน่อยก็อาจเหนื่อยแล้ว เวลาเหนื่อยอาจมีอาการใจสั่นร่วมด้วย ที่รุนแรงอาการมีอาการของโรคหัวใจวาย คือ เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ เป็นต้น
2. อาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
3. เป็นลม หน้ามืด วิงเวียน
4. อาการทางสมอง เช่น รู้สึกสมองล้า หลงลืมง่าย ขาดสมาธิในการทำงาน เรียนหนังสือไม่ดีเท่าที่ควร นอนไม่หลับ
5. อาการหัวใจขาดเลือด มักพบในคนที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โลหิตจาง ทำให้อาการของหัวใจ รุนแรงขึ้น เจ็บหน้าอกง่ายขึ้น
6. อาการขาขาดเลือด พบในคนที่มีโรคหลอดเลือดของขาทำให้ปวดขา เวลาเดินได้ไม่ไกล ต้องหยุดพักบ่อยๆ เวลาเดิน
7. อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร ท้องอืด
การป้องกันและรักษา
1) หลีกเลี่ยงการรับประทานยาชุด แก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอนเอง เนื่องจากมักมียาที่ระคายกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารทะลุได้
2) รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ทานในปริมาณที่เหมาะสม ทานผักสดต่างๆที่มีโฟเลตเพื่อที่จะได้นำไปสร้างเม็ดเลือดแดงที่ดี เช่นตับหมู ตับวัว เลือดหมู ไตหมู เนื้อสัตว์ต่างๆ นม ไข่ ถั่วเหลือง และถั่วต่างๆ เต้าหู้ น้ำลูกพรุน ผลองุ่นแห้ง มะเขือเทศ ผักใบเขียวต่างๆ
3) เลือกชนิดที่ส่งเสริมสุขภาพของเลือดคืออาหารที่มีอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย เป็นต้น
4) กินเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นอกจากจะมีธาตุเหล็กแล้ว ยังให้วิตามินบี 12 อีกด้วย ซึ่งในกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงจากธาตุเหล็กนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยวิตามินบี 12 และกรดโฟลิก หากได้รับสารนี้ไม่เพียงพอ การสร้างเม็ดเลือดจะไม่สมบูรณ์ เม็ดเลือดแดงจะลดลง เกิดเซลล์เม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่ผิดปกติขึ้นแทน และอายุของเม็ดเลือดจะสั้นกว่าปกติ จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคโลหิตจางในที่สุด
5) หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม ถ่ายดำหรือมีเลือดปน เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาออกเรื้อรัง จ้ำเลือดออกตามตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา
[yengo]
6) ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าเข้าข่ายเป็นโรคโลหิตจาง ควรไปตรวจยืนยันและแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุเสมอว่าทำไมถึงโลหิตจาง หลังจากนั้นจึงรักษาสาเหตุ แพทย์อาจให้ยาบำรุงเลือดมารับประทาน รับประทานแล้วอาจมีถ่ายอุจจาระดำได้จากสีของยา
โรคโลหิตจางนั้นนับได้ว่าเป็นภัยที่ใกล้ตัว และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องอายุเท่าไรจึงจะเป็น เป็นโรคที่นำวมาซึ่งความอ่อนแล บ่อเกิดของโรคต่างๆ ได้ ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวคือ เหนื่อยง่าย ซีด อ่อนเพลีย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา และที่สำคัญไม่ลืมที่จะกินอาหารบำรุงเลือดกันด้วยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com