กรมควบคุมโรค เตือนเด็กเล็กเสี่ยงป่วยโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้
![](https://kaijeaw.com/wp-content/uploads/2017/08/1-46-1024x512.jpg)
advertisement
กรมควบคุมโรค เตือนเด็กอายุ 1-3 ปี ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปากเพิ่มขึ้น หลังเข้าหน้าฝนพบเด็กป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่า พร้อมแนะให้ผู้ปกครอง ครูหมั่นสังเกตอาการเด็ก หากเริ่มมีอาการไข้พร้อมตุ่มน้ำใสที่มือ เท้า ปาก หรือก้น ให้หยุดเรียน และรีบพบแพทย์ทันที อีกทั้งควรหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ พร้อมกับหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยมือ เท้า ปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
วันนี้ (3 สิงหาคม 2560) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝน ทำให้อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นนี้เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โรคที่สำคัญที่ต้องระมัดระว่างเป็นพิเศษในฤดูนี้ คือ โรคมือ เท้า ปากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 กรกฎาคม 2560 มีผู้ป่วย 44,098 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย พบมากในเด็กอายุ 1-3 ปี คิดเป็นร้อยละ 68 ของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงหน้าฝนปีนี้ (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) พบผู้ป่วยประมาณเดือนละ 1 หมื่นราย ซึ่งมากขึ้น จากก่อนหน้านี้เดิมพบเพียงเดือนละ 3-5 พันราย (เพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เท่า)[ads]
advertisement
![51010013_0_20160709-121655](https://kaijeaw.com/wp-content/uploads/2017/08/51010013_0_20160709-121655.jpg)
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด โดยกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัส จะติดมากับมือ ของเล่น หรือของใช้ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพอง อุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จามรดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เอง ใน 7-10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที[ads]
advertisement
![อาการมือเท้าปาก](https://kaijeaw.com/wp-content/uploads/2017/08/อาการมือเท้าปาก.jpg)
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า การป้องกันโรคมือ เท้า ปากนั้นสามารถทำได้ง่าย โดยผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับแผลในปาก โดยอาจมีหรือไม่มีตุ่มน้ำที่มือ หรือเท้าก็ได้ ในบางรายอาจมีเฉพาะไข้ ควรรีบพาไปพบแพทย์และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ และสำหรับสถานศึกษาควรมีการคัดกรองเด็กนักเรียนทุกคน ทุกเช้าก่อนเข้าเรียน สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ และจัดให้มีจุดล้างมือ พร้อมสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ
advertisement
![อาการโรคมือเท้าปาก](https://kaijeaw.com/wp-content/uploads/2017/08/อาการโรคมือเท้าปาก.jpg)
หากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ และให้ความรู้ และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อการป้องกันโรคอย่างถูกวิธี หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ขอขอบคุณที่มาจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข