หมอแผนไทยแนะใช้ยาขิงแคปซูล บรรเทาอาการท้องอืด แก้คลื่นไส้
advertisement
หมอแผนไทย แนะประชาชนใช้แคปซูลขิง พกติดตัวไว้ บรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน จากการเมารถ เมาเรือ ซึ่งเป็นยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหาร ใช้ดูแลสุขภาพร่างกาย
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะ โฆษกกรม กล่าวว่า ปัจจุบันนี้การใช้ชีวิตรีบเร่ง ทำให้พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป เช่น เร่งรีบรับประทานอาหาร เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด หรือล้มตัวลงนอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย หรือเกิดกรดไหลย้อนได้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ ต่อระบบทางเดินอาหารคือ ขิง เป็นสมุนไพรที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะรสและกลิ่น จากการศึกษาวิจัยพบว่า ขิง มีน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ซึ่งมีฤทธิ์ในการช่วยย่อย ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่มีสาเหตุมาจากการเมารถ เมาเรือ หรือคลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัด และผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด[ads]
advertisement
ยาแผนไทยที่แนะนำให้ประชาชนมีไว้ประจำบ้าน หรือพกติดตัวไว้ใช้เมื่อเกิดอาการของโรคระบบทางเดินอาหาร คือ ยาขิง ชนิดแคปซูล ซึ่งเป็นสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ วิธีการรับประทานยาขิง ชนิดแคปซูล เมื่อมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ให้รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล (1,000 มก.) วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ส่วนการป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน จากการเมารถ เมาเรือนั้น ให้รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล (1,000 – 2,000 มก.) ก่อนเดินทาง 30 นาที – 1 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาขิง ควรระมัดระวังการรับประทานยาขิงร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) ผู้ป่วยโรคนิ่วควรปรึกษาแพทย์ก่อนรัประทานยาขิง และไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ รับประทานยาขิง หากมีอาการแพ้ เช่น เป็นผื่น ลมพิษ บวม คันตามปากและลำคอ หายใจติดขัด ควรหยุดยาทันทีและไปพบแพทย์ทันที[ads]
การป้องกันจากโรคของระบบทางเดินอาหารนั้น ประชาชนควรปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารมีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ไม่ควรรับประทานอาหารอิ่มเกินไป หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด มีไขมันสูง ย่อยยาก และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่น
ขอขอบคุณที่มาจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข