สำรวจ แอปเปิ้ลสโตร์ ในเมืองต่างทั่วโลก และบทบาทการใช้งาน
advertisement
ทางเพจ City Cracker ได้ออกมาโพสต์แชร์เรื่องราวของ แอปเปิ้ลสโตร์ที่ต่างๆทั่วโลก โดยจากโพสต์นั้นได้ระบุรายละเอียดว่า ''เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา แอปเปิ้ลสโตร์สาขาที่สองของประเทศไทยเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทำเอาเหล่าสาวกสมาร์ทโฟนทุกคนตื่นเต้นไปตามๆกันด้วยดีไซน์เรียบหรูบนลานเซ็นทรัลเวิลด์ หลังจากเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 510 สาขาทั่วโลก รวมถึงสาขาแรกของไทยที่ไอคอนสยามในปี 2018 เป็นไปได้ว่าสโตร์แห่งใหม่นี้จะเป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวคิดการทำหน้าร้านแบบ ‘Town Square’ ของแอปเปิ้ล ให้เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน ให้ทุกคนสามารถมาพบปะและแลกเปลี่ยนไอเดียกันอย่างสนุกสนาน วิสัยทัศน์ที่ว่าพบเห็นได้จากคำกล่าวของ Angela Ahrendts รองประธานอาวุโสฝ่าย Retail และ Online Stores อันฮือฮาในงานเปิดตัว Iphone X เมื่อวันที่ 12 กันยานยน ปี 2017 ที่ว่า “เราไม่เรียก (Apple Store) ว่าเป็นร้านค้าอีกต่อไป แต่เราเรียกพวกมันว่าเป็น Town Square”
advertisement
การสร้างสโตร์แบบ Town Square จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า ร้านค้าสามารถเป็นพื้นที่สาธารณะได้จริงหรือไม่ แค่ไหนกันที่เราจะสามารถเรียกพื้นที่หนึ่งว่าเป็นพื้นที่สาธารณะได้ เพราะแท้จริงแล้ว ร้านค้าเหล่านี้ต่างมีเจ้าของเป็นภาคเอกชนอยู่ดี และมีจำกัดการใช้งานผ่านกฏเกณฑ์บางอย่างทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แตกต่างจากพื้นที่สาธารณะจริงๆที่ไม่มีมาตรการณ์จากบุคคลใดระบุเอาไว้
ถึงอย่างนั้นการกระทำของแอปเปิ้ลก็แสดงถึงความพยายามของภาคเอกชนหรือแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่จัดการกิจกรรมและพื้นที่ทางกายภาพ ออกมาจากโลกออนไลน์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมากขึ้น ดังที่ Ahrendts บอกว่าแต่เดิมแอปเปิ้ลสโตร์ต้องการเป็นสถานที่ที่เสริมสร้างการใช้ชีวิตของผู้คนอยู่แล้ว City Cracker จึงขอชวนไปดูแอปเปิ้ลสโตร์ในหลายเมืองทั่วโลก ถึงการออกแบบ จัดสรรพื้นที่ให้เข้ากับบริบทและย่าน โดยมีทั้งกรณีที่เป็นไปได้ด้วยดีและกระทั่งที่ถูกคัดค้านการก่อสร้างจากประชาชนไป
1 Union Square, San Francisco
advertisement
อาจเรียกได้ว่าแอปเปิ้ลสโตร์สาขา Union Square เป็นสาขาแรกที่ถูกออกแบบตามคอนเส็ปต์ ‘Town Square’ สโตร์แห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนตรงข้าม Union Square จตุรัสสำคัญใจกลางเมืองซานฟรานซิสโกพอดิบพอดีและเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2016 จุดเด่นของที่นี่อาจไม่ใช่เพียงตัวอาคารร้านสุดเรียบหรูที่มาพร้อมกับประตูกระจกโครงเหล็กเลื่อนขนาดยักษ์ที่ให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับทางเท้าและจตุรัสเท่านั้น หากแต่รวมถึงพื้นที่สวนหลังร้านกว้างขวางที่เปิดให้ชาวเมืองเข้ามาใช้งานฟรีได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมไวไฟฟรีและที่นั่งเล่น-ทำงาน-อ่านหนังสืออันร่มรื่น แนวคิดใหม่เช่นนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาปนิกระดับโลก Foster + Partners หัวหน้าทีมออกแบบของแอปเปิ้ลอย่าง Jonathan Ive และ Angela Ahrendts รองประธานอาวุโสฝ่าย Retail และ Online Stores ของแอปเปิ้ลผู้ออกมาพรีเซ้นต์แนวคิด Town Square ต่อสาธารณชนในปี 2017 นั่นเอง พื้นที่พบปะภายนอกส่วนนี้ยังตกแต่งด้วยงานศิลปะทรงคุณค่าอย่าง แท่นตัวอักษร ‘LOVE’ สร้างโดยศิลปินท้องถิ่น Laura Kimpton และประติมากรรมบ่อน้ำพุแปลกตา สร้างโดยช่างปั้นชื่อดัง Ruth Asawa บริเวณบันไดทางเข้าออกสวนอีกด้วย นอกจากนี้ด้านในร้านขายอุปกรณ์สุดไฮเทคก็มีโปรแกรมการจัดกิจกรรมเพื่อดึงชาวเมืองให้แวะเข้ามาแม้ไม่ได้มาจับจ่ายใช้สอยเช่นกัน ทั้งการจัดเวิร์คช็อปหมุนเวียนอย่าง Today at Apple ที่มีอยู่เป็นประจำทุกสาขาทั่วโลก หรือกระทั่งการแสดงดนตรีสดที่เชิญศิลปินท้องถิ่นมาจัดโชว์อีกด้วย ตรงนี้เองที่ Ahrendst กล่าวว่าหน้าร้านรูปแบบใหม่นี้จะไม่ได้วัดความสำเร็จที่ยอดขายเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นจำนวนคนที่แวะเวียนมาใช้บริการและเวลาในการใช้งาน
2 Liberty Square, Milan
advertisement
แบรนด์แอปเปิ้ลได้บุกมาเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในเมืองเก่าแก่ แหล่งกำเนิดแฟชั่นระดับโลกอย่าง มิลาน ด้วยฝีมือการออกแบบของ Foster + Partners เช่นกัน ดังที่ตัวสโตร์ตั้งอยู่ชั้นใต้ดิน ผุดทางเข้าออกเป็นพาวิเลียนกระจกใส ท่ามกลาง Piazza Liberty จตุรัสบริเวณถนนคนเดินชื่อดังของเมือง ตัวสถาปัตยกรรมกล่องใสทำหน้าที่เป็น backdrop ของลานอัฒจรรย์ลาดลงด้านข้างซึ่งเป็นพื้นที่นั่งเล่นพบปะต่อเติมใหม่ได้เป็นอย่างดี พร้อมดึงดูสายตาผู้มาเยือนด้วยน้ำพุขนาบข้างที่สาดไปยังแท่นใส นอกจากนี้จตุรัสเดิมยังถูกปรับปรุงปูพื้นใหม่ด้วนแผ่นหิน Boela Grigia ที่มักถูกใช้ทั่วไปในมิลาน พร้อมปลูกต้น Gleditsia Sunburst เรียงเป็นแนวตกแต่งอย่างเรียบง่ายอีกด้วย ที่นี่จึงน่าจะเป็นสาขาที่ประสบความสำเร็จแห่งหนึ่งในแง่มุมการพยายามเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือกระทั่งเป็นแลนมาร์กอีกแห่งของเมืองเลยก็ว่าได้ ดังหลักฐานที่ชาวอิตาลีและนักท่องเที่ยวได้แวะวเียนมาถ่ายรูป นั่งชิวบริเวณนี้เป็นประจำ และคำกล่าวของ Ahrendts รองประธานอาวุโสฝ่าย Retail และ Online Stores ของแอปเปิ้ลที่ว่า “ไม่มีที่ไหนดีกว่าที่นี่ในการเปิดเผยวิสัยทัศน์ของเรา สำหรับการที่แอปเปิ้ลสโตร์จะทำหน้าที่เป็นสถานที่รวมตัวกันของคนสมัยใหม่”
3 Xinyi A13, Taipei
advertisement
Xinyi คือย่านช็อปปิ้งยอดฮิตเอาใจวัยรุ่นไต้หวัน ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองไทเป รวมร้านค้า แหล่งบันเทิงเอาไว้มากมาย รวมถึงตึกระฟ้า Taipei 101 ที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองอีกด้วย จึงไม่แปลกที่ไพร์มโลเคชั่นนี้จะเป็นที่ตั้งของแอปเปิ้ลสโตร์ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา สถาปนิกเจ้าเดิมผู้รับหน้าที่ออกแบบอย่าง Foster + Partners ได้แปลงโฉมลานจอดรถเดิม เป็นพลาซ่าสาธารณะและมีพาวิเลียนแอปเปิ้ลสโตร์เล็กๆตั้งอยู่ฝั่งหัวมุม เป็น ‘Serene Island’ เรียบหรูแต่โดดเด่นริมถนน Songshou และ Songren ตัวอาคารร้านขนาบสองข้างด้วย water feature แบบน้ำตก จำลองภูมิทัศน์ทิวเขาและหินผาของหมู่เกาะ Penshu ของไต้หวัน พร้อมที่นั่งหินต้นร่มเงาแนวไม้การบูน ผสมผสานภาษาโมเดิร์นเรียบหรูของอาคาร เข้ากับองค์ประกอบธรรมชาติและวัฒนธรรมของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี [ads]
4 Michigan Avenue, Chicago
advertisement
อีกสาขาที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือแอปเปิ้ลสโตร์ Michigan Avenue ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2017 ริมแม่น้ำชิคาโก ความพิเศษของที่นี่น่าจะเป็นตัวสถาปัตยกรรมอันน่าตื่นตา ด้วยลักษณะพื้นที่ใช้สอยในร้านที่ล้อไปกับแนวบันไดพลาซ่า Pioneer Court หันหน้าเข้าสู่แม่น้ำ เป็นข้อจำกัดที่กลายมาเป็นลูกเล่นโถงกลางอาคารในงานออกแบบของ Foster + Partners พอดิบพอดี ตัวสโตร์พยายามเป็นส่วนหนึ่งของย่านและเมืองโดยการดีไซน์ ให้ผู้ที่เดินอยู่ริมทางเลียบหรือนั่งเรือผ่านไปมาสามารถมองเห็นอาคารได้อย่างสะดุดตา มีการจัดโปรแกรมกิจกรรมหมุนเวียนเหมือนสาขาอื่นๆทั่วโลกในบริเวณโถงขั้นบันไดสุดพิเศษด้านใน พร้อมฟรีไวไฟ แนวที่นั่งและต้นไม้บนขั้นบันไดที่เพิ่มใหม่ในพลาซ่า ชวนให้ทุกคนมาที่นี่และนั่งชมวิวที่ไม่เคยหลับไหลของเมืองชิคาโกได้พร้อมๆกัน
5 Kungsträdgården, Stockholm
advertisement
ถึงอย่างนั้นแอปเปิ้ลสโตร์ก็ไม่ได้น่ารักเสมอไปสำหรับทุกคน เห็นได้จากที่ทางเมืองสตอกโฮล์มยกเลิกการอนุมัติก่อสร้างแอปเปิ้ลสโตร์ภายใน Kungsträdgården สวนสาธารณะเก่าแก่ของเมือง ทดแทนร้านอาหาร TGI Friday’s ในปี 2018 แต่เดิมสวนแห่งนี้เป็นแหล่งแฮงเอ้าท์ของชาวเมืองอยู่แล้ว มีทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ ที่นั่งพัก ลานโล่งที่กลายเป็นลานสเก็ตน้ำแข็งยามหน้าหนาว และสถานที่จัดคอนเสิร์ตในหน้าร้อน พร้อมทิวต้นซากุระที่ผลิบานอย่างสวยงามเป็นเอกลักษณ์ แม้สโตร์จะได้รับการออกแบบอย่างสวยงามโดย Foster + Partners เป็นพาวิเลียนเรียบหรูทำจากแผ่นหินและกระจกใส ตั้งอยู่ริมสวนเปิดรับชีวิตจากท้องถนน แต่โครงการก็ได้รับการต่อต้านอย่างมากจากชาวเมืองด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการพยายามทำ พื้นที่สาธารณะ ให้กลายเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์เกินไป หลังจากมีการเผยแพร่ภาพเรนเดอร์สู่สาธารณชนในปี 2018 มีคอมเม้นต์เกือบ 1,700 ข้อความแสดงออกไม่เห็นด้วยต่อทางการ Stockholm City Council ทั้งสิ้น ในกรณีนี้ดูเหมือนว่าการมาของแอปเปิ้ลอาจทำให้พื้นที่สวนกลายเป็นสวนแอปเปิ้ลไปโดยปริยาย หรือกระทั่งปิดกั้นความเป็นไปของสวนสาธารณะที่มีชีวิตชีวาดีอยู่แล้ว Project for Public Spaces องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากนิวยอร์กที่ทำงานด้านการสร้างพื้นที่สาธารณะเสนอว่า หากจะปรับปรุงบริเวณร้านแอปเปิ้ล อาจหันไปเพิ่มพื้นที่กิจกรรมตลาดนัด หรือแผงลอยขายของเพื่อดึงดูดผู้คนที่สัญจรไปมาบนถนนมากกว่า
6 Federation Square, Australia
advertisement
ผลงานของ Foster + Partners เป็นอันต้องพับเก็บไปอีกครั้งในปี 2019 เมื่อทางเมืองเมลเบิร์นยกเลิกการทุบอาคาร Yarra ภายในจตุรัส Federation Square เพื่อสร้างแอปเปิ้ลสโตร์ จากความกังวลเรื่องความเสียหายทางวัฒนธรรมจากการสูญเสียตึกสำคัญไป ลานสาธารณะแห่งนี้ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 38,000 ตารางเมตร เหนือโครงสร้างทางรถไฟของเมือง ล้อมรอบด้วยอาคารส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและสังคมมากมายทั้งแกเลอรี่และพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งพบปะสำคัญของชาวเมลเบอร์นมาตั้งแต่ปี 2002 แม้ว่าตัวแอปเปิ้ลสโตร์ใหม่จะช่วยพื้นที่สาธารณะให้แก่จตุรัสเพิ่มอีก 500 ตารางเมตร พร้อมภูมิทัศน์สวยงามเชื่อมต่อสู่แม่น้ำ Yarra ซึ่งอยู่ไม่ไกล รวมถึงเป็นร้านค้าที่มากับพื้นที่กิจกรรมกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมก็ตาม ชาวเมืองส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทางที่ไม่เห็นด้วย จนเกิดเป็นแคมเปญออนไลน์ Our City Our Square รวมประชาชนกว่า 100,000 รายชื่อคัดค้านโครงการได้ในที่สุด แน่นอน พวกเขาไม่ได้ต่อต้านแอปเปิ้ลโดยตรง หากแต่ต่อต้านการที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งพยายามยึดครองพื้นที่สาธารณะอันเป็นของทุกคนไปต่างหาก
7 Carnegie Library, Washington D.C.
ความน่าสนใจของแอปเปิ้ลสโตร์สาขา Carnegie Library อาจไม่ใช่เพียงอินทีเรียสว่างสะอาดตาเท่านั้น แต่เป็นการสร้างสโตร์จากการรีโนเวตโถงอาคารห้องสมุดเก่าแก่ สไตล์ Beaux Arts ประจำเมืองวอชิงตันดี.ซี. ตัวร้านเปลี่ยนโถงห้องสมุดเดิม แม้จะเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ระหว่างดำเนินการ โครงการได้รับความเห็นทั้งสองด้าน มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่กังวลเรื่องการบ่อนทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของอาคาร ที่จริงแล้วตึก Carnegie Library ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานอย่างหลากหลายเรื่อยมาตั้งแต่ที่ห้องสมุดย้ายออกไปตั้งแต่ปี 1970 ในแง่หนึ่งการมาของแอปเปิ้ลอาจช่วยดึงดูดคนให้เข้ามาใช้บริการ ทำกิจกรรมที่นี่มากขึ้นด้วย ดังที่ปัจจุบันมีการจัดเวิร์คช็อปหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นทำวีดีโอ ถ่ายรูป แต่งเพลง หรือเขียนโค้ด พร้อมทั้งเป็นที่ตั้งของ DC History Center และ Carnegie Gallery ให้บริการกับผู้ที่สนใจในชั้นอื่นอีกด้วย ในแง่การออกแบบ Foster + Partners เจ้าเดิมได้ฟื้นฟูฟาสาดหินอ่อนด้านนอกใหม่โดยพยายามรักษาดีเทลเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุดพร้อมติดป้ายโลโก้แอปเปิ้ล รวมถึงเปิดทางเชื่อมให้เข้าออกอาคารได้สะดวกทั้งด้านหน้าและหลัง ส่วนด้านในทำพื้นที่สโตร์น่าใช้งาน ตรงกลางเป็นโถงพบปะหลัก มีพื้นที่ขายตกแต่งด้วยแนวต้นไม้ Ficus สีเขียวตัดกับสีขาวเรียบ เพดานติดตั้ง skylight ช่วยดึงแสงธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ด้านใน เรียกได้ว่าเป็นสาขาหนึ่งที่ผสมผสานความเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัวเลยล่ะ
8 Central World, Bangkok
advertisement
มาถึงแอปเปิ้ลสโตร์ในประเทศไทยกันบ้าง หลังจากสาขาแรกเปิดให้บริการไอคอนสยามมาตั้งแต่ปี 2018 ล่าสุดแอปเปิ้ลสโตร์แห่งที่สองเพิ่งเปิดให้ชาวกรุงเทพฯได้มาเยี่ยมชมที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ริมแยกราชประสงค์ไปเมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา นับเป็นสาขาแรกของแอปเปิ้ลสโตร์ที่ห่อหุ้มสเปซด้านในด้วยวัสดุผนังกระจกทั้งหมด พร้อมโครงสร้างหลังคาแบบ cantilever เป็น ‘Tree Canopy’ เลียนแบบลักษณะพุ่มต้นไม้ใหญ่คอยปกคลุมอาคารเบื้องล่างเอาไว้ ด้านในมีบันไดวนล้อมรอบโครงสร้าง core รับน้ำหนักตรงกลางและลิฟต์แก้วด้านหลังเชื่อมต่อพื้นที่ใช้งานทั้ง 3 ชั้น แน่นอน เพื่อคงคอนเส็ปต์การเปิดพื้นที่สู่สาธารณชนเหมือนสาขาอื่น
สโตร์จัดสรรพื้นที่ด้านนอกตัวอาคารทรงกระบอกใสเป็นที่นั่งเล่นใต้ต้นหูกระจง และไม่ลืมเปิดพื้นที่ด้านในพร้อมสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สัมมนาที่หมุนเวียนกันไปตามแนวทางของบริษัทอีกด้วย ชาวกรุงเทพฯสามารถแวะเวียนมาที่สโตร์ผ่านทางเชื่อมโดยตรงจากห้างเซ็นทรัลเวิลด์และสกายวอล์กรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ง่ายๆเลยอีกด้วย เรียกว่าอย่างน้อยก็เป็นร้านค้าเชิงพาณิชย์กลางแจ้งที่พยายามเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯได้เลยล่ะ
ขอขอบคุณที่มาจาก : City Cracker