สุดเจ๋ง!! เด็กนักเรียนปลูกเมล่อนอินทรีย์ บนพื้นที่ 72 ตารางเมตร ผลผลิตงาม ขายได้ราคาดี
advertisement
กว่า 100 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการเรียนการสอนมาหลายต่อหลายรุ่น แต่เพราะพื้นที่โรงเรียนมีน้อย เพียง 6 ไร่ 30 ตารางวา ทำให้อาคารเรียนและพื้นที่ทุกอย่างต้องจัดระเบียบอย่างเป็นระบบให้ดี เพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างเต็มที่
[ads]
ที่ผ่านมา ทราบว่าโรงเรียนจัดการเรียนการสอนในแบบโรงเรียนขยายโอกาส คือ มีการเรียนการสอนในระดับชั้นปฐมวัยถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีบุคลากรด้านการสอน 14 คน มีนักเรียนเพียง 143 คน เท่านั้น
advertisement
อาจารย์ศศิธร จ๋าพิมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) เปิดเผยว่า โรงเรียนมีพื้นที่น้อย การให้ความสำคัญด้านพื้นที่เกษตรภายในโรงเรียนก็ไม่ได้น้อยไปด้วย แต่เป็นการจัดพื้นที่ให้เหมาะสมตามพื้นที่ที่มีอยู่ โดยให้ความสำคัญกับรายวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ซึ่งมีอาชีพเกษตรอยู่ในการเรียนการสอนรายวิชานี้ด้วย และการให้นักเรียนได้เรียนรู้ในภาคปฏิบัติ ถือเป็นสิ่งจำเป็น การจัดการแปลงผักสวนครัวไว้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ จึงมีมาโดยตลอด รวมถึงการจัดแปลงสวนสมรม ที่ปลูกพืชหลายชนิดคละกันภายในสวน เพื่อประหยัดพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทำให้นักเรียนก็ได้เรียนรู้พืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน
“เด็กนักเรียนโรงเรียนเราเกือบทั้งหมดจะอ่อนในเชิงวิชาการ นักเรียนส่วนใหญ่หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมต้นของโรงเรียนจะมุ่งเข้าเรียนในสายอาชีพ ดังนั้น เราจึงมองหาจุดแข็งเสริมให้กับนักเรียน ซึ่งเห็นว่าการส่งเสริมเรื่องของอาชีพจะเป็นพื้นฐานให้นักเรียนมีความถนัดและเรียนรู้ในสายอาชีพได้ดียิ่งขึ้น”
พื้นที่น้อย ปลูกพืชเป็นแปลงสมรม
ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกด้วยว่า พื้นที่ที่จัดให้เป็นพื้นที่เกษตรของโรงเรียนมีไม่มากนัก แต่เพื่อครอบคลุมจึงจัดเป็นสวนสมรม พื้นที่ 24 ตารางเมตร สำหรับปลูกผักและไม้ผลไว้หลายชนิด เช่น ตะไคร้ มะนาว กะเพรา คะน้า กวางตุ้ง มีไม้ผลปลูกแซมไว้รับประทาน เช่น มะละกอ กล้วย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับปลูกไม้พื้นบ้าน ไม้ป่า สำหรับให้นักเรียนได้ศึกษา เช่น ตะขบป่า เป็นไม้พื้นบ้านที่อดีตพบเห็นได้บ่อย และใช้ประโยชน์จากผลและเนื้อไม้ แต่ปัจจุบันต้นตะขบป่าพบเห็นได้ยาก จึงปลูกไว้เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา
นอกเหนือจากแปลงเกษตรที่จัดทำเป็นสวนสมรมแล้ว โรงเรียนยังปันพื้นที่สร้างบ่อซีเมนต์สำหรับเลี้ยงปลาดุก ครั้งละ 2,000-3,000 ตัว เด็กนักเรียนเป็นคนดูแลในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ และเมื่อได้อายุจับ ก็จะจับขาย ซึ่งเป็นการเลี้ยงสัตว์เพียงชนิดเดียวที่โรงเรียนดำเนินการอยู่
advertisement
อาจารย์ศศิธร บอกว่า ในอนาคตอยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่ใหม่สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรือน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
มั่นใจพืชเศรษฐกิจ เป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก
เพราะโรงเรียนมีความมุ่งมั่นเสริมสร้างพื้นฐานด้านอาชีพให้กับเด็กนักเรียน จึงพุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ทำให้โรงเรียนมองเห็นโอกาสของพืชเศรษฐกิจที่อนาคตนักเรียนอาจจะนำไปต่อยอดเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตัวนักเรียนและครอบครัว ซึ่ง “เมล่อน” ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไปได้ดีในตลาดไม้ผล ประกอบกับ อาจารย์บรรจด โกะสูงเนิน อาจารย์ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรของโรงเรียนทั้งหมดให้ความสนใจ จึงเดินทางไปศึกษาการทำโรงเรือนเมล่อน รวมถึงรายละเอียดในการปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว ทั้งหมด
อาจารย์ศศิธร บอกว่า อาจารย์บรรจดนำความรู้ทั้งหมดกลับมายังโรงเรียน และของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 4 เพื่อจัดสร้างแปลงเมล่อนสาธิต สำหรับให้นักเรียนได้เรียนรู้ ทั้งยังเป็นแปลงสาธิตให้กับชุมชนเข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งปัจจุบันได้ทำโรงเรือนมาตรฐาน ขนาด 72 ตารางเมตร เรียบร้อยแล้ว
“เรามองว่า พืชเศรษฐกิจชนิดนี้จะช่วยให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนอยากทำ เพราะมองเห็นผลกำไรในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนความคิดเด็กที่มองว่าอาชีพเกษตรกรมีความก้าวหน้าน้อย ให้เป็นอาชีพเกษตรกรสามารถทำรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย จึงคิดนำมาเป็นตัวอย่างให้กับนักเรียนได้เรียนรู้”
advertisement
ที่สำคัญ การปลูกเมล่อนในครั้งนี้ จริงจังและให้ความสำคัญกับการปลูกเมล่อนแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กนักเรียนเห็นชัดว่า ผลผลิตที่ได้เมื่อออกสู่ตลาดราคาจะสูงกว่าปกติ และมีแรงบันดาลใจในการทำการเกษตรมากขึ้น
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) อธิบายว่า แปลงเมล่อนที่มีอยู่บนพื้นที่ 72 ตารางเมตร เป็นแปลงสาธิต เปิดให้ชาวบ้านหรือชุมชนเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม มีอาจารย์บรรจดเป็นผู้ให้ข้อมูลกับผู้สนใจ และบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรอาชีพเพิ่มเติมในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยมีอาจารย์บรรจด เป็นผู้สอน
“เราเริ่มให้ความสำคัญกับแปลงเมล่อนสาธิต ตั้งแต่ปลายปี 2558 ปล่อยให้นักเรียนทุกระดับชั้นเข้าไปศึกษาในแปลงเมล่อน โดยมีอาจารย์บรรจดทำหน้าที่อธิบายในแต่ละขั้นตอนของการปลูก การดูแลรักษา โรคและแมลง และอื่นๆ ในทุกขั้นตอนของการทำแปลงเมล่อน เท่าที่สังเกต เด็กจะตื่นเต้นมากทุกครั้งที่พาเข้าไปในแปลง เพราะเป็นพืชที่เชื่อว่าเด็กนักเรียนไม่ได้พบเห็นในพื้นที่แน่นอน เมื่อได้เข้าไปสัมผัสของจริง เด็กจึงพร้อมจะเปิดรับความรู้ที่ป้อนให้อย่างเต็มที่”
นับตั้งแต่ลงแปลงปลูก เมล่อนให้ผลผลิตแล้ว 1 รุ่น เมื่อเริ่มติดผล เด็กๆ ต่างเฝ้าคอยรอดูผลเจริญเติบโตเป็นผลใหญ่ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 100 ผล หลังเก็บผลผลิตมาในล็อตแรก เด็กนักเรียนได้ชื่นชมกับผลผลิตและยังไม่นำออกจำหน่าย แม้ว่าจะมีผู้สนใจติดต่อขอซื้อก็ตาม เพราะผลผลิตล็อตแรกสร้างความตื่นเต้นและความสุขให้กับอาจารย์และนักเรียน จึงนำไปใช้ประโยชน์ให้กับโรงเรียนด้วยการมอบให้กับหน่วยงานภายนอกที่เดินทางมาเยี่ยมชมโรงเรียน นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของเมล่อนที่ไม่ได้จำหน่าย ยังนำไปให้เด็กนักเรียนได้รับประทาน
advertisement
ความโดดเด่นของแปลงเมล่อนของโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) คือ เมล่อนปลอดสาร อาจารย์ศศิธร บอกว่า อยากให้เรียกว่าเมล่อนอินทรีย์ เพราะเราทำปลอดสารทั้งหมด และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่มีสารเคมีมาเกี่ยวข้อง เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ถึงการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี โดยเราสอนไปถึงการหมักปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง การไล่แมลงศัตรูพืชด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านจากสมุนไพร และเมื่อผลผลิตออกมา ราคาของผลผลิตที่จำหน่ายก็สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดได้
ในอนาคตโรงเรียนตั้งเป้าเพาะกล้าเมล่อน ให้นักเรียนที่สนใจนำกลับไปปลูกที่บ้าน เพราะเชื่อว่านักเรียนสามารถทำได้ และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับนักเรียนและครอบครัวอีกทาง รวมถึงมองพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่เชื่อว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของนักเรียนได้อีก เช่น มะเขือเทศราชินี ฟักทองยักษ์ เป็นต้น
[ads]
ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) ได้รับความสนใจในเรื่องการทำแปลงเมล่อนอินทรีย์อย่างมาก และเป็นต้นแบบให้กับสถานศึกษาหลายแห่งที่สนใจปลูกพืชเศรษฐกิจในโรงเรียน จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนที่ฉีกแบบการทำเกษตรในโรงเรียนยุคนี้ สนใจเยี่ยมชมการปลูกเมล่อนในโรงเรือน ของโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ศศิธร จ๋าพิมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) โทรศัพท์ (087) 965-5957
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : sentangsedtee.com, สุจิต เมืองสุข เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์