เตือนอันตราย!! สักลาย..เพ้นลวดลายศิลปะบนร่างกาย.. เสี่ยงได้หลายโรคร้ายเป็นของแถม!!
advertisement
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกสำหรับสักลาย นำมาตรวจวิเคราะห์ การปนเปื้อนสีห้ามใช้ โลหะหนัก และเชื้อก่อโรคทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค
[ads]
advertisement
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า หลายคนชื่นชอบกับการมีรอยสักลวดลายอักขระหรือรูปสัตว์ต่างๆ บนร่างกายเป็นศิลปะที่สวยงามหรือความเชื่อส่วนบุคคล ปัจจุบันการสักได้เข้ามามีบทบาท ด้านการเสริมสวยความงาม เช่น การสักคิ้วถาวร การสักริมฝีปาก ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้หญิงที่ต้องการการสัก เพื่อเสริมความงามและต้องการประหยัดเวลาในการนั่งเขียนขอบตาหรือเขียนคิ้ว แต่ในความสวยงามจากการสัก อาจมีอันตรายที่แอบแฝงอยู่ หากผู้ทำการสักไม่มีความชำนาญและอุปกรณ์การสักไม่สะอาด อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ เช่น การใช้เข็มที่ไม่สะอาดหรือเข็มที่ผ่านการทำให้ปลอดเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงพอ เชื้อโรคที่มีโอกาสติดต่อได้จากการสัก ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อ HIV นอกจากนี้หมึกสำหรับสักลายอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการแพ้ เกิดเป็นผื่นหรือตุ่มแดง บางรายเกิดอาการคันในตำแหน่งของรอยสักนั้นๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือ ปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย ได้ศึกษาคุณภาพทางเคมีและทางจุลชีววิทยาของหมึกสำหรับสักลายที่จำหน่ายในประเทศไทย เพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัย โดยสุ่มเก็บตัวอย่างหมึกสำหรับสักลาย 52 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จำแนกผลดังนี้ การวิเคราะห์โลหะหนัก พบสารหนูเกินมาตรฐานกำหนด 4 ตัวอย่าง ปริมาณสูงสุดที่ตรวจพบ 14.64 ไมโครกรัมต่อกรัม แคดเมียม 4 ตัวอย่าง ปริมาณสูงสุดที่ตรวจพบ 7.89 ไมโครกรัมต่อกรัม ตะกั่ว 2 ตัวอย่างแต่ไม่เกินมาตรฐานกำหนด โดยตรวจพบในปริมาณที่น้อยกว่า 5 ไมโครกรัมต่อกรัม ส่วนปรอทและสีห้ามใช้ตรวจไม่พบทุกตัวอย่าง ทั้งนี้กฎหมายของอาเซียนด้านเครื่องสำอาง กำหนดให้สารหนู ปรอท และตะกั่วปนเปื้อนได้ไม่เกิน 5, 1 และ 20 ไมโครกรัมต่อกรัม ตามลำดับ และประเทศไทยกำหนดให้แคดเมียมไม่เกิน 3 ไมโครกรัมต่อกรัม สำหรับการตรวจคุณสมบัติทางจุลชีววิทยา หรือตรวจหาเชื้อก่อโรค พบเชื้อแบคทีเรียเกินกำหนด 13 ตัวอย่าง และพบเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) 1 ตัวอย่าง จำนวนแบคทีเรียปนเปื้อนที่พบอยู่ในระดับ 35,000-10,000,000 โคโลนีต่อกรัม ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม
advertisement
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า หมึกสำหรับสักลายที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เมื่อเข้าสู่ร่างกายต่อเนื่องเป็นระยะนานจะเกิดการสะสมที่บริเวณผิวหนัง และอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งที่ผิวหนัง สำหรับเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ เมื่อเข้าสู่ผิวหนังจะก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา สามารถก่อโรคได้หลายชนิด หากติดเชื้อที่ปอดอาจจะทำให้ปอดและหลอดลมอักเสบ รวมถึงหากได้รับเชื้อทางผิวหนังอาจจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนังชนิดเอกติม่า แกงกรีโนซัม (ecthyma gangrenosum) คือ มีอาการลักษณะบวม แดง ค่อนข้างแข็ง ต่อมาจะกลายเป็นเนื้อตายได้ เชื้อสตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ทำให้เกิดโรคตาแดง ระคายเคืองตา ทำให้หนังตาอักเสบ เป็นต้น
[yengo]
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ยังไม่ได้จัดให้หมึกสำหรับสักลายเป็นเครื่องสำอาง แต่พบว่าสีที่ใช้ในหมึกเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางได้ ทั้งนี้หมึกสำหรับสักลายยังไม่มีข้อบังคับว่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องปราศจากเชื้อ จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและผู้ประกอบการสักลาย ควรตระหนักและระมัดระวัง ในการใช้และไม่สักลายในบริเวณผิวที่บอบบางหรือมีการอักเสบ เป็นแผล การใช้น้ำเจือจางหมึกและการล้างอุปกรณ์ สำหรับสักลาย เช่น เข็มสำหรับสักลาย ควรใช้น้ำปราศจากเชื้อเท่านั้น ผู้บริโภคควรใช้บริการจากผู้ประกอบการ ที่ได้มาตรฐาน เลือกสักลายด้วยหมึกสำหรับสักลายจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ ใช้บริการจากผู้สักลายที่รักษาสุขลักษณะ ถ้ามีประวัติแพ้สารใดมาก่อน ควรพิจารณาส่วนประกอบสำคัญอย่างละเอียด ก่อนการเลือกใช้หมึกสำหรับสักลาย และผู้ประกอบการควรล้างมือให้สะอาดและใส่ถุงมือ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ
ขอขอบคุณแหล่งข่าวโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์