ไอเดียสุดเจ๋ง!! เปลี่ยนขยะข้าวโพด..เป็นเห็ดฟางปลอดสารพิษ
advertisement
จาก “ขยะข้าวโพด” สู่ “เห็ดฟางตะกร้าปลอดสารพิษ” ลดขยะ ลดหนี้ สร้างอาชีพ ทุกวันนี้คนไทยกว่า 60 ล้านคน สามารถสร้างขยะได้มากถึง 14 ล้านตันต่อปี แต่ความสามารถในการจัดเก็บขยะกลับมีไม่ถึง 70% ของ ขยะที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างตามสถานที่ต่างๆ หรือมีการนำไปกำจัด โดยวิธีที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย ทั้งอากาศเสีย เกิดควันและสารมลพิษทางอากาศ น้ำเสีย แหล่งพาหนะนำโรค จากขยะมูลฝอยตกค้างบนพื้น และอื่นๆ อีกมากมาย
และหากแยกย่อยแต่ละประเภทขยะ จะพบว่า “ขยะเหลือใช้ทางการเกษตร” ติดอันดับต้นๆ ที่น่าเป็นห่วง เพราะข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรปริมาณมากถึง 195,303,000 ตัน/ปี อาจเพราะว่าเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งกำเนิดผลผลิตเกษตรกรรม ทำให้มีของเสียเหลือทิ้งจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูปเป็นจำนวนมาก [ads]
advertisement
ย้อนกลับไปในอดีตวัสดุเหลือทิ้งไม่ว่าจะเป็นตอซังข้าว ใบไม้ต่างๆ ส่วนใหญ่มักถูกไถกลบบนพื้นที่ที่จะทำการเพาะปลูก ซึ่งถือเป็นการหมุนเวียนเอาของเสียที่เกิดขึ้นนำมาใช้ประโยชน์ แต่ปัจจุบันมีการเร่งผลผลิตให้ได้ปริมาณมากขึ้นให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค จึงมีการนำปุ๋ยเคมีมาใช้แทนการฝังกลบ ทำให้เกิดของเสียจากการเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะดีไหมหากเรามีวิธีนำเอาวัสดุเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการกำจัดของเสียไปในตัว
“บ้านสันรุ่งเรือง” หมู่ที่ 6 ต.น้ำมวบ อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ประสบปัญหาขยะจากการทำเกษตรกรรม เนื่องจากสภาพพื้นที่ อยู่ห่างไกล เป็นพื้นที่บริเวณภูเขาสูงล้อมรอบ ประชาชนส่วนใหญ่ทำการเกษตรกรรมพืชที่ปลูกส่วนใหญ่คือ “ข้าวโพด” และเมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ขยะจากเปลือกข้าวโพดจำนวนมาก โดยวิธีการที่ชาวบ้านเลือกใช้ในการกำจัดขยะคือการเผาทิ้ง ส่งผลให้เกิดหมอกควัน เป็นมลพิษสิ่งแวดล้อม และเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า หรือไฟไหม้ลุกลามมาสู่ชุมชนได้
advertisement
ร้อนมาถึง “คณะกรรมการหมู่บ้าน” ต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้เป็นการด่วน เพื่อทำให้ชุมชนสะอาด และมีความปลอดภัยทั้งสุขภาวะองค์รวม ด้วยวิธีที่ใช้คือกระบวนการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน เปิดให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกร เข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้าง หาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว
“สันติ ไชยวุฒิ” ผู้ใหญ่บ้านนาผา ต.อ่ายนาไลย อ.เวียงสา จ.น่าน แกนนำคนสำคัญ เล่าว่า จากการสำรวจพบปัญหาสำคัญของชุมชนคือขยะ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ทำให้คนเจ็บป่วย รวมถึงปัญหาหมอกควันจากการเผาขยะ จึงดำเนินโครงการ “บ้านนาผาน่าอยู่การจัดการปัญหาขยะชุมชน” โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการ เข้ามาดูแลเรื่องการะรีไซเคิลขยะ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการขยะ จนในที่สุดเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ เกิดความสนใจที่จะนำขยะข้าวโพดมาแปรรูป ให้เกิดประโยชน์ แทนการเผาทิ้ง และทางออกของ “ขยะจากข้าวโพด” คือ การนำตอซังข้าวโพดมาเพาะเห็ดฟางตะกร้า นั่นเอง
ที่มาของวิธีดีๆ นี้ มาจากการที่คณะกรรมการหมู่บ้าน ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในหลายพื้นที่ อาทิ การใช้ฟางข้าวมาทำปุ๋ยสูตรแม่โจ้ เพาะเห็ดฟางตะกร้าจากฟางข้าว และได้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะปาล์มน้ำมัน จากบ้านบางยางพัฒนา อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่ได้แก้ไขโดยการนำขยะปาล์มน้ำมันมาทำแปลงเพาะเห็ดฟาง ซี่งได้ผลผลิตดีมากส่งผลเกิดเป็นขยะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน หรือไปศึกษาดูงานที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลน่าน ล้านนา (เกษตรน่าน) เพื่อไปเรียนรู้การจัดการขยะในรูปแบบต่างๆ เน้นการนำมาทำเพาะเห็ด โดยมี ผศ.ดร.แสงแก้ว คำกวน เป็นวิทยากรให้คำแนะนำพร้อมสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
advertisement
ซึ่งวิธีการนี้ ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก ด้วยวิธีการทำที่ง่าย ให้ผลผลิตได้เร็ว โดยการทำเห็ดฟางตะกร้าจากขยะข้าวโพดซึ่งใช้เวลาเพียง 15-20 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เกิดเป็นรายได้เสริมที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเกิดการสร้างเครือข่ายเพาะเห็ดฟางตะกร้าไปสู่ครัวเรือนข้างเคียง [ads]
ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะข้าวโพดในพื้นที่แล้ว ยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพราะวิธีการรีไซเคิลขยะข้าวโพด เพื่อไปสร้างอีกหนึ่งผลผลิตทางการเกษตร อย่าง “เห็ดฟางตะกร้า” ยังช่วยให้คนในชุมชน 85% รู้จักวิธีการจัดการขยะถูกวิธี เกิดเป็นธนาคารขยะชุมชน ที่ทุกครัวเรือนเป็นสมาชิก ทำให้เกิดการออมเงิน ส่งผลต่อเนื่องมาถึงเกิดการบริโภคอาหารปลอดภัย จากการเพาะเห็ดฟางตะกร้าจากขยะข้าวโพดอีกด้วย และในอนาคต “บ้านสันรุ่งเรือง” มีการเตรียมที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร โดยจะพัฒนาให้แกนนำสามารถทำเพาะเชื้อเห็ดได้เองในชุมชน พร้อมกับพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้การนำขยะข้าวโพดมาเพาะเห็ดฟางทั้งตะกร้าและโรงเรือนต่อไป
ที่มา : thaihealth.or.th โดย arphawan sopontammarak, เฟสบุ๊คสำนักสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม