ไอเดียสุดเจ๋ง!! เพาะถั่วงอกตัดราก แบบคอนโด!!
advertisement
การเพาะ “ถั่วงอก” นับเป็นอาชีพด้านการเพาะปลูกที่ให้ผลผลิตได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งเวลาเพียง 2-3 วันเท่านั้น ก็มีผลผลิตให้รับประทานหรือจำหน่ายได้ ซึ่งความน่าสนใจของถั่วงอกอยู่ที่ปริมาณความต้องการของตลาด ว่ากันว่าแต่ละวันประเทศไทยมีความต้องใช้ถึงวันละ 1 ล้านกิโลกรัม ทั้งยังเป็นความต้องการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเพาะถั่วงอกอยู่ที่ไหน ก็สามารถจำหน่ายได้อย่างแน่นอน
วัสดุ-อุปกรณ์ สำหรับการเพาะถั่วงอกตัดราก แบบคอนโด
– วงบอซีเมนต์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร ก้นทึบ เจาะรู 1 รู เพื่อระบายน้ำ เหตุที่ใช้วงบ่อที่มีความสูง 50 เซนติเมตร เนื่องจากนำมาใช้เพาะถั่วงอกแบบคอนโดจำนวน 4 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นจะมีความสูงต้นถั่วประมาณ 2 นิ้ว เมื่อรวมกับอุปกรณ์และวัสดุเพาะแล้ว จะพอดีกับความสูงของบ่อซีเมนต์นั่นเอง
– อิฐบล็อกหรือชั้นที่แข็งแรง สำหรับวางวงบ่อให้สูงจากพื้น
– ดินน้ำมัน ใช้อุดรูระบายน้ำของวงบ่อ
– ตะแกรงเหล็กรองก้น ขนาดพอดีกับวงบ่อ มีขาตั้งสูงจากก้นบ่อประมาณ 1 นิ้ว
[ads]
– ตะแกรงพลาสติก หรือที่เรียกกันว่าตะแกรงเกล็ดปลา รูขนาด 1 มิลลิเมตร ทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ซึ่งเท่ากับขนาดของภาชนะปลูก จำนวน 6 ชิ้น (หากเป็นตะแกรงเก่า ล้างทำความสะอาด และต้มฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย)
– กระสอบป่าน ตัดเป็นวงกลม ขนาดใหญ่กว่าภาชนะปลูกประมาณ 2 นิ้ว (ขนาด 54 เซนติเมตร) เย็บขอบป้องกันการหลุดให้เรียบร้อย จำนวน 6 ชิ้น (หากเป็นกระสอบเก่า ล้างทำความสะอาด และต้มฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย)
– อุปกรณ์ให้น้ำ
– ผ้าสักหลาดทึบแสง สำหรับปิดด้านบนของภาชนะปลูก
– เมล็ดถั่วเขียว ที่ผ่านการคัดคุณภาพแล้ว จำนวน 1.8 กิโลกรัม
การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูก ทำได้โดย หากซื้อถั่วเขียวที่จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปที่บรรจุไว้ในถุง ถั่วเขียวที่ดีเมื่อตบหรือถูข้างถุงจะเห็นละอองขาว ๆ เกาะอยู่ข้างใน และลักษณะของเมล็ดต้องเป็นมันเงา เมื่อลองใช้ฟันขบดู เมล็ดจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ แต่ถ้าขบแล้วเมล็ดยุบลงตามฟันไม่แตก แสดงว่ายังอ่อนอยู่ ไม่ควรนำมาเพาะถั่วงอก
advertisement
วิธีการเพาะถั่วงอก
1. นำเมล็ดถั่วเขียวมาซาวน้ำ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เพื่อคัดแยกเมล็ดที่ลีบเล็ก ไม่สมบูรณ์และเศษสิ่งปลอมปนต่าง ๆ ซึ่งจะลอยน้ำขึ้นมานำออกให้หมด ครั้งที่ 2 ให้ขยำเมล็ดไปพร้อมกันด้วย ทำให้เยื่อหุ้มเมล็ดหลุดลอยขึ้นมาเห็นเป็นละอองขาว ๆ หากเป็นเมล็ดพันธุ์เก่าเยื่อดังกล่าวจะรัดเมล็ดแน่น ไม่ลอยขึ้นมา ซึ่งทำให้อัตราการงอกไม่ดีเท่าที่ควร
2. นำเมล็ดถั่วเขียวที่ซาวน้ำแล้วมาแช่ในน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 40-45 องศาเซลเซียส หรือ ใช้น้ำต้มเดือด 1 ส่วน ผสมน้ำธรรมดา 3 ส่วน แช่ทิ้งไว้ 6-8 ชั่วโมง (หากสภาพอากาศร้อนแช่ 6 ชั่วโมง ถ้าอากาศหนาวแช่ 8 ชั่วโมง)
– อุณหภูมิของน้ำห้ามต่ำหรือสูงกว่านี้ เพราะหากต่ำเกินไปจะฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ และถ้าสูงเกินไปทำให้เมล็ดถั่วตาย เพาะไม่ขึ้น และการแช่น้ำอุ่นทำให้เปลือกเกิดปฏิกิริยา ทำให้หลุดได้ง่าย ซึ่งช่วยทั้งเรื่องการงอก และล้างทำความสะอาดได้ง่าย หลังจากแช่ตามระยะเวลาที่กำหนด เมล็ดถั่วเขียวเริ่มมีรากปริ่ม ๆ ขึ้นมา
3. นำตะแกรงเหล็กวางด้านล่างสุดของวงบ่อซีเมนต์
– เหตุที่ตะแกรงตั้งมีขาให้สูงจากพื้นประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้รากของถั่วงอกชั้นล่างสุดลอยขึ้นเหนือวงบ่อ ไม่ถูกกดทับ สมบูรณ์และสามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ
advertisement
[yengo]
4. นำตะแกรงพลาสติก 1 ชิ้น วางบนตะแกรงเหล็ก
5. นำกระสอบป่าน 1 ผืน วางทับลงไป
6. นำตะแกรงพลาสติกอีก 1 ชิ้น วางอีกรอบหนึ่ง
7. นำเมล็ดถั่วเขียวที่แช่ไว้ (1.8 กิโลกรัม/วงบ่อ) แบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน
8. นำส่วนหนึ่งมาโรยบนตะแกรง เกลี่ยให้เสมอกัน ซึ่งจะมีความหนา 2-3 เมล็ดซ้อนกัน (จะได้ถั่วงอกชั้นที่ 1)
– พยายามเกลี่ยให้เมล็ด ที่มีลักษณะยาว ขนานกับตะแกรงมากที่สุด ซึ่งทำให้รากหยั่งลงไปหาความชื้นที่กระสอบได้ง่ายกว่าการที่เมล็ดตั้งอยู่
9. นำกระสอบป่าน 1 ผืน วางทับลงไป
10. นำตะแกรงพลาสติกอีก 1 ชิ้น วางแล้วนำถั่วเขียวอีก 1 ส่วน โรยลงไปในลักษณะเดียวกัน (จะได้ถั่วงอกชั้นที่ 2)
11. ทำลักษณะเดียวกันนี้จนครับทั้ง 4 ชั้น โดยชั้นบนสุดปิดทับด้วยตะแกรงพลาสติกและกระสอบป่านอย่างละ 2 ชิ้น
12. รดน้ำโดยผ่านกระสอบด้านบนให้ชุ่ม ซึ่งน้ำและความชื้นถูกกักเก็บไว้ในกระสอบ นำผ้าสักหลาดคลุมป้องกันแสง
13. รดน้ำ เช้า กลางวัน เย็น ทุกวัน โดยรดผ่านผ้ากระสอบด้านบน สังเกตน้ำที่ไหลผ่านออกมาจากรูก้นบ่อให้มีอุณหภูมิปกติ น้ำที่ใช้รดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หลังรดน้ำคลุมด้วยผ้าสักหลาดทุกครั้ง
14. ถั่วงอกจะใช้เวลาในการเจริญเติบโต 60 ชั่วโมงนับตั้งแต่แช่เมล็ด หรือหลังจากเพาะประมาณ 2 คืน 3 วัน ต้นถั่วเจริญเติบโตและดันกันขึ้นมาเป็นชั้น ๆ ก็สามารถเก็บผลผลิตได้
การเก็บเกี่ยว
เปิดผ้าคลุมออก ใช้น้ำฉีดด้านบนซึ่งจะทำให้เปลือกของถั่วหลุดออกไปจำนวนหนึ่ง จากนั้นก็นำออกจากวงบ่อมาที่ละชั้น จับชายกระสอบป่านคว่ำถั่วลงกระแทกในน้ำเพื่อให้เปลือกก็หลุดออก ใช้มีดตัดบริเวณโคนต้นรอยต่อระหว่างราก ต้นถั่วงอกก็หลุดออกมา นำใส่ตะแกรงล้างน้ำอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้ถั่วงอกที่สดสะอาด พร้อมบริโภคหรือนำไปจำหน่าย
ขอขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก:facebook.com/ เกษตรกรก้าวหน้า