เรื่องในหู ทำให้ “เวียนหัวและบ้านหมุน”

advertisement
หู เป็นอวัยวะสำคัญที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป เพราะเกิดปัญหาน้อย เท่าที่สังเกต ผู้คนในทุกวันนี้จะมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือหลายคนเรียกรวมๆ กันให้เข้าใจง่ายๆ ว่า อาการบ้านหมุน ซึ่งถูกพบมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ และก็ไม่มีใครจะคาดคิดว่าอาการเหล่านี้จะเกี่ยวกับเรื่องในหูโดยตรง
โดยเฉพาะคนในวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับอาการข้างต้นกันมาก เพราะมีวิถีและการใช้ชีวิตในแบบสมัยใหม่ที่ต้องเผชิญกับความเครียด การบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยรสชาติเค็มจัด การอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนและอบอ้าว ดื่มสุรา ชา กาแฟ และสูบบุหรี่ รวมถึงไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โรคบ้านหมุนและเวียนหัวโดยส่วนมากจะสันนิษฐานว่า เกิดจาก “โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน” ซึ่งเป็นภาษาที่เรียกกันทั่วไป แต่ทางการแพทย์จะเรียกว่า “โรคแรงดันน้ำในช่องหูชั้นในผิดปกติ” หรือ โรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) พบค่อนข้างบ่อย เป็นโรคที่พบอันดับ 2 ของสาเหตุอาการเวียนศีรษะ มักเป็นหูข้างใดข้างหนึ่งก่อน และมีประมาณ 15-20% ที่เป็นหูทั้งสองข้าง
[ads]
advertisement
การสันนิษฐานที่เหมารวมว่า เวลาหน้ามืดเวียนหัวและบ้านหมุนนั้น เป็นเพราะเกิดอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะอาการเหล่านี้ก็อาจจะเป็นโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo : BPPV) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “หินปูนในหูหลุด” ก็เป็นไปได้
เพราะฉะนั้น การตรวจและวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างละเอียด จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสองโรคที่เกี่ยวกับหูชั้นในที่เป็นบ่อเกิดของอาการบ้านหมุนทรงตัวไม่อยู่
จุดสังเกตของทั้งสองโรคนี้ พญ.ภาณินี จารุศรีพันธุ์ ฝ่ายโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เขียนบทความบอกไว้ว่า คนส่วนมากคิดว่าอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน การได้ยินลดลงเกิดจากสาเหตุของน้ำในหูไม่เท่ากัน ทั้งนี้อาการของตะกอนหินปูนในหูเคลื่อนกับน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการที่คล้ายคลึงกัน แต่จะมีข้อแตกต่างคือ อาการของน้ำในหูไม่เท่ากันจะมีอาการต่างๆดังที่กล่าวมานานเกิน 20 นาทีขึ้นไปถึง 2 ชั่วโมง แล้วไม่นานก็จะกลับมาปวดหัวหรือมีอาการดังกล่าวอีก โดยจะมีลักษณะเป็นๆ หายๆ ซึ่งโรคนี้มีโอกาสเป็นได้ทุกเพศและทุกวัย เพราะเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบมากในวัยทำงานที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
advertisement
การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื่องจากโรคนี้ไม่มีความจำเพาะของพยาธิสภาพ แพทย์จะรู้แต่เพียงว่าความดันในหูไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการที่ตรวจพบ โดยจะให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดสภาวะอาการบวมและคั่งของน้ำในหูชั้นใน รวมทั้งยาขยายหลอดเลือด ยาลดอาการเวียนศีรษะและคลื่นไส้อาเจียน ตลอดจนยากล่อมประสาทและยานอนหลับ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและนอนหลับได้เป็นปกติ
[ads]
ส่วนอาการของตะกอนหินปูนในหูเคลื่อนจะมีไม่เกิน 1 นาที เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะเป็นๆ หายๆ โดยมีพยาธิสภาพอยู่ที่หูชั้นใน โดยอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะไม่นาน มักเป็นวินาทีหรือนาที หลังมีการเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ และมักจะมีตากระตุกทำให้มองไม่ชัด ขณะมีอาการหรือมองเห็นภาพซ้อน แต่ตามักจะกระตุกอยู่นานประมาณ 30 วินาที ถึง 1 นาทีเท่านั้น และอาการเวียนศีรษะดังกล่าว จะค่อยๆ หายไป แต่เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะในท่าเดิมอีก ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้อีก
ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะได้หลายครั้ง เป็นๆ หายๆ ใน 1 วัน และอาจมีอาการวิงเวียนอยู่ได้เป็นวันหรือสัปดาห์ หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้น และหลังจากหายดีแล้ว ผู้ป่วยอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก โรคนี้พบได้ในคนอายุ 30-70 ปี (พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก) และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 1.5-2 : 1 และมักพบในคนสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) โรคนี้สามารถเกิดในหูทั้งสองข้างได้ประมาณร้อยละ 15 และอาจพบร่วมกับโรคไมเกรนได้
การรักษาโรคหินปูนในหูชั้นใน แพทย์จะให้คำแนะนำและรักษาตามอาการ เช่น ในขณะที่มีอาการให้หลีกเลี่ยงจากท่าที่กระตุ้นให้เกิดอาการส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้เอง โดยเฉพาะหลังจาก 1 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่เกิน 1 เดือน อาจให้ยาช่วยบำบัดอาการในระยะแรกๆ ในกลุ่มนี้จะต้องระวังกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการและมีอันตรายต่อผู้ป่วย ให้การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่ปัจจุบันนิยมและยอมรับว่าได้ผล การทำกายภาพบำบัดเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนหรือแคลเซียมออกจากอวัยวะทรงตัวในหูชั้นในที่เป็นรูปเกือกม้า เมื่อตะกอนหินปูนเคลื่อนออกมาแล้วก็จะไม่กระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะอีก วิธีนี้กระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเวียนศีรษะเท่านั้น
เพราะฉะนั้น จึงพอสรุปได้ว่า หากใครที่บ้านหมุนเวียนหัวทรงตัวไม่อยู่เป็นระยะเวลา 20 นาทีขึ้นไป และอาการหูอื้อร่วมด้วย ก็จะเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ส่วนตะกอนหินปูนในหูหลุดก็จะมีอาการแค่สั้นๆ ชั่วประเดี๋ยวก็หายไป ซึ่งก็เป็นการเช็กดูตัวเองเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นที่ตรวจสอบด้วยตัวคุณเองได้
ขอขอบคุณเนื้อจาก : thaihealth.or.th