เลี้ยงสัตว์น้ำเค็มอินทรีย์ วิถีของการลดโรค ลดต้นทุน เพิ่มกำไรของเกษตรกร!!
advertisement
การเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์หรือในระบบอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ที่จำเป็นต้องเลี้ยงจำนวนมากในพื้นที่ที่จำกัด หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สัตว์จะประสบภาวะเครียดและมีความอ่อนแอไม่ทนทานต่อความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม ส่งผลให้ต้องมีระบบการจัดการที่ซับซ้อน รวมถึงต้องใช้ยาหรือสารเคมีเข้ามาควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ได้มีเกษตรกรเริ่มหันมาเลี้ยงสัตว์ทะเลเพื่อบริโภคแบบอินทรีย์กันมากขึ้น นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้วยังเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องยาและอาหารของเกษตรกรอีกด้วย
[ads]
advertisement
จากเชิงพาณิชย์เป็นอินทรีย์เต็มตัว
คุณสุรกิจ ละเอียดดี เจ้าของสุรกิจฟาร์ม ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลอินทรีย์เป็นรายแรกในพื้นที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ บอกว่าในอดีตเคยทำการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเชิงพาณิชย์ โดยการเลี้ยงรอบแรกให้ผลตอบแทนดี กำไรสูง แต่ในการเลี้ยงรุ่นที่สองมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายทั้งเรื่องโรคระบาดอย่างโรคตัวแดงดวงขาวและการใช้สารเคมีที่ต้องให้ตลอดไม่อย่างนั้นจะประสบภาวะขาดทุน หลังจากทำไปได้เพียงหนึ่งปีจึงตัดสินใจเลิกทำและหันไปทำการเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลระบบธรรมชาติแทน
“ช่วงที่ทำการเลี้ยงเชิงพาณิชย์เกิดปัญหาเรื่องโรคระบาดมากทำให้ต้องใช้สารเคมีเข้ามาช่วย เมื่อใช้สารเคมีเข้าช่วยมากก็ย่อมมีสารตกค้างเหลืออยู่ในกุ้งซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ยังประสบภาวะเครียดและเหนื่อยเนื่องจากต้องคอยดูแลอยู่ตลอดเวลาจนไม่มีเวลาพัก ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงด้วยระบบธรรมชาติแทน คือสร้างประตูน้ำและเปิดให้น้ำและสัตว์ทะเลเข้ามาในบ่อ จากนั้นจึงเลี้ยงจนได้ขนาดและจับไปขาย”
advertisement
จนกระทั่งปีพ.ศ. 2546 เกิดวิกฤติหนัก น้ำทะเลเสียบ่อย และสัตว์ทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ลดจำนวนลงไปมาก ร่วมกับในปีนั้นกรมประมงมีการส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงสัตว์น้ำระบบอินทรีย์ จึงได้เข้าร่วมอบรมและนำความรู้ที่ได้มาใช้ รวมไปถึงการไปดูฟาร์มตัวอย่างจากต่างจังหวัดแล้วนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งการทำฟาร์มเลี้ยงระบบอินทรีย์ต้องทำให้ได้ตามที่มาตรฐานของกรมประมงกำหนด เช่น ไม่เลี้ยงแบบหนาแน่น ไม่มีการใช้ยาหรือสารเคมี ลูกพันธุ์ไม่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม และระบบการเลี้ยงต้องเอื้อต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
คุณสุรกิจบอกว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำที่ฟาร์มเป็นในลักษณะผสมผสานคือเลี้ยงสัตว์ทะเลทุกชนิดทั้ง กุ้ง ปูทะเล หอยแครง ปลากระพง ปลาหมอเทศ ปลากระบอก และอื่น ๆ อีกกว่า 20 ชนิด ภายในบ่อขนาด 30 ไร่ โดยสัตว์ที่เลี้ยงมากที่สุดคือกุ้งมีทั้งกุ้งกุลาดำและกุ้งแชบ๊วย สัตว์น้ำทุกประเภทสามารถเลี้ยงได้ในทุกฤดูกาล ยกเว้นเพียงหอยแครงที่เลี้ยงได้เฉพาะในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมเพราะน้ำจะเค็ม หากเลยไปถึงช่วงฤดูฝนน้ำจะจืดจนไม่สามารถเลี้ยงได้
“ที่ฟาร์มไม่มีการให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป เปลี่ยนเป็นการให้ปลาเป็ดหรือปลาขนาดเล็กซึ่งไม่สามารถรับประทานได้มาบดซึ่งปลาชนิดนี้ได้มาจากการเปิดประตูน้ำเข้าบ่อเป็นเพียงอาหารเสริมเท่านั้นโดยให้เป็นปริมาณ 25 กิโลกรัม ต่อพื้นที่บ่อ 30 ไร่ ที่บอกว่าเป็นอาหารเสริมเพราะการเลี้ยงแบบผสมผสานทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ทำให้เกิดห่วงโซ่อาหารโดยธรรมชาติ รวมไปถึงสาหร่ายและแพลงก์ตอนที่เกิดภายในบ่อก็ถือเป็นแหล่งอาหารให้แก่สัตว์น้ำทั้งหลายด้วย”
advertisement
ระบบปลอดสารพิษ เลี้ยงง่าย ดูแลง่าย
คุณสุรกิจบอกว่า พื้นที่ทั้งหมดของฟาร์มมีขนาด 60 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงระบบอินทรีย์ 30 ไร่ และอีก 30 ไร่ เป็นระบบ GAP สาเหตุที่ไม่ทำเป็นระบบอินทรีย์ทั้งหมดเนื่องจากพื้นที่ 30 ไร่ ส่วนหลังไม่ตรงตามข้อกำหนดมาตรฐานของใบรับรองระบบอินทรีย์ในเรื่องของสถานที่อยู่ในบริเวณห้องสุขาและที่อยู่อาศัย โดยระบบ GAP แบ่งเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำสองชนิดคือ ปูในกระชังและปลาไหลทะเล
“เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ในทะเลลดลงไปมากทำให้สัตว์น้ำที่ปล่อยเข้ามาน้อยลงเรื่อย ๆ ทางฟาร์มจึงแก้ปัญหาโดยการซื้อลูกพันธุ์มาเพาะเลี้ยงเอง ซึ่งลูกพันธุ์ที่ซื้อมาคือกุ้งกุลาดำและปูทะเลต้องได้มาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากกรมประมงด้วย หลังจากซื้อมาแล้วต้องทำการอนุบาลเป็นเวลา 1 เดือน ถึงจะสามารถปล่อยลงในบ่อเลี้ยงระบบอินทรีย์ได้”
การเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มระบบอินทรีย์ของฟาร์มนอกจากจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มกำไรยังสามารถดูแลได้ง่ายโดยการเตรียมระบบบ่อเลี้ยงและประตูน้ำให้ถูกต้องตามพื้นฐานในการเลี้ยงสัตว์น้ำ จากนั้นจึงปล่อยน้ำทะเลรวมไปถึงสัตว์น้ำต่าง ๆ ที่ปะปนมาด้วยเข้าบ่อ โดยการเปิดประตูน้ำจะทำในช่วงน้ำเกิดหรือน้ำทะเลขึ้นสูงสุดของทุกเดือน และระบายน้ำออกในเวลาน้ำลง ทางฟาร์มไม่มีการกักเก็บน้ำไว้นานเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย
คุณสุรกิจบอกอีกว่า หากน้ำทะเลเน่าเสียหรือมีน้ำมัน สารเคมีรั่วไหลในทะเลจะงดการเปิดประตูน้ำเด็ดขาดจนกว่าน้ำจะมีคุณภาพดีตามปกติ การตรวจดูน้ำเน่าเสียทำได้โดยการสังเกตนก ซึ่งหากน้ำเสียนกมักจะเกาะอยู่ตามบริเวณชายฝั่งป่าชายเลนเพื่อจิกกินสัตว์น้ำที่ลอยขึ้นมา และต้องคอยตรวจดูข่าวสารจากสำนักงานประมงจังหวัดซึ่งจะมีข่าวแจ้งอยู่ตลอดหากมีการตรวจพบสารพิษหรือมีเรือล่มกลางทะเล
“สัตว์น้ำของทางฟาร์มเป็นการเลี้ยงตามฤดูกาล แต่เมื่อเข้าช่วงฤดูร้อนจะมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องน้ำมีอุณภูมิสูงจนเกินไป ซึ่งตรงนี้ก็ต้องนำความรู้ในเรื่องการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ให้ได้ร่มเงาซึ่งเป็นข้อกำหนดหนึ่งในการเลี้ยงระบบอินทรีย์มาผสมผสานกับการใช้เครื่องตีน้ำมาช่วยให้น้ำมีการเคลื่อนตัวในช่วงเวลาที่ลมสงบ รวมไปถึงการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ ปด.1 และ พด.6 เข้ามาช่วยป้องกันปัญหาน้ำเสีย โดยให้สัปดาห์ละครั้งในปริมาณ 1 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ไร่”
พัฒนาการผลิตเพื่อรองรับขนาดตลาด
คุณสุรกิจบอกว่าทางฟาร์มจะทำการจับสัตว์น้ำขายอาทิตย์เว้นอาทิตย์โดยครั้งหนึ่งจับได้ประมาณ 300-400 กิโลกรัม มีส่งขายให้กับแพปลา ห้องเย็น ร้านอาหาร โรงแรม รวมไปถึงมีแม่ค้าคนกลางมารับซื้อถึงฟาร์ม สำหรับแพปลาจะรับสัตว์น้ำทุกชนิด และทุกขนาด ส่วนห้องเย็นจะมีการกำหนดขนาดและประเภท และร้านอาหารอย่างบลูอีเลฟเฟ่นหรือโรงแรมแมริออทจะส่งจะกรณีที่มีการจัดงานหรือกิจกรรมเท่านั้น
advertisement
“การผลิตของทางฟาร์มถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ตอนนี้จึงได้ร่วมกันคิดแก้ปัญหาถึงวิธีเพิ่มอัตราการรอดของสัตว์น้ำในบ่อรวมจาก 60 เปอร์เซ็นต์ เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงอินทรีย์ ต.แหลมฟ้าผ่า ขึ้นมาเพื่อรวมกลุ่มแนะแนวและเชิญนักวิชาการให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่ให้หันมาทำการเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์กันมากขึ้น โดยในปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 74 ฟาร์ม ซึ่งมีอยู่ 11 ฟาร์ม ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์แล้ว ส่วนฟาร์มที่เหลือนั้นเป็นการรับรองตามมาตรฐาน GAP แต่ฟาร์มสมาชิกทั้งหมดทำการประมงโดยการเลี้ยงแยกชนิดกันทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรในตำบลใกล้เคียงมาร่วมศีกษาด้วย”
นอกจากจะจำหน่ายอาหารทะเลสดแล้ว ทางฟาร์มยังได้มีการนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเช่น หอยจ๊อปู กุ้งเหยียด และปลาแดดเดียว เป็นต้น โดยการนำมาแปรรูปนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาสัตว์น้ำตกไซส์แล้วยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าด้วย เพราะเป็นสินค้าที่ปลอดสารพิษตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงจนถึงการแปรรูป โดยสินค้าแปรรูปเหล่านี้วางขายในร้านเลม่อนฟาร์ม เดลี่โฮม และทางฟาร์มได้มีการออกบูทจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าต่าง ๆ อีกด้วย
[ads]
“การเลี้ยงแบบอินทรีย์เป็นระบบที่ถือว่าดีกว่าการเลี้ยงเชิงพาณิชย์มาก เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารลงแล้ว ยังช่วยตัดค่าใช้จ่ายในเรื่องยาและสารเคมีออกไปเนื่องจากปัญหาเรื่องโรคระบาดและเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงเชิงพาณิชย์แทบไม่ปรากฏในระบบนี้เลย ซึ่งการเลี้ยงระบบอินทรีย์ยังเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อรองราคาสินค้าประมงของเกษตรกรกับร้านค้าหากเป็นการสั่งในกรณีพิเศษที่มีการกำหนดชนิดและขนาด ซึ่งการเพิ่มอำนาจการต่อรองนี้น่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิกในกลุ่มและเกษตรกรอื่น ๆ ปรับเปลี่ยนและหันมาทำการเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์กันมากขึ้น” คุณสุรกิจกล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : เกษตรกรก้าวหน้า