เลือดกำเดาไหล..สัญญาณบอกโรค!!
advertisement
โลกเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าทุกเวลานาที ความรู้ทางการแพทย์พัฒนาก้าวหน้าไกลรวดเร็วกว่าและทุกสาขาวิชาเช่นกัน รวมทั้งเทคโนโลยีและเครื่องมือแพทย์ทันสมัย ประสิทธิภาพสูง ตรวจวิเคราะห์โรคได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ นำมาซึ่งการรักษาที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูง
[ads]
อาการเลือดกำเดาไหลในเด็ก เป็นสภาวะพบบ่อย การให้เด็กพักและประคบน้ำแข็งจะพอเพียงหรือไม่? ควรสังเกตอาการ อื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่? เชิญท่านศึกษาจากบทความนี้
advertisement
เลือดกำเดาไหล เป็นภาวะที่พบบ่อยในเด็กเล็ก 2-3 ขวบไปจนถึงวัยประถมต้น มักมีอาการเลือดออกที่ไม่รุนแรง และเลือดมักหยุดได้เองภายใน 5-10 นาที หลังจากมีการบีบจมูกเบา ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการแคะ แกะ เกาบริเวณจมูกอย่างแรง จนทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณเยื่อบุจมูกแตกง่าย ซึ่งมักพบในช่วงฤดูหนาว หรืออากาศที่แห้ง หรือเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า หรือศีรษะ หรือ มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้จมูก เป็นต้น อาการดังกล่าวมักหายได้เองเมื่ออายุโตขึ้น แต่จะพบบ้างในเด็กบางคนที่มีรูปโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติ ซึ่งจะทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม เลือดกำเดาไหลอาจเป็นอาการของโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ปกครองควรทราบว่าเมื่อใดที่ลูกน้อยมีเลือดกำเดาไหลมากจนอาจเป็นอันตรายและควรพาไปพบแพทย์
อาการของเลือดกำเดาไหล มีลักษณะดังต่อไปนี้ ได้แก่
– เมื่อเลือดกำเดาไหลไม่หยุดนานเกิน 30 นาที ทั้งที่ใช้วิธีห้ามเลือดเบื้องต้นโดยการบีบจมูกแต่เลือดไม่หยุดไหล
– เมื่อมีเลือดกำเดาไหลนาน ร่วมกับที่ผิวหนังมีรอยเลือดออก เช่น มีพรายย้ำ จ้ำเขียว หรือ มีจุดแดงหรือจุดเลือดออกตามตัวร่วมด้วย
– เมื่อมีเลือดออกตามไรฟัน หรือลิ้นร่วมด้วย
– มีปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ หรืออุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอยหรือปนเลือดร่วมด้วย
– เมื่อเด็กมีไข้สูงร่วมด้วย- เมื่อเด็กมีอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง หรือซีดลง
advertisement
โดยปกติร่างกายของเราจะมีเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเลือดชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการป้องกันเลือดออกและช่วยในการหยุดของเลือดหากเกิดบาดแผล อาการเลือดกำเดาไหลจึงอาจเป็นอาการแสดงของโรคเลือดที่ทำให้เกล็ดเลือดลดจำนวนลงหรือทำงานผิดปกติ จึงทำให้มีเลือดออกง่ายจากเยื่อบุต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง
– โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เช่น โรควอนวิลล์แบรนด์ (von Willebrand disease – VWD) ซึ่งอาจมีประวัติเลือดออกง่ายหยุดยากในครอบครัว ร่วมด้วย
– โรคที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งทำให้เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำลง เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้าน ทานตนเอง (immune thrombocytopenia – ITP) ซึ่งเป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่พบบ่อยในเด็กภายหลังโรคติดเชื้อประมาณ 1-3 สัปดาห์ หรือหลังได้รับการฉีดวัคซีน โรคไขกระดูกฝ่อทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้อย่างพอเพียง ทำให้มีโลหิตจาง ติดเชื้อง่ายเนื่องจากมีเกล็ดเลือดขาวต่ำลง และเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแทรกซึมอยู่ในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดที่ปกติได้ลดลง
นอกจากนี้ในรายที่มีเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ และเป็นเวลานาน อาจทำให้เด็กเกิดภาวะซีดจากการสูญเสียเลือดเรื้อรัง จนเกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก สังเกตอาการง่าย ๆ หากเด็กมีอาการเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หรือ เหนื่อยง่าย ให้ผู้ปกครองรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด และรับยาธาตุเหล็กไปรับประทาน
advertisement
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากลูกน้อยมีเลือดกำเดาไหล ดังนี้
1. ให้เด็กนั่งตัวเอียงไปข้างหน้า และให้ศีรษะก้มลงเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลออกทางจมูกแทนที่จะไหลลงคอ ซึ่งอาจทำให้เด็กอาเจียนออกมาเป็นเลือดจากที่กลืนเข้าไป
2. ใช้มือบีบจมูกบริเวณปีกจมูก เบา ๆ ในข้างที่มีเลือดกำเดาไหล อย่างน้อย 10 นาที และหากเลือดยังไม่หยุดไหลนานเกิน 30 นาที ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์
[ads]
วิธีป้องกันมิให้มีเลือดกำเดาไหลทำได้ง่ายเบื้องต้น ดังนี้
1. ป้องกันมิให้บริเวณเยื่อบุจมูกแห้ง เพื่อไม่ให้คัน ลดการแคะจมูก โดยการใช้น้ำเกลือหยอดจมูก หรือทาวาสลินเคลือบในรู จมูกก่อนนอน
2. ดูแลอากาศในห้องนอน ไม่ให้แห้งเกินไป
3. การรับประทานผัก ผลไม้ หรือ วิตามินซี เพื่อช่วยให้หลอดเลือดฝอยในจมูกแข็งแรง เลือดกำเดาไหลออกน้อยลง
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : thaihealth.or.th, saowalak pisitpaiboon, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดารินทร์ ซอโสตถิกุล ฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย