เวียนศรีษะ..เกิดจากสาเหตุใด รับมือได้อย่างไร?
advertisement
อาการวิงเวียนศีรษะ มักเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภาพร่างกายอ่อนแอ หรือเผชิญกับสภาพอากาศ มลภาวะที่ไม่ดี อาการคือการมองเห็นภาพรอบตัวเองหมุนไปในทิศทางเดียวกัน โดยอาจจะเป็นการหมุนรอบตัวในแนวนอน แนวตั้งหรือตะแคง บางครั้งนั้นอาจจะรู้สึกว่าของรอบตัวเองหมุนเมื่อหลับตา ซึ่งอาจจะมีการเรียกกันว่า “บ้านหมุน” “เป็นลม” “หน้ามืด” “วิงเวียน” “มึนศีรษะ” หรือ “ตาลาย” ใครที่มีอาการเวียนศรีษะอยู่บ่อยครั้งห้ามพลาดค่ะ Kaijeaw.com มีสาเหตุและการรับมืออาการดังกล่าวอย่างได้ผล มาฝากกัน
อาการเวียนศีรษะ เกิดขึ้นได้อย่างไร
หูเป็นอวัยวะสำหรับการฟังและการทรงตัว แบ่งออกเป็น 3 ชั้น
หูชั้นนอก – เป็นรูหูเป็นช่องยาวถึงแก้วหู
หูชั้นกลาง – มีกระดูก 3 ชิ้น สำหรับส่งต่อเสียงเข้าหูชั้นใน นับตั้งแต่ด้านในของแก้วหูจนถึงช่องต่อหูชั้นใน
หูชั้นใน – อยู่ในกระดูกหลังใบหู มี 2 ส่วนที่สำคัญ คือท่อครึ่งวงกลม (semicircular canals) 3 อันที่ตั้งฉากกันหมด ร่วมกับกระเปาะด้านหน้า 2 อัน (utricle และ saccule) และอวัยวะรูปก้นหอย (cochlea) ทั้งสองส่วนภายในเป็นท่อที่มีน้ำอยู่ภายใน
[ads]
ท่อครึ่งวงกลมในหูชั้นใน (semicircular canal) เป็นอวัยวะสำหรับการรับรู้การ เคลื่อนไหวของศีรษะและลำตัวในแนวหมุนหรือโค้งไปมา โดยอาศัยการรับรู้จากการที่น้ำไหลผ่านเนินกั้นการไหลของน้ำที่เรียกว่า cupula หลังจากนั้นส่งสัญญาณประสาท ผ่านเส้นประสาทการทรงตัว (vestibular nerve)
กระเปาะยูตริเคิล (utricle) และแซคคูล (saccule) มีเซลล์ที่มีขนอยู่ภายในและมีฝุ่นหินปูน (otoconia) ติดอยู่ด้านบนขนของเซลล์อีกที เป็นส่วนที่รับความรู้สึกเคลื่อนไหวของร่างกายในแนวราบและแนวดิ่งอวัยวะรูปก้นหอย (cochlea) เป็นส่วนที่ต่อจากกระเปาะทั้งสองมีหน้าที่รับเสียง และส่งต่อเสียงผ่านเส้นประสาทเข้าสมอง
โดยปกตินั้นการไหลของน้ำในท่อครึ่งวงกลม มีความเร็วเท่ากันสองข้างเวลาศีรษะเคลื่อนไหว สมองจะรับรู้ปกติและไม่มีอาการเวียนศีรษะ แต่ถ้ามีการหมุนของน้ำภายในเร็วไม่เท่ากัน ระหว่างข้างขวาและข้างซ้าย หรือมีการอักเสบของเส้นประสาทการทรงตัว (vestibular nerve) ทำให้สมองรับสัญญาณจากหู 2 ข้างไม่เท่ากัน จึงเกิดอาการของการหมุนของสิ่งรอบตัวที่เรียกว่า “เวียนศีรษะ” หรือ “Vertigo”
อาการอื่นๆ ที่เกิดจากการเวียนศีรษะ หรือบ้านหมุน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอื่นๆ ตามมาได้ดังนี้
– คลื่นไส้ อาเจียน น้ำมูก น้ำตาไหล
– หน้าซีด
– ความดันสูงขึ้น
– ปวดมึนศีรษะ
advertisement
สาเหตุของการเวียนศีรษะ
1. โรคหูชั้นในผิดปกติ เช่น โรคเมเนียร์หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคหินปูนชั้นในหลุด หรือโรคบีพีวี (BPV /Benign paroxysmal positional vertigo) อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ บางรายอาจมีประวัติโรคทางหูหรืออุบัติเหตุมาก่อน อาการเป็นแบบหมุนหรือโคลงเคลง มักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย ขณะเกิดอาการผู้ป่วยจะต้องอยู่นิ่งๆ ถ้าเคลื่อนไหวศีรษะจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยอาการมักเกิดขึ้นขณะเปลี่ยนท่าทาง เช่น ลุกจากเตียง ล้มตัวลงนอน หรือตะแคงซ้าย ขวา บางรายมีอาการหูอื้อ หรือมีเสียงรบกวนในหูร่วมด้วย
2. การอักเสบติดเชื้อ เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบบ่อย โดยผู้ป่วยมักจะเป็นหวัดหรือระบบทางเดินหายใจอักเสบนำมาก่อน ถ้าเกิดว่าเชื้อลามเข้าหูชั้นในและเส้นประสาทจะเกิดการอักเสบ จะทำให้มีอาการเวียนศีรษะรุนแรง แต่การได้ยินปกติดี โดยมักจะมีอาการหลายวัน ส่วนการอักเสบของหูชั้นในที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการจะรุนแรงมากและอาจสูญเสียการได้ยิน พบในผู้ที่มีประวัติโรคการอักเสบของหูชั้นกลาง โรคหูน้ำหนวกที่โรคลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน
3. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดได้จากโรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิด สมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกในเนื้อสมอง พบมากในผู้สูงอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (ความดันสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ไขมันในเลือดสูง และหัวใจเต้นพลิ้ว) มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงขึ้น อาการคือเวียนศีรษะเป็นอยู่นานเป็นหลายนาที อาจจะนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนท่าทางและไม่เป็นพักๆ แนวทางการรักษานั้น หากสงสัยต้องถ่ายภาพสมองด้วยเครื่อง CT หรือ MRI ถึงจะวินิจฉัยได้แน่นอนการรักษาขึ้นกับสาเหตุว่าเป็นจากสมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมอง
advertisement
4. เกิดจากอุบัติเหตุ ที่ทำอันตรายต่อหูชั้นใน โดยเฉพาะอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะอย่างมากร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน บางรายสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย อาการจะเป็นนานหลายวัน จนถึงสัปดาห์ หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้น
5. โรคเนื้องอกเส้นประสาทการทรงตัว หรือเส้นประสาทการได้ยิน มักพบอาการเสื่อมการได้ยินร่วมกับอาการมึนเวียนศีรษะ อาจมีเสียงรบกวนในหู ในรายที่ก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น เกิดอัมพาตของใบหน้า เดินโซเซหรืออาการทางสมองอื่นๆ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดเส้นประสาท
6. โรคทางระบบประสาท มักมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น แขนขาอ่อนแรง ชารอบปากหรือแขนขา กลืนอาหารลำบาก พูดลำบาก เห็นภาพซ้อน
7. โรคภูมิแพ้ บางคนอาจเวียนศีรษะเมื่อได้รับสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ อาหารบางชนิด หรือเชื้อรา เป็นต้น
8. โรคไมเกรน (Migraine) โรคที่ทำให้ปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ บางรายมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย ไมเกรนบางคนมีอาการเวียนศีรษะ เป็นๆ หายๆ อย่างเดียวโดยไม่มีปวดศีรษะก็ได้ ซึ่งมักจะเกิดในคนอายุน้อยๆ ผู้หญิงพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย การเวียนศีรษะมักเป็นครั้งละ 2-3 นาที รายที่เป็นนานร่วม 30 นาทีหรือเป็นชั่วโมงพบได้น้อยมาก
การรักษาโรค
advertisement
แนวทางการรักษา เมื่อมีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง การรักษาต้องหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อเป็นการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ แต่หากไม่พบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน อาจรักษาโดยการบรรเทาหรือควบคุมอาการตามวิธีต่อไปนี้
1. รักษาตามอาการ โดยใช้ยารับประทานเพื่อระงับอาการเวียนศีรษะ หรือใช้ยารักษาเฉพาะโรค เช่น โรคเมเนียร์ เป็นต้น
2. การผ่าตัดในกรณีที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือกรณีที่มีสาเหตุจากเนื้องอกของเส้นประสาท
3. การบริหารร่างกายทั่วไป เช่น การออกกำลังกาย การเดิน หรือการเล่นกีฬาเบาๆ
[ads]
แนวทางการรับมือเมื่อมีปัญหาเวียนศีรษะ-บ้านหมุน
1. นอนพักผ่อน และหลับตา เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสมดุลได้อย่างเต็มที่
2. หยุดทำกิจกรรมทุกอย่างโดยทันที เพราะอาการนี้ถึงแม้จะไม่อันตราย แต่ก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
3. เคลื่อนไหวช้าๆ เมื่อรู้สึกวิงเวียนบ้านหมุน การขยับเขยื้อนอย่างรวดเร็วจะทำให้รู้สึกแย่ลง แต่การเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ จะทำให้รู้สึกดีขึ้น เช่น การก้าวเดินช้าๆ จะช่วยให้คุณโฟกัสได้ง่ายขึ้น และสมองไม่มึนงง บางคนอาจหยุดพักชั่วครู่ระหว่างเดิน ก็ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนได้ดี
4. ดื่มน้ำอุ่นๆ การดื่มน้ำจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ และช่วยไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพราะหากร่างกายขาดน้ำแล้วจะยิ่งทำให้เวียนศีรษะยิ่งกว่าเดิม
5. ควรหลีกเลี่ยงการมองขึ้นหรือมองลงนานๆ หรือรวดเร็วและรักษาระดับศีรษะให้ขนานกับพื้นเท่าที่จะทำได้
6. รับประทานยาในกลุ่มไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate) ซึ่งเป็นยาแก้เมารถ เมาเรือ จะช่วยให้อาการทุเลาไวขึ้น
advertisement
วิธีเคลื่อนไหวที่ช่วยรักษาอาการบ้านหมุนให้หายขาด
ท่าต่อไปนี้เป็นท่าที่นักกายภาพบำบัดใช้รักษาผู้ป่วย แต่คุณสามารถทำเองได้โดยไม่ยุ่งยาก
1. หันศีรษะ 45 องศาอย่างช้าๆ เริ่มต้นด้วยการตั้งศีรษะตรง และค่อยๆ หันศีรษะไปทางซ้าย 45 องศา จากนั้นค่อยๆ หันไปทางขวา ทำเช่นเดียวกัน
2. จากนั้นให้นอนหงายโดยเร็ว เพื่อให้ลำคอและไหลผ่อนคลาย เอียงศีรษะไปให้หูข้างที่ได้รับผลกระทบจากอาการวิงเวียนบ้านหมุน สัมผัสหมอนนาน 30 วินาที แล้วเอียงศีรษะอีกข้างให้หูสัมผัสหมอนนาน 30 วินาที
3. พลิกตัว จากนั้นพลิกตัวไปด้านเดียวกับศีรษะที่เอียงอยู่ แล้วอยู่ในท่าตะแคงนี้นาน 30 วินาที
4. ทำซ้ำ เริ่มทำจาก 1-3 วันละ 3 ครั้ง เพื่อให้หายขาดจากอาการวิงเวียนบ้านหมุน
อาการเวียนศรีษะและบ้านหมุนนั้น ไม่ใช่อาการที่สามารถป้องกันได้โดยเด็ดขาด เนื่องจากบางครั้งก็เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงทำได้เพียงการบรรเทาและดูแลตน เมื่อมีอาการ ทั้งนี้ก็ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่เครียด ส่วนคนที่มีปัญหาเวียนศรีษะอยู่บ่อยๆ ก็ควรพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดด้วยนะค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com