แบ่งบันไอเดียการสร้างบ้านไม้หลังน้อย ๆ (เฮือนโคราช) ด้วยงบประมาณราวๆ 7 แสนบาท
advertisement
วันนี้ไข่เจียวก็จะพาไปชมบ้านอีกเช่นเคยครับ วันนี้เป็นเป็นการแบ่งปันประสบการณ์สร้างบ้านไม้หลังน้อย ๆ ของคุณ Apple Devil สมาชิกเว็บไซต์พันทิป.คอม ที่สร้างไม้ทรงไทยโบราณ ด้วยงบราวๆ 7 แสนบาท เป็นบ้านที่สวยงามเลยทีเดียวครับ ว่าแล้วชมพร้อมกันเลยครับ
"เบ็ดเสร็จแล้ว บ้านผมใช้เวลาปรุงเฮือนราว 50 วัน งบประมาณทั้งสิ้นราว 7 แสนบาท จากแรงบันดาลใจของเฮือนนางเอื้อยและเฮือนนางสาหร่าย ผมเขียนแบบเอง (ในความควบคุมของคุณเพื่อนสถาปนิกและวิศวกร) คุมงานเอง ซื้อวัสดุเอง เหนื่อยมาก ๆ ครับ แต่ผมโชคดีที่ได้ช่างดี ลุงใช้ไม้ได้คุ้มค่ามาก โดยเฉพาะไม้กระดาน แกคำนวณทุกแผ่นว่าแผ่นนี้ต้องตัดตรงไหน เอาไปต่อตรงไหนได้ถึงจะคุ้มค่าที่สุด ตัดทิ้งน้อยมาก ส่วนที่ตัดทิ้งผมเอาไปทำม้ารองนั่ง ม้ารองตีน ม้ารองโอ่ง ชานพักเอาไว้ล้างเท้าตรงบันได ผมได้ทักษะการทำงานไม้มาบ้างนิดหน่อยจากลุง ๆ เหล่านี้ เหนื่อยแต่ก็สนุกมากครับ "
มาเริ่มกันเลยครับ
ผมเป็นคนชอบบ้านไม้ เกิดและอาศัยอยู่ในบ้านไม้เก่า ๆ ของตากับยาย พออายุเริ่มจำความได้ พ่อผมก็ซื้อบ้านเรือนไทยเก่ารื้อเอามาปลูกใหม่บนที่ดินของตนเอง ผมจึงมีความผูกพันกับบ้านไม้และบ้านไทยโบราณอยู่พอสมควร ตอนแรกผมก็คิดอยู่หลายวันว่าจะรีวิวบ้านดีไหม เพราะกลัวรับไม่ได้เหมือนกันที่จะมีคนมาบอกว่า “อยากอวดล่ะสิ” แต่อีกใจหนึ่งก็อยากจะให้เป็นประโยชน์กับคนชอบบ้านไม้ บ้านโบราณที่หลายคนคิดไปว่ามันไกลเกินเอื้อม ผมอยากจะอนุรักษ์บ้านไทย ๆ ที่เป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษเอาไว้ไม่ให้มันหายไปกับกาลเวลาและยุคสมัย ก่อนผมจะสร้างเฮือนหลังนี้เวลาคุยกับใครเขาก็จะหาว่าผมบ้าเหมือนกัน (ว่าจะทำได้ยังไง เงินมีแค่นี้) เมื่อทำสำเร็จแล้วก็ขอแบ่งประสบการณ์เล็ก ๆ ครับ และบทความนี้ “ยาว” มากครับ อาจจะต้องทนอ่านสักหน่อย
advertisement
โดยส่วนตัว ผมเป็นคนชอบวัฒนธรรมประเพณีทางภาคอีสาน อาจจะเป็นเพราะพ่อผมเปิดฟังเพลงแคนเพลงโปงลางกล่อมมาตั้งแต่เด็กหรือไม่ก็อ่านงานเขียนของอาจารย์คำพูน บุญทวีอย่าง “ลูกอีสาน” หรือ “นายฮ้อยทมิฬ” มากเกินไปก็เป็นได้ เมื่อโตขึ้นพอจะออกท่องเที่ยวคนเดียวได้ ผมจึงมักจะนั่งรถไฟหรือรถประจำทางไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคอีสานอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะปราสาทหินต่าง ๆ นี่ชอบไปมาก ๆ และถ้าได้ยินเสียงดนตรีอีสานมักจะทำให้ขนลุกซู่อยู่บ่อย ๆ
เรียนจบทำงานมีครอบครัวจนอายุล่วงเลยมาจนเข้าเลขสี่ ผมและภรรยาจึงอยากจะปลูกบ้านของตนเอง ภรรยามีที่ดินเล็ก ๆ อยู่ในอำเภอเล็ก ๆ เงียบสงบในต่างจังหวัดแห่งหนึ่งของภาคกลาง ในรั้วเดียวกันนั้นก็มีบ้านของคุณยายและบ้านป้า อีกทั้งมีเพื่อนบ้านรายล้อมไม่เงียบเหงานักตามวิถีสังคมชนบท ยามเช้าจะมีป้าคนหนึ่งต้อนวัวผ่านหน้าบ้านผมไปทุกวัน เป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากแล้วในสังคมเมือง
งบประมาณในตอนแรกก็ตั้งกันเอาไว้ที่ราว 5 แสนกว่า ๆ ถึงหกแสนบาท ผมหาแบบบ้านไทยอีสานจากอินเตอร์เน็ต ได้ที่ตรงใจตอนแรกมาสองแบบ คือแบบเรือนอีสาน และเรือนผู้ไท ราว ๆ เดือน พ.ย. ก่อนตกลงใจเลือกแบบผมเคยลองเอามาถามในห้องชายคาแห่งนี้ว่า ในงบประมาณนี้พอจะสร้างได้ไหม ก็มีความเห็นเพื่อนสมาชิกแตกออกเป็นสองเสียงคือ สร้างได้ และสร้างไม่ได้ เอาแล้วผมเริ่มจะเครียดแล้วครับ
แบบบ้านในใจที่เลือกไว้ตอนแรก แบบแรกนี่คือเรือนไทยอีสานได้ภาพมาจาก internet (ผมจำไม่ได้จริง ๆ ว่าจากเวบไซต์ใด ขออภัยท่านเจ้าของภาพด้วยครับ)
advertisement
แบบที่สองเรือนผู้ไท ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ชอบมากกว่าแบบแรก เพียงแต่กังวลเรื่องงบประมาณ (ภาพประกอบจาก http://e-shann.com/?p=12786)
advertisement
หลังจากนั้นผมกับภรรยาขับมอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวเขาใหญ่ ขากลับมาผมเจอร้านขายไม้เก่าอยู่ข้างทางอยู่หลายร้าน จึงลองขับมอเตอร์ไซค์เข้าไปถามดู สองร้านแรกไม่คุยกับผมเลย มองผ่าน ถามอะไรก็ไม่ตอบ ผมกับภรรยาจึงล่าถอยออกมาจนไปเจอร้านลุงคนนี้ ครอบครัวแกเป็นคนอุบลราชธานี เมื่อรู้อย่างนี้ ผมจึงลองส่งสำเนียงอีสานแปร่ง ๆ ของผม (ผมคือคนภาคกลางที่ชอบหัดพูดภาษาอีสาน) กลายเป็นว่าคุยถูกคอกัน ผมจึงสำรวจราคาไม้หลายอย่างจดเอาไว้ก่อนจะลากลับ
เมื่อกลับถึงบ้าน ผมเปิดอินเตอร์เน็ตลองสืบราคาไม้จากโรงเลื่อย (ไม้ใหม่) เปรียบเทียบกับไม้เก่าที่ผมได้ราคามา สรุปได้ว่าไม้เก่าที่ผมเล็งไว้มีราคาถูกกว่าราคาไม้ใหม่เฉลี่ยอยู่มากกว่า 50% แต่ต้องทำใจเรื่องตำหนิของไม้เก่าพวกรอยตะปู ความไม่เรียบร้อยอะไรบ้าง ผมบวกลบคูณหารในใจเบ็ดเสร็จแล้ว บ้านไม้อีสานของผม “มันเป็นไปได้ !!!”
ปลายเดือนพฤศจิกายน ระหว่างที่ผมอาบน้ำเตรียมเดินเข้าห้องนอนนั้น ที่บ้านแม่ยายผมเปิดละครเรื่อง “นาคี” ที่กำลังเล่นอยู่พอดี ฉากนั้นคือฉากเรือนที่กำนันแย้มจัดให้พ่อพระเอกอยู่ที่บ้านดอนไม้ป่า ผมกำลังจะเดินผ่านไปอยู่แล้ว แต่เมื่อเห็นฉากนั้น ผมถึงกับต้องเดินย้อนกลับมาดูจริง ๆ จัง ๆ เฮ้ย บ้านหลังนี้ถูกชะตามาก ๆ มันเหมือนรักแรกพบอย่างไรไม่รู้
ฉากนี้ครับ โดนใจสุด ๆ
advertisement
คืนนั้นผมเปิดโน๊ตบุ๊คหาข้อมูลบ้านหลังนั้นทั้งคืน (จริง ๆ ไม่ได้นอนเลย) ได้ข้อมูลมาว่า บ้านหลังนี้ชื่อ “เฮือนนางเอื้อย” แถมยังได้ภาพบ้านของ “คำแก้ว” มาอีกหลังซึ่งเป็นเรือนโคราชเหมือนกัน (เฮือนนางสาหร่าย) เป็นบ้านอีสานโบราณที่ไร่จิมทอมป์สันฟาร์มอนุรักษ์เอาไว้ที่ไร่ในอำเภอปักธงชัย จ.นครราชสีมา นี่คือโจทย์ข้อใหม่สำหรับบ้านผม
เฮือนนางเอื้อย (เครดิตผู้ถ่ายภาพอยู่ที่ภาพครับ ขอบคุณมาก ๆ)
advertisement
อันนี้บ้านคำแก้วนางเอกของผม เฮือนนางสาหร่าย
advertisement
ผมจึงเริ่มเจาะข้อมูลลึกลงไปในรายละเอียดของเฮือน ทั้งภาพทั้งเอกสารประกอบต่าง ๆ ได้มาเต็มไปหมด ผมสรุปข้อมูลเกี่ยวกับเรือนโคราชออกมาได้ดังนี้ (หากผิดพลาดต้องขออภัยและรบกวนผู้รู้ได้เสริมให้ด้วยนะครับ ผมเขียนตามข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้)
ข้อมูลและภาพจากเอกสารสถานภาพการคงอยู่ของเรือนโคราชในจังหวัดนครราชสีมา (เอกสารตัวเต็มอ่านที่นี่ครับ https://mekongjournal.kku.ac.th/Vol11/Issue01/06.pdf )
advertisement
เรือนโคราชคือเรือนไทยอีสานที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างเรือนไทยภาคกลางกับเรือนไทยภาคอีสาน เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงใต้ถุนโล่ง หลังคาทรงจั่วทำมุมประมาณ 40 องศา มีป้านลมและจั่วนิยมตกแต่งเป็นลวดลายการเข้าไม้ การแกะสลัก ตัวเรือนมีวิธีการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปเหมือนเรือนไทยภาคกลาง (ที่ทำฝาเรือนเป็นกระแบะมีหน้าต่างมาพร้อมแล้วยกมาแปะเลย) โครงสร้างระบบเสา-คาน แต่จัดวางรูปแบบของเรือนเหมือนเรือนไทยอีสานทั่วไป แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 4 ส่วนคือ เรือนนอนเป็นเรือนอยู่ระดับสูงสุด ระเบียง (โคราชเรียกว่าพะระเบียง ถ้าเป็นเรือนอีสานจะเรียกส่วนนี้ว่า “เกย” เป็นเรือนที่อยู่ถัดลงมามีหลังคาลาดเอียงคลุม) มีนอกชานหรือชานแดด เป็นส่วนที่ต่ำที่สุดไม่มีหลังคาคลุม และครัว พื้นที่ใช้สอยให้ความสำคัญกับเรือนนอนเป็นหลัก ส่วนพะระเบียง นั้นเอาไว้พักผ่อน หรือต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยียน ส่วนชานแดดเป็นส่วนต่ำสุด จึงสามารถนั่งห้อยขาที่พะระเบียงได้คล้ายนั่งเก้าอี้
ตัวเรือนนิยมวางตัวเรือนล่องตะเว็น (ตามตะวัน) คือหันด้านยาวของหลังคาทางทิศตะวันตก-ตะวันออก ให้ตัวเรือนนอนหัวลงทางด้านทิศใต้เพื่อรับลม ลักษณะของเรือนจะเป็นเรือนสามห้อง (เสา 4 ต้น สามช่วงเสา) มีด้านกว้างห้องละ 2.5 เมตร ด้านยาว 3.8 เมตร สูงประมาณ 2.8 เมตร การที่หันเรือนนอนลงทิศใต้ ทำให้คนโคราชเรียกทิศใต้ว่า “ทิศหัวนอน” เรือนจะมีหน้าต่าง 3 บาน ประตู 1 บาน (นั่นหมายความว่า เรือนโคราชจริง ๆ นั่น เรือนนอนจะเป็นห้องเดียว) ช่วงระดับจากเรือนนอนลงสู่พะระเบียง (เกย) จะสูงถึงประมาณ 80 cm ทำให้ต้องมีไม้มารองแทนบันไดอีก 1 ขั้น เรียกว่า “ม้ารองตีน” ตรงช่วงต่างระดับของเรือนนี้ ถ้าภาคกลางจะเรียกว่า “ช่องแมวลอด” (ไม่รู้ว่าเรียกเหมือนกันหรือเปล่า) จุดประสงค์คือต้องการให้ลมพัดผ่านเข้ามาได้เพื่อระบายอากาศ เรือนโคราชจึงน่าจะจัดเป็น “บ้านเย็น” ของคนไทโคราช
ฝาเรือนจะมีสองลักษณะคือ ฝาปรือและฝากระดาน ฝาปรือคือฝาที่ใช้วัสดุธรรมชาติจำพวกต้นปรือ (ต้นกกผือ) มาทำ อันนี้ผมขอข้ามไปเพราะเดี๋ยวจะยาว ส่วนฝาไม้กระดานจะใช้เคร่าตั้งด้านในตีฝากระดานแนวนอนซ้อนเกล็ดด้านนอกแบ่งเป็นกระทงเท่า ๆ กัน
เรือนฝาปรือ (ต้นฉบับภาพ http://www.manager.co.th/Celebonline/ViewNews.aspx?NewsID=9540000129137)
เรือนฝาไม้กระดาน สังเกตตรงจะมีการตีไม้แบ่งเป็นช่องขนาดเท่า ๆ กัน ตีไม้ฝาซ้อนเกล็ดลงไป บางบ้านอาจทำไม้ลูกฟักใส่อย่างในภาพ
advertisement
นั่นคือทฤษฎีของเรือนโคราชที่ผมหามาได้ครับ
ผมเองเมื่อทราบข้อมูลดังนี้ ผมแทบอยากจะให้ทุกส่วนของบ้านผมมันเป็นไม้ไปซะหมด แต่เงินผมไม่พอแน่ ๆ ผมจึงต้องเปลี่ยนวัสดุไปบางอย่างและเปลี่ยนแปลนภายในนิดหน่อยให้เหมาะสมกับชีวิตปัจจุบัน แต่หลัก ๆ ของผมคือต้องคงรูปแบบของเรือนโคราชไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เริ่มศึกษาโครงสร้างเฮือนนางเอื้อยและเฮือนนางสาหร่าย นี่คือเรือนที่เป็นต้นแบบแรงบันดาลใจของผม
เฮือนนางเอื้อยของไร่จิมทอมป์สันนั้น เป็นเรือนโคราช แต่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมและรูปแบบของช่างทางภาคอีสานอยู่มากกล่าวคือ เรือนนางเอื้อยนั้นหากมองจั่วและหลังคาจะไม่เหมือนเรือนโคราชหลังอื่น ๆ เพราะจั่วเฮือนนางเอื้อยทำมุมที่ประมาณ 35 องศา (จากการคะเนด้วยสายตา) เหมือนเรือนไทยภาคอีสานทั่วไป ผมเลือกเฮือนนางเอื้อยเป็นโครงสร้างหลัก เพราะมีแค่จั่วเดียว หากผมเลือกแบบเฮือนนางสาหร่ายซึ่งมีถึง 4 จั่วแล้วล่ะก็ คงต้องใช้เงินมากกว่านี้อีก 4 เท่าตัว ซึ่งผมไม่มีเสียด้วย
สมัยเรียน ปวช.ผมเคยเรียนเขียนแบบมาบ้าง จึงลองถอดโครงสร้างเฮือนนางเอื้อยออกมาจากภาพมากมายที่มีผู้โพสต์เอาไว้บนอินเตอร์เน็ต จากคนไม่เคยดูละคร ตอนนี้ผมต้องเปิดโน๊ตบุ๊คสองตัว ตัวแรกเปิด “นาคี” ดูวนไปวนมาทั้ง 11 ตอน อีกตัวหนึ่งเอาไว้ค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ผมเขียนแบบบ้านหลังนี้และนอนไม่หลับอยู่หลายวัน โดยผมยึดรูปแบบการวางแปลนของเรือนโคราชและเฮือนนางเอื้อยเป็นหลัก แต่รูปแบบจั่วและระเบียงรวมไปถึงบันได ถอดเอาเฮือนนางสาหร่ายมาใช้ เพิ่มหน้าต่างเป็น 8 บาน (เรือนดั้งเดิมมีเพียง 4 บาน) ในครัวมีหน้าต่างอีก 2 บาน วัสดุทำเสาผมเปลี่ยนจากเสาไม้กลมเป็นเสาไม้เหลี่ยมขนาด 6 นิ้ว เสาล่างผมเปลี่ยนจากเสาไม้เป็นเสาปูนสำเร็จขนาด 7×7 นิ้ว ซึ่งประหยัดเงินกว่าเสาไม้กลมมาก
ตอนเขียนแบบบ้าน ผมไม่เคยไปดูเฮือนนางเอื้อยหลังจริงเลยสักครั้ง ผมใช้วิธีดูจากละครบ้าง ดูจากภาพถ่ายบ้าง โทรศัพท์ไปถามโครงสร้างบ้านเรือนไทยของพ่อผมบ้าง ก็ออกมาสำเร็จเป็นแปลนเรียบร้อย จากนั้นส่งแปลนนี้ไปให้เพื่อนที่เป็นสถาปนิกดูให้ว่ามันโอเคหรือเปล่า เมื่อเพื่อนบอกว่าโอเค จึงส่งไปให้เพื่อนอีกคนที่เป็นวิศวกรที่ขอนแก่นคำนวณโครงสร้าง เพื่อนก็คำนวณเสร็จสรรพส่งกลับมาทางไลน์เรียบร้อย
ตัวอย่างสเปคที่คุณเพื่อนส่งกลับมาทางไลน์ เขียนกันแบบบ้าน ๆ เลย
advertisement
เอาล่ะ ผมจะเริ่มประเมินงบประมาณแล้ว
เพื่อความชัวร์อย่างที่สุดเพราะเงินน้อย ผมใช้ความรู้ด้านการทำโมเดลของตัวเอง (ผมเล่นโมเดล ชุดประกอบพลาสติกจำลอง) ทำการถอดสเกลบ้านในกระดาษออกมาเป็นโมเดลในมาตราส่วน 1/50 โดยใช้ไม้บัลซ่า ผมต้องการทราบจำนวนไม้และวัสดุหลัก ๆ ว่าจะใช้เท่าไหร่และเงินผมจะพอหรือไม่ ไม่น่าเชื่อว่าจากการทำโมเดลของผมในครั้งนี้ ผมคำนวณไม้กระดานปูพื้นผิดพลาดขาดไปแค่ 6 แผ่นเท่านั้น นอกนั้นใกล้เคียงทั้งหมด
ช่างผู้สร้างงาน
ช่างที่จะมาสร้างบ้านให้ผม ขอบอกเลยว่าหายากหาเย็นยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร ยิ่งเมื่อเจอแบบบ้านของผมเข้าไป หลายเจ้าเรียกค่าแรงสูงเกินที่ผมจะจ่ายได้ (สูงเกือบสองเท่าของที่ประมาณไว้) แต่ก็โชคดีที่ลุงของภรรยาผมแกเป็นช่างทำบ้านไม้ ผมจึงเข้าไปคุยกับแกพร้อมแบบบ้าน สุดท้ายแกก็รับสร้างบ้านให้ในราคาที่ต่ำกว่างบประมาณที่ผมคิดไว้นิดหน่อย (ตกตารางเมตรละประมาณ 1900 ผมประมาณไว้ที่ 2500) ซึ่งแกบอกว่าถ้าไม่ติดที่จะต้องจ่ายค่าแรงลูกน้อง แกจะคิดราคาผมน้อยกว่านี้อีก แต่ด้วยค่าตัวลูกน้องแกไม่ธรรมดา เพราะแต่ละคนคือช่างไม้อาชีพ ประสบการณ์สูง ลุงต้องจ่ายค่าแรงแต่ละคนตกคนละ 5-700 บาทต่อวัน ขอบข่ายของงานคือ ทำทุกอย่างจนเสร็จตั้งแต่เรือน พื้นปูน รั้วบ้าน ประตูบ้าน ฯลฯ เยอะมากครับ
คำแนะนำสำหรับท่านที่ไม่มีช่างที่ไว้ใจได้ในใจ ให้ลองไปดูเนื้องานที่เขาทำจากบ้านหลังก่อน ๆ ครับ พอเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจได้
เริ่มสร้างเฮือน
เมื่อแบบลงตัวแล้ว ถึงเวลาไปเลือกไม้ที่ร้าน ร้านจัดไม้กระดานให้ผมคิดเป็นตารางเมตร ตารางเมตรละ 1 พันบาท ประกอบไปด้วยไม้เก่าเนื้อแข็งสารพัดชนิด (ส่วนใหญ่จะเป็นไม้เต็ง) ความหนาของไม้ที่ร้านจัดให้หน้า 8 นิ้ว หนาถึง 1.8-2.2 นิ้ว ซึ่งอดีตไม้เก่ากองนี้เคยเป็นคาน เป็นตงมาก่อนแทบทั้งสิ้น ร้านบอกว่ากองนี้มีคนจะมาขอซื้อหลายคนแล้ว แต่ติดที่ผมจองไว้ก่อน จัดว่าโชคดีมาก ๆ ที่เจอ
advertisement
.
ผมเลือกวางเรือนที่ขัดกับความเชื่อโบราณของชาวโคราช คือชาวโคราชวางเรือนตามตะวัน (วางหลังคาด้านยาวทางทิศตะวันตก-ตะวันออก) แต่ผมหันเรือนขวางตะวัน เพราะทิศตะวันตกนั้นมีบ้านเพื่อนบ้านอยู่ (ห่างกันราว 5 เมตร ยามบ่ายนี่บังแดดได้ระดับหนึ่ง) ทำให้เรือนนอนของผมหันไปทางทิศตะวันตก เมื่อยามบ่าย หลังคาเรือนนอนของผมจะบังแสงแดดให้ความร่มเงาแก่ “เกย” และ “ชานแดด” ทำให้ตอนบ่ายถึงค่ำชานแดดสามารถนั่งเล่นนอนเล่นได้สบาย แต่ถ้าวางตามแบบโบราณของชาวโคราช (ชานแดดจะอยู่ทิศเหนือ) ยามบ่าย ๆ ชานแดดจะโดนแดดเข้าไปเต็ม ๆ ซึ่งร้อนกว่า และถึงแม้เรือนนอนจะหันไปทางทิศตะวันตกก็ไม่สร้างความร้อนให้บ้านแต่อย่างใด เพราะไม้เป็นตัวกลางนำความร้อนที่ไม่ดีนั่นเอง
บันไดขึ้นเฮือนผมย้ายตำแหน่งจากบันไดเดิมของเฮือนนางเอื้อย เนื่องจากหากผมวางเรือนตามแบบที่ต้องการ บันไดผมจะเดินขึ้นเรือนทางทิศตะวันตก ซึ่งลุงเตือนว่าไม่ดี ให้ผมย้ายใหม่ ผมจึงเอาบันไดไว้ทางทิศเหนือ ซึ่งจะเดินขึ้นเรือนทางทิศใต้ ส่วนบันไดเล็กอีกด้านหนึ่งนั้น เดินขึ้นเรือนทางทิศตะวันออก และที่สำคัญ ผมเลือกที่จะเพิ่ม “ฮ้านแอ่งน้ำ” คือร้านหม้อน้ำที่เอาไว้หม้อดินเผาใส่น้ำดื่มซึ่งเอกลักษณ์ที่พบเห็นในเรือนไทยอีสานที่ระเบียงของชานแดดด้วย
เมื่อทีมงานตีผังเรียบร้อย ลุงแกก็จ้างช่างมาขุดหลุมให้ (ทีมช่างไม้ไม่ขุดเอง 555) ซึ่งลุงแกจ่ายเงินเอง เพื่อประหยัดแรงคนแก่ ใช้เวลาสองวันก็ขุดหลุมเรียบร้อย พร้อมสำหรับพิธีลงเสาเอก ป้าภรรยาผมไปถามหลวงพ่อที่วัดใกล้บ้านเรื่องฤกษ์ยาม หลวงพ่อบอกว่า สะดวกวันไหนก็วันนั้นแหละลงได้เลย จบไปสำหรับบริการให้คำปรึกษาฟรีจากทางวัด อิอิ ตอนลงเสาเอกนั้นก็กลางเดือนมีนาคม ผมเลยเลือกวันศุกร์ซะเลย เพราะจะได้ลางานและยาวต่อไปเสาร์-อาทิตย์
บ้านผมไม่ได้ตอกเสาเข็ม แต่ทำฟุตติ้ง เพราะบ้านเรือนละแวกนี้ก็ไม่มีใครลงเสาเข็มกัน บ้านป้าบ้านยายที่อยู่ในรั้วเดียวกันปลูกมา 50 ปีแล้วก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะทรุดแต่อย่างใด เสาเรือนเป็นเสาปูนสำเร็จสั่งหล่อใหม่มาจากโรงหล่อขนาด 7 นิ้ว บากตามตำแหน่งที่กำหนดให้ไป ไม้คาน (เส) ร้านจัดไม้ขนาด 2×8 นิ้วมาให้ผม (ได้ราคามาศอกละ 170 บ. ต่อราคาแล้วเหลือศอกละ 150 บ. เป็นไม้เต็ง) ตัดมาตามขนาดที่ผมกำหนดไป (แต่ร้านก็จะเผื่อมาให้ราว 30-50 ซม.ต่อตัว) ส่วนตงเป็นไม้เต็งขนาด 1.5×6 นิ้ว ศอกละ 100 บ. ผมต่อราคาเหลือศอกละ 70 บ. เสาไม้เต็งหน้า 6 ศอกละ 250 บ. หน้า 5 ราคา 150 บ. ส่วนหน้า 4 ที่เอามาทำเสาครัวและเสาระเบียงนั้น ผมหักคอมาที่ศอกละ 100 บ.
พูดถึงความสูงของเรือน เรือนโคราชโดยทั่วไปจะมีความสูงของเรือนไม่มากนักแค่พอเดินลอดได้คือจะสูงประมาณ 2.10 เมตร แล้วลดระดับลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เรือนนอนจนถึงชานแดด เพราะในจังหวัดนครราชสีมานั้นเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีอากาศที่หนาวจัด เรือนที่มีความสุงไม่มากจะได้ไม่ต้องปะทะลมแรง ๆ นั่นเอง ส่วนที่ต่ำที่สุดคือใต้ถุนชานแดดนั้นปกติไม่ใช้อยู่อาศัยแต่จะเอาไว้เก็บของจำพวกฟืนหรือเครื่องมือในการทำมาหากิน แต่เรือนของผมนั้นอยู่ในพื้นที่มีประวัติน้ำท่วมถึง (ถึงจะนาน ๆ ท่วมสักครั้งแต่ก็ควรจะเผื่อเอาไว้ก่อน) เรือนนอนของผมจึงมีความสูงจากพื้นถึงคานที่ 270 cm ลดระดับลงมาชั้นละ 40 cm พะระเบียงจึงมีความสูง 230 cm และชานแดดสูง 190 cm[ads]
ทำฝาสำเร็จ
ย้อนอดีตไปเดือนมกราคม เมื่อแบบบ้านลงตัว ผมก็ต้องหาช่างทำฝาเรือน ซึ่งฝาเรือนผมดันเป็นฝาเรือนโคราชซึ่งช่างที่ทำบ้านเรือนไทยบางแห่งก็ไม่รับทำ บางที่รับทำก็ราคาสูงมาก ร้านไม้ที่ผมซื้อจึงแนะนำญาติมาให้ เป็นช่างไม้ฝีมือดีที่แฝงตัวอยู่ในสวนในจังหวัดสระบุรีไม่ค่อยออกไปไหน ผมจึงเอาแบบฝาเรือนบุกไปหาแกถึงที่ แกก็รับทำให้ รวมแล้วฝาเรือนทั้งสิ้น 6 กระแบะพร้อมหน้าต่าง (ฝาด้านสกัด 2 กระแบะ ฝาเรือนเกย 2 กระแบะ และฝาห้องหลังเรือนห้องละ 2.5 เมตร อีกสองกระแบะ ช่องว่างอีกห้องเอาไว้ทำห้องน้ำ) ฝาเฮือนโคราชจะแบ่งเป็นช่องตีฝาซ้อนเกล็ดกันลงมา ส่วนผมทำรูปแบบฝาเข้าลิ่มดูคล้าย ๆ กัน (แต่ไม่เหมือน) เพราะไม่อยากให้มีช่องว่างของไม้ระหว่างช่องจังหวะของฝาเรือนมากเกินไป วัสดุก็ซื้อไม้เก่าจากร้านส่งไปให้ลุงแกทำ ไม้ที่ส่งไปทำฝาก็คือฝาไม้เก่า ก็มีสารพัดชนิด มีไม้ยาง มะค่า เต็ง ไม้สัก ตะเคียน (สังเกตตอนฝาเสร็จ ลายไม้ไม่เหมือนกันเลย) ร้านบริการขนส่งฝาเรือนผมพร้อมไม้ทั้งหมดไปยังสถานที่ก่อสร้างฟรี รวมค่าไม้และค่าแรงทำฝาสำเร็จทั้ง 6 กระแบะอยู่ราว ๆ หนึ่งแสนสองหมื่นบาทครับ และก็ไม่รู้จะเรียกฝาเรือนของตัวเองว่าฝาอะไรดี เรียกว่าฝาซ้อนเกล็ดล่ะกัน
.
ไม้ทำลูกฟัก
รีดไม้ฝาทีละแผ่น
ช่างกำลังประกอบฝาเรือน
หน้าต่างของเรือนโคราชเท่าที่ผมสังเกตเห็นมีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบบ้านคู่เปิดออกนอกตัวบ้าน และบานเดี่ยวแบบเปิดเข้าในตัวบ้าน แบบเฮือนนางเอื้อยและเฮือนนางสาหร่ายเป็นแบบบานเดี่ยวเปิดเข้าซึ่งเป็นรูปแบบที่ผมชอบ เพียงแต่ว่าเรือนโคราชไม่มีกันสาดเหมือนเรือนไทยภาคกลาง ช่างทำฝาเรือนของผมให้แง่คิดว่า หากทำเหมือนแบบโบราณเป๊ะ ๆ อาจจะเกิดปัญหาน้ำฝนสาดเข้าก็ได้เพราะสมัยนี้ฝนฟ้าแรง ช่างเลยออกแบบหน้าต่างให้ผมใหม่เป็นแบบบานเดี่ยวเปิดออกนอกตัวบ้าน มีบังใบซ่อนอยู่ภายในเพื่อกันน้ำฝนซึม เมื่อปิดหน้าต่างสนิทแล้วก็จะดูคล้าย ๆ กับฝาเรือนโบราณเหมือนกัน ผมทำสลักไม้จำลอง 4 ชิ้นติดไว้ที่ขอบบนล่างของหน้าต่างคล้ายของเฮือนนางสาหร่าย
ภาพบนหน้าต่างเฮือนนางสาหร่าย (เครดิตภาพคุณ Mutcha_nu ผมได้จากอินเตอร์เน็ตมาครับ)
ภาพล่างหน้าต่างเรือนของผม
.
ทำไมผมจึงเลือกซื้อไม้จากร้านเดียว เพราะเรื่องความสะดวกในการขนส่งครับ ผมมีแต่มอเตอร์ไซค์กับรถเก๋งแก่ ๆ อีก 1 คัน ไม่สามารถขนไม้ด้วยตนเองได้ ระยะทางจากร้านไม้มาบ้านก็ห่างกันราว ๆ 130 กม. หากเช่ารถหกล้อเพื่อขนส่งก็จะเสียค่าใช้จ่ายตกประมาณ 8,000-10,000 บาทต่อคัน เมื่อผมซื้อไม้ทั้งหมดจากร้านเดียว (รวมฝาสำเร็จด้วย) ร้านบริการขนส่งให้ผมฟรีใช้รถหกล้อ 2 คัน ทำให้ผมสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปเกือบ ๆ สองหมื่นบาทครับ ทีนี้ ด้วยความที่ผมนอบน้อมเอามาก ๆ แถมกระแดะพูดภาษาอีสานกับเจ้าของร้านอีก ผมได้ไม้แถมมามากมายหลายชิ้นเลย
กลางเดือนมีนาคม ฝาสำเร็จของเฮือนก็เสร็จเรียบร้อยพร้อมขนย้ายมาส่งพร้อมไม้กระดานและไม้อื่น ๆ ของเรือน ฝาแต่ละกระแบะหนักตั้งแต่ 180-250 กิโลกรัม ต้องยกกันหลายคนเล่นเอาหมดแรง แต่เห็นฝาเรือนมาถึงบ้านก็หายเหนื่อย
.
ทีมลุงก็จัดการลงเสาเรียบร้อย ลุงช่างที่อาวุโสที่สุด จะเป็นคนปรับไม้เก่าทั้งหมดด้วยกบไสไม้ 5 นิ้วมากิต้าอายุ 30 ปีของแก แกปรับไม้ทุกแผ่น เสาทุกต้น ไม้ที่ผมเอามาก็แข็งซะจนแกต้องลับใบกบบ่อย ๆ ผมเลยไปซื้อใบกบมาให้แกอีกหนึ่งชุดเพื่อที่แกจะได้เหนื่อยน้อยลง ถึงกระนั้นก็ไสไม้ได้ไม่เกิน 4 แผ่น ต้องลับกบกันอีกแล้ว
การวางตำแหน่งของเรือนแต่ละหลังนั้น ระยะการยกระดับผมคะเนด้วยสายตาดูเฮือนนางเอื้อยแล้ว ก็ไม่ได้ยกสูงถึง 80 cm ตามตำราเฮือนโคราชทั่วไป แต่ดูแล้วเฮือนนางเอื้อยต่างระดับกันแค่ 40 cm เท่านั้นเอง ผมเลยเอาระดับความสูงนี้แหละ (กำลังพอดี) เมื่อถอดแบบออกมาแล้วถือว่าใกล้เคียงกับภาพถ่ายมาก ๆ
โครงหลังคานั้น ผมเปลี่ยนวัสดุจากไม้มาเป็นเหล็ก เพราะไม้เนื้อแข็งหน้า 4 ที่จะเอามาทำจันทันนั้น ราคาค่อนข้างสูงมาก ครั้นจะเอาไม้ยางก็เกรงจะไม่แข็งแรงในระยะยาว ไม้เก่าที่ร้านไม้ก็ไม่มี วิศวกรเพื่อนผมจึงเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาจากไม้ให้เป็นเหล็กทั้งหมด โดยอกไก่ ดั้ง เสและอะเสเป็นเหล็กกล่อง 2×5 นิ้ว จันทันเป็นตัว C ขนาด 4 นิ้ว วางระยะห่างที่ 1.25 เมตร ตรงชายคาหน้าจั่วเป็น C 3 นิ้ว เหล็กทุกตัวหนา 2.3 ทั้งหมด รองพื้นด้วยสีกันสนิม TOA หลังคาเปลี่ยนจากแป้นเกล็ดไม้มาเป็นเมทัลชีทลอนสเปนแทน ซึ่งทีมลุงช่างก็จ้างช่างเหล็กมาทำโครงหลังคาโดยเฉพาะเช่นกัน (แกจ่ายเงินเองเช่นเคย) เพราะแกไม่ชำนาญงานเชื่อมเหล็กบนหลังคา เอามืออาชีพดีกว่า (แกว่าอย่างนั้นนะครับ) จริง ๆ ผมว่าแกทำได้แหละ แต่ทีมงานอายุเยอะ คงกลัวทำงานบนที่สูงแล้วพลาด แกบ่นอุบที่ว่าช่างเหล็กทำงานหลายวันจังถ้าเป็นไม้ล่ะก็ลุงทำเสร็จไปนานแล้ว แป ผมใช้แปสำเร็จความหนา 0.60 วางระยะแปที่ 50 cm ราคาตัวละ 79 บาท ซึ่งพอวางเสร็จช่างขึ้นไปปูหลังคาเดินเหยียบได้ ไม่มียวบแต่อย่างใด ส่วนจั่วหรือหน้าบันนั้นก็ใช้ฝาไม้จริงจำลองจั่วของเฮือนคำแก้ว (เฮือนนางสาหร่าย) ซึ่งเป็นลักษณะตีซ้อนเกล็ดมาใส่ไว้ซะเลย มองภายนอกจะเหมือนบ้านผมมีจั่วคล้ายของโบราณอยู่เหมือนกัน (ผมว่าเหมือนนะ) ยกไก่ยาวตลอดหลังที่ระยะ 9 เมตรพอดีเป๊ะ (กำหนดขนาดตามเมทัลชีต) ได้ชายคาหน้าจั่วยื่นออกไปด้านละ 75 cm พอดี ส่วนโครงหลังคาครัวใช้ไม้จริง ซึ่งเป็นไม้เต็งหน้า 3 ทั้งหมดครับ ราคาเมตรละ 30 บาท ประหยัดไปได้หน่อย
ป้านลม (บางที่ก็เรียก “ปั้นลม”) และเชิงชายนั้น ใช้เชิงชายไม้เทียม Dura หน้า 8 นิ้วและซ้อนด้วยไม้ระแนงขนาด 3 นิ้ว เอาให้เหมือนเฮือนตัวอย่าง ทาสีด้วยสีน้ำเบเยอร์คูลซะเลย รับประกัน 7 ปี ดูซิจะอยู่ได้ถึงไหม 555
เมื่อโครงหลังคาเรียบร้อย ก็ได้เวลายกฝาเรือนขึ้นติดตั้ง ก่อนจะติดตั้งฝาเรือนได้ ต้องติดตั้ง “พรึง” เสียก่อน พรึงคือไม้คานรองฝาเรือน เฮือนโคราชนั้นมีเอกลักษณ์อีกอย่างตรงชายพรึงที่ยื่นเกินตัวบ้านออกไปนั่นจะปล่อยไว้ไม่ตัดออก เรือนของผมก็เช่นกัน ผมปล่อยชายพรึงยาวไว้อย่างนั้น จากนั้นก็ชักรอกฝาขึ้นไปติดตั้งทีละฝา ตอนแรกสุดนั้นประเมินกันเอาไว้ว่าฝาเรือนเนี๊ยะคงใช้เวลาติดตั้งราว 3 วัน เพราะทั้งใหญ่ทั้งหนัก แต่เอาเข้าจริง ฝาเรือนทั้ง 6 กระแบะติดตั้งเสร็จในวันเดียวเท่านั้น การติดตั้งฝาเรือนนั้นต้องทำก่อนมุงหลังคาครับ
ครัว
เฮือนนางเอื้อยมีลักษณะเด่นอีกอย่างตรงมี “เสวียน” หรือ “แกระ” มันคือยุ้งข้าวขนาดเล็กที่เชื่อมติดกับตัวพะระเบียงหรือเกย ทำด้วยไม้ไผ่สาน จั่วตีไม้ทำเป็นจั่วพระอาทิตย์ มีรัศมีด้านละ 5 แฉก มีรางน้ำไม้รองรับน้ำฝนระหว่างหลังคาทั้งสองด้าน ห้องนี้เดิมไม่มีหน้าต่างเป็นห้องปิดทึบ แต่ผมจะใช้พื้นที่ตำแหน่งนี้ทำห้องครัว ผมทำจั่วพระอาทิตย์เหมือนเฮือนนางเอื้อยแต่เพิ่มรัศมีขึ้นเป็น 7 แฉก วัสดุทำฝาผมใช้ไม้ฝาของ SCG ตีตามแนวนอนสามแผ่นและใช้ไม้ไผ่อัดเป็นผนังด้านข้าง ด้านทิศใต้เจาะหน้าต่างทำบานกระทุ้ง ส่วนด้านทิศตะวันออกผมใช้หน้าต่างไม้สักเก่าที่ซื้อมือสองมาติดไว้เพื่อระบายอากาศ รางน้ำฝนผมใช้รางน้ำฝนสังกะสี หลังจากทดสอบผ่านฝนระดับพายุมาหลายครั้งยังไม่รั่วแต่อย่างใด
แบ่งห้องภายในเรือน
ผมแบ่งเรือนสามห้องออกเป็นห้องนอนสองห้อง เรือนโล่ง 1 ห้อง ใต้ไม้หน้า 3 ทำเคร่าลูกตั้งแล้วใช้ไม้เทียมสามแผ่นตีเป็นแนวนอนด้านล่าง ส่วนฝาภายในทั้งหมดผมใช้ไม้ไผ่อัด (เสื่อลำแพน) ขนาด 4 มม. ซึ่งลำแพนอัดนี้จะหนาเหมือนไม้อัด อาบน้ำยากันมอดมาแล้ว ราคาพอ ๆ กับไม้อัดครับ ผมไปได้มาจากร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างแถว อ.ปากช่อง ผมวานผู้ใหญ่บ้านที่รู้จักกันแกมีรถปิกอัพไปบรรทุกมา ซื้อมาทั้งหมด 25 แผ่น ขนาด 1.2 x 2.4 เมตร ราคาแผ่นละ 340 บาท เมื่อรวมค่าน้ำมันรถไปเอามาก็เฉลี่ยอยู่แผ่นละสี่ร้อยกว่าบาท
ห้องน้ำทำต่อยื่นออกไปตรงเรือนห้องที่ 3 ออกไปนอกตัวเรือนในลักษณะปูนเปลือย (คือไม่รู้จะทาสีอะไรดี) ผนังภายในห้องน้ำผมฉาบเรียบขัดมันเอาไว้ ส่วนผนังภายนอกฉาบเรียบธรรมดารอให้มันแห้งสนิทก็จะทาสีน้ำตาลให้มันดูเป็นไม้หน่อย (จริง ๆ แล้วรอเงิน 555)
ห้องน้ำซ่อนอยู่หลังเรือนตรงห้องทางทิศใต้
.
.
.
อ่านถึงตรงนี้ หลายท่านคงคิดว่า ผมกังวลเรื่องปลวกบ้างไหม ตอบว่าก็มีบ้างครับ แต่บ้านป้าและบ้านยายของแฟนนั้น จนป่านนี้ ยังไม่มีปลวกขึ้นบ้านเลยทั้งที่ปลูกมากว่าห้าสิบปีแล้ว ตัวเรือนเก่าทำจากไม้ตาล ซึ่งคิดว่าปลวกไม่ชอบเลยรอดมาได้ เรือนผมเองนั้นก็ไม้เต็งและไม้เนื้อแข็งแต่ด้วยความไม่ประมาท ผมจึงทาน้ำยากันปลวกกับไม้ทุกชิ้น ฝาเรือนทุกกระแบะ ลำแพนทุกแผ่น (ทั้งสองด้าน) ด้วย Wood Preservative อย่างเชลไดร้ท์ CL ซึ่งยกแกลลอนขนาด 15 ลิตรมาเลย 3 แกลลอน (คุ้มกว่าซื้อกระป๋องเล็ก ๆ) ซึ่งเป็นสีใส (แต่กลิ่นก็แรงอยู่) เมื่อแห้งแล้ว ก่อนเอาไปใช้งานก็ทาสีย้อมไม้ Wood Stain ของ TOA อีกรอบ เมื่อติดตั้งเรียบร้อยก็ทา Wood Stain ตามไปอีกหนึ่งรอบ (รวมแล้วภายในบ้าน 2 รอบ ภายนอกบ้าน 3 รอบ) ก็หวังว่า คุณปลวกจะไม่ชอบ อิอิ [ads]
ทาเชลไดร้ท์ CL ทุกแผ่น
เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น กระดานปูเรียบร้อย ลุงแกก็จ้างช่างขัดและทำสีพื้นกระดานมาอีกทีมหนึ่ง (ลุงช่างจ่ายเงินเองเช่นเคย) แกบอกว่าจะได้เนียน ๆ ตอนแรกผมตั้งใจวางตงที่ระยะ 50 cm แต่พอมาดูความหนาของไม้ที่ไสปรับแล้วยังหนา 1.6-1.8 นิ้ว ลุงแกเลยวางตงที่ 1 เมตรเลย บ้านผมก็เดินไม่ยวบครับ แข็งแรงมาก ยกเว้นตรงห้องที่ไม้กระดานที่ขาดไป ผมหาซื้อขนาดเท่าเดิมไม่ได้ที่ไปซื้อมาใหม่ 6 แผ่นนั้นหนาไม่ถึงนิ้ว ตรงห้องนั้นจึงต้องเสริมตงเพิ่มขึ้นที่ระยะ 50 cm เพื่อความแข็งแรง
กลอนหน้าต่าง
ช่างขัดกระดานจนหมดเสี้ยนแล้วลงเบเยอร์ชิลเลอร์หมดไปสองแกลลอน แล้วจึงตามด้วยเบเยอร์ Deck Stain อีก 3 รอบ (ทาวันละ 1 รอบ) ซึ่งอีเบเยอร์นี่ 1 แกลลอนมันทาได้ตก 60 ตารางเมตร (ข้างกระป๋องบอกว่าราว ๆ 70-80 ตารางเมตร) ถ้า TOA นี่ไม่ถึง แกลลอนนึงทาได้ตก 40 ตารางเมตรตามที่ข้างกระป๋องมันบอกเลย ดีที่ตอนซื้อ TOA มันลดราคา 555 หมดค่าสีไปทั้งหมดประมาณ 16,000 บาท
ตรงพะระเบียง หรือเกยนั้น ผมทำประตูบานเฟี้ยมช่องละ 6 บานติดเอาไว้ รวมแล้วสามช่อง 18 บาน (แต่เฮือนนางเอื้อยไม่มีประตู ปล่อยโล่ง) เอาไว้กันฝนสาดเข้าบ้าน สั่งทำจากช่างท้องถิ่นในราคาบานละ 700 บาท โดยใช้ไม้เก่าเป็นวัสดุ ทำมาแต่โครงแล้วเอาไม้ไผ่อัดกรุด้านใน ไม่ได้ใส่รางเฟี้ยมครับเพราะไม่ค่อยได้เปิด จะเปิดแค่ตรงช่องครัวเท่านั้น ตรงช่องโล่ง ๆ ที่ครัวทั้งสองด้าน และบานประตูเฟี้ยมตรงเกยนั้น ผมติดผ้าใบชักรอกสีน้ำตาลเพื่อป้องกันฝนและแสงแดด ก็จากรถที่เร่ขายผ้าใบนี่แหละครับ เขาขับผ่านแถวบ้านพอดี รวมแล้วค่าผ้าใบทั้งหมดหกพันบาท
ปกติถ้าฝนตกจะเอาผ้าใบลงแบบนี้
หน้าต่างดิบ ๆ ยังไม่ได้อุดขัดอะไรเลย
หลายท่านคงสงสัยว่า แล้วชานแดดกับบันไดของผม มันไม่ตากแดดตากฝนหรือ คำตอบคือ “ตากครับ” ใน 1 วัน ชานแดดและบันไดของผมจะตากแดดอยู่ราว 6-7 ชั่วโมง ประมาณบ่ายสามโมง ชานแดดจะร่มทั้งหมด สีย้อมพื้นไม้เบเยอร์ Deck Stain ที่ลงไปทั้งหมด 3 รอบนั้น เอาไม่อยู่ครับบอกเลย บ้านปลูกเสร็จมาเกือบสองเดือนแล้ว บริเวณพื้นที่โดนแดดจัดเริ่มซีดลงไปเป็นบางส่วน ไม้มีการขยายตัวบ้างแต่ตรงจุดนี้ผมไม่กังวลอะไรครับ ถ้าไม้ชานแดดมันอยู่ได้ถึง 10-15 ปี อายุขัยที่เหลืออยู่ของผมก็คงจะมีโอกาสซ่อมพื้นตรงนี้ไม่เกิน 2 ครั้งเท่านั้น (ที่เหลือใครรับเรือนนี้ต่อไปก็ซ่อมกันเองล่ะกัน อิอิ) ในระหว่างรอมันพัง ผมก็จะทยอยซื้อไม้กระดานยาว 8 ศอกเก็บไว้ปีละสองสามแผ่น ระยะเวลาสิบกว่าปีก็คงจะได้ไม้กระดานเก็บไว้ 24 แผ่นพอซ่อมชานแดดพอดี 555
ไม้กระดานที่ปูชานแดด ผมเว้นระยะห่างของร่องกระดานไว้ที่ราว 0.5 ซม. เพื่อให้น้ำฝนไหลลงใต้ถุนบ้านได้เร็วขึ้นแบบเรือนโคราชดั้งเดิม
ชานแดดตอนบ่ายสามโมง
พื้นไม้ชานแดดหลังจากผ่านฝนผ่านแดดมาสองเดือน เบเยอร์ก็เอาไม่อยู่ต้องยอมแพ้แดดเมืองไทย
ใต้ถุนบ้านเทปูนสูง 10 cm เนื่องจากตรงนี้ถ้าฝนตกหนักน้ำจะระบายไม่ทันมักจะท่วมขังเสมอ
สไตล์การตกแต่งบ้าน บอกเลยว่า เฮือนนี้ไม่ต้องแต่งอะไรเลยครับ หน้าต่างอยู่สูงจากพื้นกระดานแค่ 50 cm ฝาด้านในเป็นช่องลูกฟักโชว์ฝาด้านใน ไม่มีเตียง กิจกรรมทุกอย่างในบ้านนี้ออกแบบมานั่งกับพื้นเรือนทั้งหมดครับ เฮือนผมจึงไม่มีเตียง ไม่มีเก้าอี้ มีโต๊ะลักษณะโต๊ะญี่ปุ่นไว้นั่งทำงานเท่านั้น ระบบไฟฟ้าหลอดไฟใช้หลอด LED ขนาด 5W ยกเว้นดวงใต้ถุนบ้านจะใหญ่หน่อยคือ 12 W รวมทั้งหลังมีหลอดไฟอยู่ 13 ดวง บ้านผมเย็นสบายตลอดวัน เปิดหน้าต่างเอาไว้ก็มีลมพัดผ่านเข้ามาตลอด ผมนั่งทำงานบนบ้านได้ทั้งวันโดยไม่ต้องเปิดพัดลม หากวันใดร้อนจัด ๆ หรือลมไม่ค่อยพัดก็ลงมานอนแคร่ใต้ถุนบ้าน และบ้านผมไม่ตีฝ้าครับ
ในอนาคตข้างหน้าอีกประมาณ 4-5 ปี ผมมีโครงการจะเปลี่ยนหลังคาเมทัลชีตเป็นหลังคาแป้นมุงไม้ครับ ช่วงนี้ก็สะสมแป้นเกล็ดไปเรื่อย ๆ ตามกำลังทรัพย์ก่อนครับ
ผมนั่งทำงานตรงนี้ได้ทั้งวัน
ถ้าร้อนก็ลงมาใต้ถุน
เบ็ดเสร็จแล้ว บ้านผมใช้เวลาปรุงเฮือนราว 50 วัน งบประมาณทั้งสิ้นราว 7 แสนบาท จากแรงบันดาลใจของเฮือนนางเอื้อยและเฮือนนางสาหร่าย ผมเขียนแบบเอง (ในความควบคุมของคุณเพื่อนสถาปนิกและวิศวกร) คุมงานเอง ซื้อวัสดุเอง เหนื่อยมาก ๆ ครับ แต่ผมโชคดีที่ได้ช่างดี ลุงใช้ไม้ได้คุ้มค่ามาก โดยเฉพาะไม้กระดาน แกคำนวณทุกแผ่นว่าแผ่นนี้ต้องตัดตรงไหน เอาไปต่อตรงไหนได้ถึงจะคุ้มค่าที่สุด ตัดทิ้งน้อยมาก ส่วนที่ตัดทิ้งผมเอาไปทำม้ารองนั่ง ม้ารองตีน ม้ารองโอ่ง ชานพักเอาไว้ล้างเท้าตรงบันได ผมได้ทักษะการทำงานไม้มาบ้างนิดหน่อยจากลุง ๆ เหล่านี้ เหนื่อยแต่ก็สนุกมากครับ
เศษไม้เหลือ ๆ ผมเอามาทำของใช้ในบ้านหมด ทำเองครับ
เฮือนหลังนี้ อาจจะไม่ได้สร้างตามรูปแบบเฮือนโคราชดั้งเดิม 100% แต่ผมก็พยายามให้เฮือนคงความเป็นเฮือนโคราชไว้ให้มากที่สุด หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับคนรักบ้านไม้ครับ และอยากให้คนที่อยากได้บ้านไม้ได้ใช้เป็นแนวทางในการสร้างเรือนในฝันของตัวเอง โดยที่ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เพียงแต่เราต้องเข้าใจมันให้มากที่สุดครับ หาข้อมูลให้มาก ๆ คุณสามารถทำได้ทุกคน อีกอย่างบ้านไม้ทำให้เย็นได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศ ลองศึกษาระบบการปลูกบ้านที่บรรพบุรุษของเราคิดค้นทดลองกันมานำมาปรับใช้กับบ้านของเราให้เหมาะสมครับ ลองดูเด้อ
ขอขอบคุณเอกสารอ้างอิง ถ้าไม่มีข้อมูลด้านล่างเหล่านี้ ผมคงสร้างเฮือนหลังนี้ไม่สำเร็จครับ
บทความ สถานภาพการดำรงอยู่ของเรือนโคราชในปัจจุบัน โดย การุณย์ ศุภมิตรโยธิน และวารุณี หวัง
https://mekongjournal.kku.ac.th/Vol11/Issue01/06.pdf
พิพิธภัณฑ์เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
http://www.koratmuseum.com/bankorat.html
บทความ สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสาน โดยคุณ feng_shui
http://oknation.nationtv.tv/blog/buzz/2011/10/10/entry-2
ข้อมูลหมู่บ้านอีสาน ไร่จิมทอมป์สัน
http://www.jimthompsonfarm.com/JIMTHOMPSON_FARM/ACTIVITY_ISAN.html
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
..
.
.
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ เป็นบ้านที่สวยงามมากเลยนะครับ บ้านหลังนี้ใช้งบประมาณ 7 แสนบาท โดยเขียนแบบเอง คุมงานเอง ซื้อวัสดุเอง และเป็นไอเดียดีๆ ที่คุณ Apple Devil สมาชิกเว็บไซต์พันทิป.คอม ได้นำมาแบ่งบันให้เพื่อนได้ชมกัน และนำไปประยุกต์ใช้กับการสร้างอีกด้วยครับ
ขอขอบคุณที่มาจาก : Apple Devil สมาชิกเว็บไซต์พันทิป.คอม