แนะมาตรการควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน เน้นย้ำอนามัยส่วนบุคคลช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส
advertisement
ทุกวันนี้อาหารเป็นพิษได้ง่าย ส่วนมากจะพบกับเด็กๆในวัยโรงเรียน อาจจะเป็นเพราะ มีแมลงวันตอมอาหารที่เด็กๆกิน หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะอากาศร้อน ทำให้อาหารเป็นพิษ วันนี้ไข่เจียวมีสาระความรู้เกี่ยวกับ กาารป้องกันอาหารเป็นพิษในโรงเรียน มานำเสนอ ไปดูกันว่า เราสามารถป้องกันอาหารเป็นพิษได้ยังไงบ้าง
(ไปชมกันเลยคะ)[ads]
advertisement
กรมควบคุมโรค แนะสถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียน หลังพบผู้ป่วยไวรัสโนโรในหลายพื้นที่ ชี้เชื้อนี้ไม่ใช่เชื้อไวรัสชนิดใหม่ เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเด็กวัยเรียน เชื้อนี้ติดต่อได้ง่าย แม้มีเชื้อปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดอาการได้ และอาหารที่มักก่อให้การติดเชื้อไวรัสโนโรได้บ่อย ได้แก่ น้ำ/น้ำแข็ง ที่ปนเปื้อนเชื้อ อาหารประเภทหอย โดยโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่หากดูแลความสะอาด ใส่ใจอนามัยส่วนบุคคล กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
วันนี้ (8 ธันวาคม 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวเด็กนักเรียนจากโรงเรียนในหลายพื้นที่ ป่วยด้วยอาการท้องเสียจากไวรัสโนโร นั้น กรมควบคุมโรคขอให้ข้อมูลว่า ไวรัสโนโร (Norovirus) เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ หรืออาการท้องเสียได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเด็ก เช่น นักเรียนอนุบาล ประถม และมัธยม โดยไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่เชื้อไวรัสชนิดใหม่ เป็นเชื้อดั้งเดิมที่รู้จักกันมานานมากกว่า 40 ปี แต่เดิมไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในประเทศไทย เนื่องจากในอดีตไม่ค่อยพบการระบาดในคนหมู่มาก และการตรวจเชื้อเป็นไปด้วยความยุ่งยาก แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการวินิจฉัยที่ก้าวหน้าขึ้นจึงตรวจพบเชื้อไวรัสโนโรได้มากขึ้น
สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคอยู่หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือการปนเปื้อนสารพิษต่างๆ เป็นต้น แต่สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้งคือ จากเชื้อแบคทีเรีย รองลงมาคือ ไวรัส นอกนั้นพบได้บ้างประปราย จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม – 6 ธันวาคม 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 121,973 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ขอนแก่น บุรีรัมย์ อํานาจเจริญ อุบลราชธานี และปราจีนบุรี
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ไวรัสโนโรในประเทศไทยสามารถพบได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว จนถึงฤดูหนาว ติดต่อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หรือสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย เชื้อไวรัสนี้มีความคงทนในสิ่งแวดล้อมมาก หากผู้ป่วยเข้าห้องน้ำแล้วไม่ได้ล้างมือหรือล้างไม่สะอาด แล้วไปจับลูกบิด ประตู หรือก๊อกน้ำ เชื้อโรคก็ยังอยู่ สำหรับสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อได้คือ ฟอร์มาลีน กลูตารอลดีไฮด์ และสารประกอบจำพวกคลอรีน เป็นต้น ไวรัสโนโรนั้นมีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมง และติดต่อได้ง่าย ถึงแม้มีเชื้อปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดอาการได้ และมักมีอาการปรากฎอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักทำให้มีอาการอาเจียน ไข้ไม่สูงมาก อ่อนเพลีย ปวดท้อง และท้องเสีย โดยอาการจะปรากฏประมาณ 2-3 วัน บางรายสามารถหายได้เอง แต่ในรายอาจมีอาการขาดน้ำ ต้องให้น้ำเกลือหรือนอนโรงพยาบาล
ทั้งนี้ สาเหตุของอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากการที่คนจำนวนมากรับประทานอาหารร่วมกัน เช่น ในโรงเรียน หรือสถานเลี้ยงเด็ก จึงขอแนะนำมาตรการป้องกันควบคุมโรคอาหารเป็นพิษ เพื่อเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดในโรงเรียน ดังนี้ 1.จัดระบบโรงอาหารในโรงเรียน ให้ผู้ประกอบการดำเนินตามมาตรฐานการสุขาภิบาลอาหาร 2.มีการตรวจรับนมที่มีคุณภาพและตรวจสอบความปลอดภัยของนมก่อน และเก็บรักษาอย่างถูกวิธี 3.อาหารบริจาค อาหารที่มาในรูปแบบของอาหารกระป๋องหรืออาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว ควรตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะนำไปรับประทาน 4.อาหารในกรณีนักเรียนเข้าค่ายหรือทัศนศึกษา ควรเลือกจากร้านอาหารที่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐาน อาหารที่ใส่กล่องไม่ควรราดบนข้าวโดยตรง ควรแยกบรรจุกับข้าวในถุงพลาสติกต่างหาก และ 5.การดูแลรักษาเบื้องต้น ประสานส่งต่อ และการสื่อสารความเสี่ยงเมื่อพบนักเรียนป่วยหรือเกิดเหตุการณ์ระบาดในโรงเรียน โดยกรมควบคุมโรคได้ดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้ความรู้แก่ครูในโรงเรียนเกี่ยวกับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
“อาหารที่มักก่อให้การติดเชื้อไวรัสโนโรได้บ่อย ได้แก่ น้ำ/น้ำแข็ง ที่ปนเปื้อนเชื้อ และอาหารประเภทหอย โดยผู้ที่ติดเชื้อแล้วจะแพร่เชื้อต่อไป ได้อีกประมาณสามวัน ด้านการดูแลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน โดยโรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่การดูแลความสะอาด ใส่ใจอนามัยส่วนบุคคล กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อนี้ได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวปิดท้าย
advertisement
advertisement
หวังว่าคงจะมีประโยชน์กับใครหลายๆคน ขอให้นำไปใช้เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆในโรงเรียนนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค เรียบเรียงโดย : kaijeaw.com