แพทย์ชี้ ‘มะเร็งต่อมน้ำเหลือง’ พบได้ในทุกวัย ชายมากกว่าผู้หญิง
advertisement
อธิบดีกรมการแพทย์เผยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยทั่วโลก มักเกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย แนะหมั่นสังเกตตนเองหากคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีดาราเด็กป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย พบได้ในทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จัดเป็นโรคมะเร็งของระบบโลหิตวิทยา หรือระบบโรคเลือด มักเกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง เป็นต้น
advertisement
นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย โรคนี้จะมีอาการในระยะแรกๆ คือ มีต่อมน้ำเหลืองตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโต มักพบที่ลำคอ คลำได้ ไม่รู้สึกเจ็บ แต่เมื่อโรคลุกลาม อาจมีอาการอ่อนเพลีย ซีด หรือ เมื่อเกิดกับอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่ใช่ต่อมน้ำเหลืองจะมีอาการเหมือนอวัยวะนั้นๆ อักเสบ เช่น เมื่อเกิดกับสมองอาจปวดศีรษะ อาเจียน แขน/ขาอ่อนแรง หรือ ปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเรื้อรัง เมื่อเกิดกับกระเพาะอาหาร [ads]
advertisement
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้เรื้อรัง โดยไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ อาจมีไข้สูงเป็นๆ หายๆเหงื่อออกชุ่มตัวในตอนกลางคืน และน้ำหนักลดลงจากเดิมประมาณ 10% ใน 6 เดือน สำหรับวิธีรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองแพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็งและระยะของโรค ซึ่งอาจใช้วิธีการรักษาเพียงวิธีเดียวหรือใช้แบบผสมผสาน ทั้งนี้ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นโรคที่เซลล์มะเร็งตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ดังนั้น เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งอื่นๆ จึงมีความรุนแรงค่อนข้างต่ำ และมีโอกาสรักษาหายขาดได้ [ads]
advertisement
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า การดูแลตนเองเมื่อเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพิ่มโภชนาการทางด้านอาหาร อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยควรเป็นอาหารที่สุก สะอาด ย่อยง่าย ง่ายต่อการเคี้ยวกลืน และมีเส้นใยสูง ผักสดต้องล้างให้สะอาด ส่วนผลไม้ควรเลือกรับประทานชนิดต้องปอกเปลือกเพื่อป้องกันสารตกค้าง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรแก่สุขภาพของผู้ป่วย รักษาความสะอาดในช่องปาก ส่วนผิวหนังควรอาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาด ที่สำคัญ คือ บุคคลในครอบครัวและเพื่อน ๆ ควรหมั่นให้กำลังใจผู้ป่วยเพื่อเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองซึ่งพบโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีอาการได้ ดังนั้น การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ การสังเกตตนเอง หากคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
ขอขอบคุณที่มาจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข